14 พฤษภาคม 2565
1,649

เตือน! ยาอัลปราโซแลม หรือยาเสียสาว ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ใช้ผิดเสี่ยงเสียชีวิต

เตือน! ยาอัลปราโซแลม หรือยาเสียสาว ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง ใช้ผิดเสี่ยงเสียชีวิต
Highlight

จากกระแสข่าวดังที่ปรากฏชื่อยา ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือยาเสียสาว ซึ่งกลายเป็นที่สนใจอีกครั้งว่า ยานี้มีคุณสมบัติและออกฤทธิ์อย่างไร และทำไมจึงเรียกว่ายาเสียสาว โดยกรมการแพทย์ได้ให้ความรู้กับประชาชนว่า ยาดังกล่าวหากกินเข้าไปจะมีอาการง่วงซึม มึนงง สูญเสียการทรงตัวและสูญเสียความทรงจำ บางครั้งถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงมักจะถูกคนบางกลุ่มนำไปใช้เพื่อหวังผลในการล่วงละเมิดทางเพศ หรือเพื่อก่ออาชญากรรมอื่นได้ โดยดังนี้ควรใช้ตามแพทย์สั่ง


กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนผู้ใช้ อัลปราโซแลม (Alprazolam) ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น การนำไปใช้ในทางที่ผิด มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพอาจถึงขั้นเสียชีวิตและมีความผิดตามกฎหมาย 

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือชื่อทางการค้า เช่น โซแลม (Zolam) หรือ ซาแน็ก (Xanax) เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazepine) 

เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งไม่อนุญาตให้จำหน่ายได้ในร้านขายยาทั่วไป ต้องได้รับการจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น 

เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาทส่วนกลางในสมอง ในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการในกลุ่มโรควิตกกังวล และตื่นตระหนก รวมไปถึงภาวะนอนไม่หลับ คลายกล้ามเนื้อ ภาวะซึมเศร้า 

ในปัจจุบันพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมาย การผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่  100,000-400,000 บาท 

สำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ "ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์" ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นสารประกอบที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า เมื่อนำไปผสมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ที่ดื่มมีอาการง่วงซึม มึนงง สูญเสียการทรงตัวและสูญเสียความทรงจำ  จึงมักจะถูกบางกลุ่มนำไปใช้เพื่อหวังผลในการล่วงละเมิดทางเพศ หรือเพื่อก่ออาชญากรรมอื่น 

ทั้งนี้หากมีการใช้ “ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ หรือใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้เสริมฤทธิ์การกดระบบประสาท กดการหายใจ และอาจเสียชีวิตได้ 

การใช้ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการดื้อยาและติดยาได้

หากมีการหยุดใช้ยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจชักได้ ย้ำเตือนกลุ่มผู้ใช้ยานี้เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยต้องใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น 

ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th 

หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี

กลุ่มยาเสียสาวมีอะไรบ้าง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารยาและยา (อย.) ให้ความหมาย "ยาเสียสาว" ในที่นี้ คือ สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด โดยผู้ประสงค์ร้ายแอบลักลอบใช้กับเหยื่อ หวังก่ออาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเพื่อรูดทรัพย์ หรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยมักใช้สารเคมี ดังต่อไปนี้

  • ยามิดาโซแลม (Midazolam) หรือชื่อการค้า โดมิคุม (Dormicum)
  • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาฟลูไนตราซีแปม (Flunitrazepam) หรือชื่อการค้า โรฮิบนอล (Rohypnol)
  • สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate)
  • ยาเค หรือ เคตามีน (ketamine)

คุณสมบัติที่ทำให้ยาเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

1. ผลของยาที่ทำให้เกิดอาการมึนงง ง่วงซึม ไม่มีสติ หรือสลบไปได้ รวมถึงยาบางตัวมีฤทธิ์คลายกังวล หรือทำให้รู้สึกเคลิ้มสุขคล้ายการดื่มแอลกอฮอล์

2. ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว ไม่เกิน 30 นาที หลังจากรับประทานยา

3. สามารถละลายได้ดีในน้ำ ทำให้มีการนำยาเหล่านี้ไปละลายในเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้คนดื่มไปโดยที่ไม่รู้ว่ามีการผสมยาลงไป ซึ่งหากใส่ไปในเครื่องดื่มพวกแอลกอฮอล์จะยิ่งเพิ่มการออกฤทธิ์ของยาเหล่านี้

4. มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ จึงอาจทำให้เหยื่อไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

สังเกต ป้องกันตัวเองอย่างไร

ยาเหล่านี้อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตหากใช้เกินขนาด เนื่องจากมีฤทธิ์การกดการหายใจ จนเกิดอาการโคม่าเสียชีวิตได้ ดังนั้น เราควรระมัดระวังตัว และเรียนรู้วิธีการที่จะป้องกันตนเอง ไม่ดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารจากคนแปลกหน้า โดยเฉพาะหากอยู่ในสถานที่ไม่น่าไว้วางใจ โดยมีอาการเตือนที่บ่งบอกว่าอาจได้รับสารเหล่านี้

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มึนงง
  • เดินเซ
  • หายใจลำบาก
  • มีอาการคล้ายเมาสุรา แม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มไปเพียงเล็กน้อย

คำเตือนจากการใช้ยา

  • อาจทำให้ง่วงซึมไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือ ในที่สูง
  • ห้ามดื่มสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่
  • อาจเกิดผลตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่ให้ (paradoxical reaction)
  • อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้
  • สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร โรคต้อหิน โรคไมแอส ตีเนียแกรวีส (myasthenia gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากแพทย์สั่ง
  • หากใช้ร่วมกับยาอื่น เช่นยากดหรือกระตุ้นประสาท ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน รวมทั้ง cimetidine ควรปรึกษาแพทย์
  • หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือมีไข้ ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สารเหล่านี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่มีการควบคุมการซื้อขาย แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบนำมาขายผิดกฎหมายโดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต หากพบเห็นมาช่วยกันแจ้งเบาะแสกับทาง อย. ได้ที่สายด่วน อย. 1556

อ้างอิง :  กรมการแพทย์,  สำนักงานคณะกรรมการอาหารยาและยา (อย.)

ติดต่อโฆษณา!