09 พฤษภาคม 2565
1,563

สะพรึง! โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย โจมตีปอดรุนแรงเท่าเดลต้า ล่าสุดพบในไทย 3 ราย เป็นต่างชาติ

สะพรึง! โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย โจมตีปอดรุนแรงเท่าเดลต้า ล่าสุดพบในไทย 3 ราย เป็นต่างชาติ
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขรายงาน โควิดโอมิครอน ครองพื้นที่ประเทศไทย 100% แล้วในขณะนี้และกำลังลดลงเรื่อยๆ การเตือนภัยความเสี่ยงลดลงจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 นับเป็นข่าวดี ในขณะที่พบต่างชาติเดินทางเข้าประเทศพบสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวล 3 ราย โดยเป็นเชื้อ BA.5 จำนวน 1 ราย และ BA.2.12 จำนวน 2 ราย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด


ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Center for Medical” ระบุว่ามีแนวโน้มที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม  

ทั้งนี้ WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัพเดทล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม 

การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง “452” อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” มีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility)  อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์(ปอด)จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ระบาดในอดีต

จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452” จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)”  เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)”   หรือ "กลูตามีน (Q)” ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงถูกจับและทำลายด้วยแอนติบอดีที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน  

20220509-a-01.jpg

บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว(infected multinucleated syncytial pneumocytes)  จะเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น  เกิดการอักเสบลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้

สายพันธุ์ “เดลต้า” มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น “R452”ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) อันเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)

ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1,  BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์ กรดอะมิโนยังคงเป็น “L452”  (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ

20220509-a-02.jpg

แต่ที่น่ากังวลคือทั้งไวรัส “BA.4” และ “BA.5” ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 ส่วนไวรัส BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น “Q452” กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ “เดลตา” คือสามารถก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)

ดังนั้นมีแนวโน้มที่โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่ง WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาใน 2-4 สัปดาห์จากนี้

โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม

20220509-a-03.jpg

สธ.เฝ้าระวังโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ หลังพบในไทยจากต่างชาติ 3 ราย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  จากการจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 30 เม.ย.-6 พ.ค. 65 พบว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% โดยสัดส่วนสายพันธุ์ย่อยของ BA.2 อยู่ที่ 97.6%

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในเดือนเม.ย. 65 มีสายพันธุ์ที่กำลังเฝ้าจับตา คือ สายพันธุ์ย่อยใหม่ของโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีการระบาดในบอตสวานา แอฟริกาใต้ เยอรมัน เดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่นๆ หลังจากพบสายพันธุ์ย่อย B.4 และ BA. 5 ครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนม.ค. และก.พ. 65 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังจับตาสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2.12.1 ซึ่งพบครั้งแรกในสหรัฐฯ เดือนก.พ. 65 ซึ่งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีรายงานพบ BA.2.12.1 เช่น แคนาดา และอินเดีย ยังพบในสัดส่วนน้อย

ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) ในประเทศไทย เบื้องต้นพบ BA.5 จำนวน 1 ราย สัญชาติบราซิล และ BA.2.12 จำนวน 2 ราย สัญชาติอินเดีย และแคนาดา ส่วน BA.2.12.1 และ BA.4 ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในส่วนของ BA.4 พบข้อมูลว่า มีบางส่วนคล้าย BA.1 และ BA.2 หรือมีการกลายพันธุ์ของสไปค์โปรตีน ซึ่งเหมือนกับที่เคยเกิดในเดลตา อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะระบุว่าจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดรวดเร็ว หรือมีความรุนแรงเท่าเดลตาหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ในผู้ที่เคยติดเชื้อ BA.1 พบว่า ภูมิคุ้มกันไม่สามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากพอ แต่ในผู้ติดเชื้อที่เคยฉีดวัคซีน ภูมิยังสามารถป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสายพันธุ์ที่เป็น Hybrid (X…) ทาง GISAID ยังไม่กำหนดว่าตัวอย่างจากประเทศไทย เข้าได้กับ X ใดๆ ดังนั้น สรุปได้ว่าสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก่อนหน้านี้ เช่น XJ ถือว่าเป็นโมฆะ หรือไทยยังไม่มีไฮบริด (Hybrid)

“กรมวิทย์ฯ จะทำการตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์แบบ SNP/Deletion ในทุกศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อดูสถานการณ์ทั้ง BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ต่อไป และทำการตรวจ WGS ทุกสายพันธุ์ในทุกสัปดาห์ ส่วนสายพันธุ์ย่อยทั้งหมดยังไม่มีข้อมูลมากพอ ยังต้องติดตามดูในเรื่อง ความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง และการหลบหลีกภูมิต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในระบบของไทย และไม่วิตกกังวลไปก่อน หากยังไม่ได้รับข้อมูลที่แน่ชัด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง โดยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากระยะ Plateau (23 จังหวัด) เข้าสู่ระยะ Declining (54 จังหวัด) ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic หรือโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคติดต่อทั่วไป/โรคประจำถิ่น

หลังสงกรานต์แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหนักเริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับ 2 เข็มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ดังนั้น ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และสตรีมีครรภ์) ต่อเนื่อง

รวมไปถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี เน้นย้ำกลุ่ม 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้เสี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก รวมทั้งหากไม่จำเป็น ให้เลี่ยงการเดินทางทั้งภายในและต่างประเทศ และเลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะด้วย

“การลดระดับเป็นระดับ 3 เป็นการเตือนภัยของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แต่อย่างใด” นพ.โอภาส กล่าว

ขณะเดียวกัน ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในมิติต้านเศรษฐกิจและสังคม เร่งบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมตามมาตรการ

“การเข้าสู่โรคประจำถิ่นมีแนวโน้มเร็วกว่าที่คาดไว้ล่วงหน้า จากความร่วมมือของประชาชนทุกคน ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดสามารถเข้มมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมให้ไทยเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้”นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตาม “2U” คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยเน้นกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ คือ “พอ” ทั้งเตียงสีเหลือง-แดง, ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีเพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐานทั้งแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับในช่วงการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ กรมควบคุมโรค จะใช้วิธีการและหลักการเดียวกันกับการจัดการควบคุมโรคโควิดของการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัย คือ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนัก และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี จะมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในรายละเอียดต่อไป

อ้างอิง : 
https://www.nature.com/articles/s41392-022-00941-z
https://www.forbes.com/sites/williamhaseltine/2022/01/26/birth-of-the-omicron-family-ba1-ba2-ba3-each-as-different-as-alpha-is-from-delta/?sh=f1aa74e3da9d
Center for Medical Genomics
RYT9

ติดต่อโฆษณา!