25 เมษายน 2565
1,356

WHO ยกไทยเป็นต้นแบบประเทศที่ 3 ด้านความพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

WHO ยกไทยเป็นต้นแบบประเทศที่ 3 ด้านความพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
Highlight

แม้ด้านเศรษฐกิจและสังคมไทย ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่มาตรฐานด้านสาธารณสุขนั้นเป็นที่ยอมรับว่า เราอยู่ในระดับโลกมานาน เมื่อเกิดเหตุวิกฤตกรณีฉุกเฉิน “หมอไทย”ก็โชว์ศักยภาพในการป้องกันและรักษาการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างดีเยี่ยม แม้กระทั่งสถานการณ์ล่าสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในที่สุดก็สามารถควบคุมการระบาดไม่ให้เลยเถิดไปไกลตามที่คาดไว้ โมเดลสาธารณสุขไทยจึงเป็นที่สนใจทั่วโลก


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดผยว่า ได้ร่วมทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (นำร่อง) หรือ Universal Health and Preparedness Review (UHPR) Pilot โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมงาน

นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 5 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย ที่มีความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมากที่สุด

ทั้งนี้ เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-government and whole society response) ได้แก่ เครือข่ายภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หน่วยงานด้านสาธารณสุข ภาคเอกชน และภาคธุรกิจอื่นๆ ผ่าน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย ในการขับเคลื่อนกฎหมายการดำเนินงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านช่วงวิกฤติมาได้

ดังนั้น นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก จึงเชิญให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบประเทศที่ 3 นำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก และไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก และเกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ รองรับวิกฤติด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการทบทวนอย่างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข และด้านอื่นๆ ซึ่งต้องใช้การตอบโต้จากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การฝึกซ้อมสถานการณ์สมมติ (Simulation Exercise) การสัมภาษณ์และประชุมกลุ่มย่อย, การพบผู้บริหารหน่วยงานระดับประเทศ และการตรวจเยี่ยมหน่วยงานระดับปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน และความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมา

ด้าน ดร.สมิลา อัสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า กิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เป็นวิธีใหม่ในการทำงานร่วมกันของประเทศต่างๆ เพื่อปรับปรุงการรับมือเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ร่วมกิจกรรมนี้ ซึ่งในระหว่างภารกิจ 7 วันนี้ หวังว่าจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทย ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายด้านสาธารณสุขที่น่าประทับใจ

ด้าน นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr. Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลไทยแสดงความเป็นผู้นำ โดยการนำร่องการทบทวนการเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือแบบใหม่ เพื่อทำให้ประชาชนทั่วโลกปลอดภัยจากวิกฤตสาธารณสุข ทั้งนี้ เชื่อว่าประสบการณ์ที่เข้มข้นของประเทศไทย ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และการรับมือต่อโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่า สำหรับประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน

ไทยติดอันดับ 5 ของโลกและอันดับหนึ่งของเอเชีย ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ไทยติดอันดับ 5 ของโลก ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ Global Health Security Index : GHS ปี2021

ไทยติดอันดับ 5 ของโลก ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ Global Health Security Index : GHS ปี2021 จาก 195 ประเทศ ขณะ อย. ย้ำ หน้ากากอนามัยที่ขึ้นทะเบียนจาก อย. มีคุณภาพ

วันนี้ 10 ธ.ค. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (Global Health Security Index : GHS) อันดับที่ 5 ของโลก จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นอันดับที่ 1 ของเอเซีย จากการประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดต่อปี 2021 โดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ( Johns Hopkins Center for Health Security) สหรัฐอเมริกา มีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก อาทิ สถาบัน Nuclear Threat Initiative (NTI) ร่วมด้วย การประเมินประกอบด้วย 37 ตัวชี้วัด ครอบคลุมประเด็น อาทิ การป้องกันการแพร่ระบาด การตรวจหาเชื้อและติดตามดูแลผู้ป่วย การรับมือต่อการแพร่ระบาด ระบบสาธารณสุข การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล การจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม เป็นต้น 

โดยประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรก คือ 1. สหรัฐอเมริกา 2.ออสเตรเลีย 3.ฟินแลนด์ 4. แคนาดา 5. ไทย 6. สโลวาเนีย 7. สหราชอาณาจักร 8. เยอรมนี 9. เกาหลีใต้ และ 10. สวีเดน

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ฝากขอบคุณ บุคลากรด่านหน้า ภาคส่วนต่างๆ และคนไทยที่ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมในเรื่องการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ทั้งนี้ ในปี 2019 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสาธารณสุขและการจัดการกับการแพร่ของโรคระบาดที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับระดับสากล และเป็นอันดับต้นๆของโลก ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์โควิด – 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง แต่นายกรัฐมนตรียังเน้นการเฝ้าระวังโดยตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศทุกราย สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อในลักษณะ Cluster รวมทั้งส่งตัวอย่างผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัย เพื่อตรวจหาสายพันธุ์ Omicron ทันทีด้วย

อ้างอิง : www.gov.co.th , infoquest

ติดต่อโฆษณา!