21 เมษายน 2565
1,781

“หมอยง” เผย 10 ข้อสังเกตเชื้อตัวร้ายโควิด-19 ก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น ชี้ไม่มีทางหนี ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป

“หมอยง” เผย 10 ข้อสังเกตเชื้อตัวร้ายโควิด-19 ก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น ชี้ไม่มีทางหนี ต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป
Highlight

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊ก ให้ความรู้ประชาชนในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ก่อนที่จะถูกประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อาจกำจัดเชื้อโรคนี้ไปจากโลกได้ และสิ่งหนึ่งที่จำเป็นนั่นคือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้าน ศบค.เตรียมผ่อนคลายต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 สถานะปัจจุบันก่อนเข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือโรคประจำฤดูกาล” เมื่อ 21 เมษายน 2565 โดยระบุว่า 10 ข้อที่พึงตระหนักก่อน Covid-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น

1. เราไม่สามารถที่จะกำจัดไวรัส Covid-19 ให้หมดไปจากโลกใบนี้ของเราได้ เราจะต้องอยู่กับไวรัสนี้ตลอดไป

2. การระบาดของโรคในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการติดต่อง่ายขึ้น และความรุนแรงของโรคลดลง จากการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์มาโดยตลอด

3. ระยะฟักตัวของโรคสั้น 2 ถึง 5 วัน แนวโน้มในการกักตัวสั้นลง เป็น 7 + 3 หมายถึงกักตัวแค่ 7 วัน และอีก 3 วันใช้วิธีการดูแลป้องกันการแพร่กระจายโรค

4. ไม่มีการหา time line เพราะโรคกระจายอยู่ทั่วไป จึงเป็นการยากที่จะบอก

5. การระบาดเกิดกลุ่มในครอบครัวได้ง่าย จึงทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก เมื่อติดเชื้อแล้วก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน ในอนาคตการระบาดในโรงเรียน สถานที่มีคนหมู่มากเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ที่เราได้พบเห็น

6. ความรุนแรงของโรค จะพบในกลุ่มเปราะบาง อายุมาก มีโรคประจำตัว

7. การสร้างภูมิต้านทาน ด้วยวัคซีนมีความจำเป็น ลดความรุนแรงของโรค จำเป็นที่จะต้องมีเข็มกระตุ้น

8. ยาต้านไวรัส จะมีการพัฒนาออกมา และจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น เพื่อใช้กับกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรง

9. การศึกษาวิจัยให้ได้องค์ความรู้ มาใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรค ป้องกัน รักษามีความจำเป็น

10. มาตรการในการป้องกันโรค สุขอนามัย ล้างมือ หน้ากากอนามัย กำหนดระยะห่าง ยังมีความจำเป็น จนกว่า โรคนี้จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือประจำฤดูกาลเช่นโรคทางเดินหายใจทั่วไป การใช้ต่อไปก็มีประโยชน์ต่อโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น หรือตามฤดูกาล ก็ยังคงต้องติดตามความรุนแรงของโรค การเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ ของโรคให้อยู่ในสภาวะควบคุมได้

สธ.หารือ ศบค.พรุ่งนี้ คลายล็อกมาตรการโควิด-19

ในวันนี้ (21 เม.ย. 65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง การเสนอผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศต่อ ศบค. วันที่ 22 เม.ย.นี้ จะเป็นการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบหรือไม่ ว่า สธ.ในฐานะผู้นำเสนอการใช้มาตรการต่างๆ เบื้องต้นตัวเลขการติดเชื้อได้พิสูจน์แล้วว่า จำนวนการติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ มีน้อยมากเทียบกับการติดเชื้อในประเทศ วันละ 2 หมื่นราย ไม่รวมการตรวจ ATK 

ขณะที่ผู้เข้าประเทศได้ทำการตรวจ RT-PCR พบวันละประมาณไม่เกิน 100 คน บางคนเป็นคนไทย ซึ่งไม่อาจห้ามเขาเดินทางเข้ามาไม่ได้ ดังนั้น อัตราการติดเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศนั้นน่าจะรับมือได้

“เราต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป จะเห็นว่า พอเราผ่อนมาตรการ เช่น เหลือตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องกักตัวแบบสมัยก่อน ก็มีคนเข้ามาท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจมากมาย เราก็ต้องทำให้เกิด ซึ่งไม่ได้ทำอะไรสวนทางกับทั่วโลก อาจจะเดินตามเขาด้วยซ้ำในความเข้มงวดการตรวจคัดกรองเชื้อ”นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่าถ้าอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้ ไม่ให้เกิดป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากขึ้นจนระบบรับไม่ไหว ก็มีความตั้งใจที่จะเปิดให้กว้างขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนสามารถสร้างรายได้ มีงานทำ มีกิจวัตรเป็นปกติได้ เป็นสิ่งที่ สธ.ตั้งใจทำมาตลอด

ทุกอย่างทำตามขั้นตอนโดยที่ สธ.ได้หารือร่วมกับ ศบค.กระทรวงมหาดไทย คมนาคม ต่างประเทศ สถาบันการแพทย์ต่างๆ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี โดยที่ สธ.มีหน้าที่รับปิดชอบในการป้องกัน ดูแลรักษาทางการแพทย์ มีการปรึกษาหารือกันและทำงานเป็นทีม นายอนุทินกล่าว

สำหรับความเสี่ยงอาจจะมีมากขึ้นหรือไม่เมื่อผ่อนคลายกฎระเบียบการเข้าประเทศ  นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างมีปัจจัยเสี่ยง อยู่ที่บริหารปัจจัยเสี่ยงอย่างไร อย่างออกจากบ้านไม่เสี่ยงโควิดก็เสี่ยงอุบัติเหตุ ทุกคนมีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว อยู่ที่ประเมินเสี่ยงและระมัดระวังอย่างไร

“หลักเดียวกันกรณีโควิดก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน ถ้าไม่ให้เสี่ยงก็ล็อกดาวน์ แต่ประชาชนเราไม่ไหว ซึ่งที่ผ่านมาเราประเมินและบริหารความเสี่ยง ทำมาตลอดรวมถึงโรคอื่นด้วย ซึ่งโรคเกิดมา 2-3 ปี ไม่ได้เลวร้ายมากขึ้น ก็หาวิธีอยู่ร่วมกันและทำลายมัน” นายอนุทินกล่าว

ติดต่อโฆษณา!