09 เมษายน 2565
1,528

งานวิจัยออกซ์ฟอร์ดชี้ ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ “สมองเล็กลง”

งานวิจัยออกซ์ฟอร์ดชี้ ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ “สมองเล็กลง”
Highlight

COVID-19 ไม่ใช่โรคธรรมดา เมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีผลข้างเคียงมากมาย ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ผู้ป่วยบางราย มีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น สับสน โรคหลอดเลือดสมอง สมาธิสั้น ปวดศีรษะ ประสาทสัมผัสผิดปกติ ซึมเศร้า และแม้กระทั่งเกิดภาวะทางจิต ล่าสุดผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ระบุทำให้สมองเล็กลง ในอนาคตเรายังไม่รู้แน่ชัดว่าจะมีผลข้างเคียงร้ายแรงกว่านี้หรือไ่ม่


“โควิด-19” เป็นโรคเจ้าปัญหา ที่นอกจากจะทำให้ป่วยจนอาจถึงแก่ชีวิตแล้ว ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่ยิบย่อยไปหมด และแม้จะหายป่วยแล้ว ก็ยังอาจเกิดภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้อีกต่างหาก

แต่โรคเจ้าปัญหานี้ นอกจากจะมีผลกับระบบทางเดินหายใจแล้ว โควิด-19 ยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมองได้ด้วย

ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น สับสน โรคหลอดเลือดสมอง สมาธิสั้น ปวดศีรษะ ประสาทสัมผัสผิดปกติ ซึมเศร้า และแม้กระทั่งเกิดภาวะทางจิต

ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ทำการศึกษาแบบโดยเปรียบเทียบผลการสแกนสมองของคนอายุ 51-81 ปีจำนวน 785 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ 401 คน และอีก 384 คนไม่เคยติดเชื้อโควิด-19

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อแล้ว กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีการหดตัวของสมองโดยรวมมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบการการหดตัวของสมองส่วนเนื้อสีเทา (Gray Matter) พบความเสียหายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เชื่อมโยงกับกลิ่นและสมรรถภาพของจิตใจ ซึ่งพบเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรก

ผลการสแกนเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมองหลังติดเชื้อโควิด-19 ที่นักวิทย์พบ ได้แก่

1. ความหนาของสมองส่วนสีเทาลดลง มีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในคอร์เทกซ์ออร์บิโทฟรอนทัลและไจรัสพาราฮิปโปแคมปัล โดยคอร์เทกซ์ออร์บิโตฟรอนทัลเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ควบคุมอารมณ์ ความผันผวนของอารมณ์ ความรู้สึกเศร้า มันยังเกี่ยวข้องกับการทำงานทางปัญญาและการตัดสินใจ ไจรัสพาราฮิปโปแคมปัลมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ของเราตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการดึงความจำและการรับรู้และการประมวลผล

2. ความเสียหายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เชื่อมต่อกับเยื่อหุ้มสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับกลิ่น ส่งผลให้รับกลิ่นไม่ได้หรือรับกลิ่นได้แย่ลง

3. ขนาดสมองโดยภาพรวมลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับผลการสแกนก่อนติดเชื้อโควิด-19

นักวิจัยกล่าวว่าแม้ว่าผลกระทบจะเด่นชัดมากกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดโควิด-19 แต่ก็พบว่า ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่นกัน

ศ.กเวนาเอลล์ ดูโอด หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ในกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ แม้จะมีผู้ที่ติดเชื้อไม่รุนแรงมากถึง 96% แต่เราก็พบว่า กลุ่มนี้มีการสูญเสียปริมาณสมองเนื้อสีเทา มีความเสียหายของเนื้อเยื่อ และมีอาการเรื้อรังโดยเฉลี่ย 4.5 เดือนหลังการติดเชื้อ ... พวกเขายังมีสมรรถภาพของจิตใจลดลงในการทำงานที่ซับซ้อนและการเสื่อมสภาพของจิตใจนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองเหล่านี้”

นักวิจัยระบุว่า การหดตัวของสมองปกติไม่ใช่เรื่องแปลก สมองของเราจะหดตัวอยู่แล้วเมื่อเราอายุมากขึ้น คนเราจะสูญเสียสมองส่วนส่วนสีเทาทุกปี โดยเฉลี่ยระหว่าง 0.2-0.3% ต่อปี

แต่ผลการศึกษาใหม่นี้พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้สูญเสียสมองส่วนสีเทาระหว่าง 0.2-2% เท่ากับว่า การติดโควิด-19 อาจทำให้สมองของเราเล็กลงในไม่กี่เดือน จากที่ต้องใช้เวลา 1-10 ปีตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงจะสรุปออกมาเป็นภาพรวมได้ และต้องดูว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่

ทั้งนี้ การศึกษาได้ดำเนินการในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร จึงยังไม่ทราบผลของโควิด-19 สายพันธุ์อื่นต่อสมองในรูปแบบนี้ และยังไม่ทราบด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันหรือรักษาการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองได้หรือไม่

ก่อนหน้าพบผู้ป่วย "COVID-19" สามารถมีอาการทางระบบประสาทได้ โควิด-19 สามารถทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ ในร่างกาย รวมถึงก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทโดยตรง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อาการทางระบบประสาทที่พบในผู้ป่วย มีทั้งอาการไม่รุนแรงหรืออาจมีอาการร้ายแรงจนถึงขั้นภาวะสมองอักเสบ 

ขณะที่งานวิจัยที่ทำในนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36% ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System) 

โดยคาดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทได้โดยตรงและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้เกิดการอักเสบขึ้น แล้วทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา

จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า อาการทางระบบประสาทในผู้ป่วย COVID-19 มีได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การรับรสหรือรับกลิ่นลดลง อาการปวดเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ จนถึงอาการรุนแรง เช่น การรับรู้สติสัมปชัญญะที่ลดลง อาการชัก หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง

 นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain Barre Syndrome) และโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดในผู้ป่วยอายุน้อย (Acute ischemic stroke in young adults)

อย่างไรก็ตาม ในโรคทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมายแอสทีเนียกราวิส (Myasthenia Gravis), โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP) ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันในการควบคุมโรค 

ซึ่งจากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน พบว่ายากลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19  มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ทานยาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนการปรึกษาแพทย์ที่จ่ายยา ในกลุ่มคนไข้โรคหลอดเลือดสมองหรือสมองเสื่อม การดูแลผู้ป่วยไม่ได้ต่างกับคนทั่วไป เพียงแต่ว่าต้องเฝ้าระวังเรื่องคนที่คอยดูแลใกล้ชิด 

เนื่องจากผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ส่วนมากมักจะมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หรืออาจมีนักกายภาพบำบัดมาฝึกกายภาพให้ผู้ป่วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อต่อคนไข้ได้ จึงแนะนำว่าหากคนดังกล่าวมาดูแลคนไข้ที่บ้าน ต้องให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือสม่ำเสมอ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องออกไปข้างนอกสามารถทำได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการและการปฏิบัติตัวเหมือนคนปกติทั่วไป คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เอามือขยี้ตาหรือสัมผัสใบหน้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส

หากมีอาการหรือข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทเพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการต่อไป

อ้างอิง :  PPTV, รพ.กรุงเทพ

ติดต่อโฆษณา!