19 มีนาคม 2565
1,660

องค์การอนามัยโลก ยืนยันพบโควิดสายพันธุ์ "เดลตาครอน" ระบาดในหลายประเทศ

องค์การอนามัยโลก ยืนยันพบโควิดสายพันธุ์ "เดลตาครอน" ระบาดในหลายประเทศ
Highlight

องค์การอนามัยโลก ยืนยันพบโควิดสายพันธุ์ "เดลตาครอน" ระบาดในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก บราซิล สหรัฐ เดลตาครอนเป็นลูกผสมระหว่างไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์โอมิครอน และยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าไวรัสชนิดนี้มีความรุนแรงหรือคุณสมบัติที่โดดเด่นจนต้องจับตามอง และคาดว่าวัคซีนที่มีอยู่สามารถป้องกันได้


องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “เดลตาครอน” ในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก บราซิล สหรัฐ โดยเดลตาครอนเป็นลูกผสมระหว่างไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์โอมิครอน

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลโควิดโลก GISAID ยังระบุด้วยว่า “มีหลักฐานที่เชื่อถือได้” ซึ่งบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสเดลตาครอนเกิดขึ้นจริง โดยเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ลีออนดิโอส คอสทริคิส หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลแห่งมหาวิทยาลัยไซปรัส เป็นผู้ค้นพบไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวเป็นคนแรก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา แพทย์หญิงมาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าแผนกโรคโควิด-19 ของ WHO ระบุว่า ทางองค์กรยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านการระบาดวิทยาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสลูกผสมนี้ แต่มีการศึกษาหลายชิ้นที่กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำการค้นคว้าเพิ่มเติม

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น สำนักข่าวซินหัวรายงานในวันนี้ (16 มี.ค.) ว่า บราซิลพบผู้ติดเชื้อเดลตาครอน 2 รายแล้ว หลังจากมีการพบเชื้อดังกล่าวครั้งแรกในฝรั่งเศส เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์แล้ว ในขณะที่เว็บไซต์ สกายนิวส์ รายงานว่า มีคนติดเชื้อโควิด เดลตาครอนในสหรัฐฯแล้ว 2 ราย

ทั้งนี้ ทางการบราซิลได้เร่งขอให้ประชาชนเข้ารับการซีนวัคซีนให้ครบโดส แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะปรับตัวลดลงก็ตาม

เดลตาครอนอาการอย่างไร?

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับไวรัสเดลตาครอน ระบุว่า ไวรัสเดลตาครอนจริง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เดลต้ายังไม่ลดลงมากและโอมิครอนกำลังเริ่มต้น ซึ่งคนที่ติดสองสายพันธุ์พร้อมกันจึงมีอยู่มากพอสมควร

สายพันธ์ุเดลตาครอนตรวจพบในฝรั่งเศส และทีมวิจัยของ WHO ออกมายอมรับว่าเป็นไวรัสลูกผสมของจริง ไม่ใช่การปนเปื้อนของสิ่งส่งตรวจ ไวรัสชนิดนี้มีส่วนด้านหน้าที่เป็นโปรตีนสำหรับเพิ่มจำนวนไวรัสเป็นของเดลต้า (AY.4) และ โปรตีนหนามสไปค์มาจากโอมิครอน (BA.1)

ในขณะเดียวกัน ก็พบไวรัสลักษณะคล้ายกันในเดนมาร์ก และ เนเธอแลนด์ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นไวรัสลูกผสมจากแหล่งเดียวกันแล้วแพร่กระจายข้ามประเทศ หรือ เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ที่เกิดด้วยกลไกการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์แบบใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ ไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ เรื่องความรุนแรงหรือคุณสมบัติที่โดดเด่นจนต้องจับตามอง เพราะพบมา 3 เดือนแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นขึ้นมา

เนื่องจากเดลต้าลดน้อยลงมาก การเกิดไวรัสแบบนี้คงพบได้ยากขึ้น ที่จะพบกันตอนนี้จะเป็น BA.1กับ BA.2 มากกว่า ที่พบร่วมกันอยู่อย่างมากมายในประชากร

เดลตาครอนอันตรายกว่าสายพันธ์อื่นหรือไม่

มีหลายสิ่งที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเดลตาครอน ซึ่ง ณ จุดนี้ ดร.นพ.โธมัส รุสโซ (Thomas Russo, MD) ศาสตราจารย์และหัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล (University at Buffalo) เผยว่า ยังไม่มีผู้ป่วยเดลตาครอนมากนักเมื่อเทียบกับการระบาดของโควิดเดลต้า และโควิดโอไมครอน แต่เป็นไปได้ที่ปัจจุบันนี้อาจจะมีผู้ติดเชื้อเดลตาครอนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ทราบ

"แทบไม่มีการระบุถึงเคสผู้ป่วยโควิดเดลตาครอนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ดังนั้นมันจึงไม่มีข้อที่ได้เปรียบมากกว่า" ดร.นพ.รุสโซ กล่าว 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าเดลตาครอนจะแพร่ระบาดได้มากกว่าโอไมครอน ซึ่งตอนนี้เป็นโควิดสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก เดลตาครอนคงจะแทนที่โอไมครอนไปแล้วในตอนนี้

ดร.นพ.วิลเลียม แชฟฟ์เนอร์ (William Schaffner, MD) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและศาสตราจารย์แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt University School of Medicine)  กล่าวว่า ณ จุดนี้มันยากมากที่จะพูดว่าเดลตาครอนนั้นอันตรายแค่ไหน "มันยังค่อนข้างใหม่ ดูเหมือนว่าโควิดสายพันธุ์เดลตาครอนนี้จะยังสามารถป้องกันได้โดยวัคซีนชุดปัจจุบันที่เรามี แต่จะแพร่กระจายได้มากเพียงใดและจะทำให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้นได้หรือไม่ก็ยังไม่อาจทราบได้"

ดร.มาเรีย แวน เคอร์โคฟ (Maria Van Kerkhove, PhD) หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แบ่งปันข้อความที่คล้ายกันในการแถลงข่าวของเธอและเสริมว่านักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาสายพันธุ์นี้ "เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในด้านระบาดวิทยา ความรุนแรงที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มีการศึกษาจำนวนมากที่อยู่ระหว่างดำเนินการ"

รายงานผู้ติดเชื้อในตอนนี้

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก เผยว่าเดลตาครอนเริ่มแพร่ระบาดแล้วในยุโรป โดยพบแล้วในประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยที่แน่ชัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ข่าวสด รายงานว่า จากการเฝ้าระวังตัวแปรรายสัปดาห์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสหราชอาณาจักรประกาศว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นทั้งเดลตาและโอมิครอนในเวลาเดียวกัน ทว่ายังไม่มีการระบุอย่างแน่ชัดว่าตัวแปรลูกผสมดังกล่าวเป็นการติดเชื้อมาก่อนที่จะเข้าประเทศหรือมีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ และไม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ

ด้าน ฟอร์จูน รายงานว่า ผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 จากว็บไซต์วิจัย medRxiv ระบุว่ามีการพบผู้ติดเชื้อเดลตาครอนในสหรัฐอเมริกา 2 ราย เมื่อทำการจัดลำดับตัวอย่าง กว่า 30,000 ตัวอย่าง ที่รวบรวมจากทั่วทั้งสหรัฐอเมริการะหว่างเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึงกุมภาพันธ์ปีนี้

แต่จากการศึกษาพบว่า สายพันธ์ุเดลตาครอนนั้น หายากมากและติดต่อยากกว่า นอกจากนี้พวกเขายังสามารถระบุผู้ที่ติดเชื้อทั้งเดลต้าและโอไมครอน ได้อีก 20 ราย และมีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ติดเชื้อทั้ง เดลต้า โอมิครอน และ เดลตาครอน

ขณะที่ นิคเคอิเอเซีย รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลยืนยันผู้ติดเชื้อเดลตาครอนในบราซิลแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งสองกรณีได้รับการยืนยันในบราซิล โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเป็น ชายอายุ 34 ปีในรัฐอามาปา ทางตอนเหนือของรัฐ และหญิงอายุ 26 ปี ในรัฐพารา ทางตอนเหนือของรัฐปารา

ไวรัสลูกผสมเกิดจากอะไร ?

เอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่า การผสมและกลายพันธ์ุของไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อสองสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ในบางกรณี พวกมันสามารถสลับส่วนของจีโนมของพวกมันและรับการกลายพันธุ์จากกันและกันได้

ดร.เมเรีย ฟาน เคอร์คโฮฟ กล่าวในแถลงการณ์ว่า เมื่อทำการศึกษามากขึ้น พบว่าเป็นไปได้ที่ไวรัสลูกผสมนี้จะถูกตรวจพบในประเทศอื่น ๆ แต่กำลังการแพร่ระบาดอยู่ในระดับต่ำมาก

ด้าน “เจเรมี คามิล” รองศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัฐหลุยเซียนา กล่าวว่า เดลตาครอน อาจเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเดลต้าและโอมิครอนซ้อนทับกันในชั่วขณะหนึ่ง

วัคซีนเอาอยู่หรือไม่

วันที่ 17 มีนาคม 2565 เดอะฟิลาเดเฟียอินไควเรอร์ รายงานว่า ยังไม่มีผลทดลองชัดเจนว่าวัคซีนสามารถต้านทานเดลตาครอนได้ดีเพียงใด แต่นักวิจัยคาดหวังว่าจะป้องกันเดลตาครอนได้ดีพอ ๆ กับสายพันธุ์อื่น ๆ

โดยปกติแล้ว เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ จะสามารถแพร่เชื้อได้ดีกว่าแม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงน้อยกว่าและมีโอกาสน้อยที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากไวรัส เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

อิสราเอลพบโควิดชนิดกลายพันธุ์ใหม่ ผสม "โอมิครอน" 3 สายพันธุ์ 

กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลตรวจพบโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ผสม โอมิครอน 3 สายพันธุ์ในผู้โดยสาร 2 ราย

เมื่อ 17 มี.ค.65 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ตรวจพบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ใหม่

โดยเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวเป็นลูกผสมระหว่าง สายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม, สายพันธุ์ย่อยบีเอ.1 (BA.1) และสายพันธุ์ย่อยบีเอ.2 (BA.2) ซึ่งพบในผู้โดยสาร 2 รายที่เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ผู้โดยสารทั้ง 2 รายมีอาการป่วยเล็กน้อย ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ไม่ต้องการการรักษาพยาบาลเป็นพิเศษ โดยกระทรวงฯจะติดตามผลการจัดลำดับทางพันธุกรรมต่อไป

โควิดยังไม่จบและกลายพันธุ์ต่อไป 

แม้ว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านความปลอดภัยจำนวนมาก แต่โควิด-19 ยังคงเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก และแพทย์เตือนว่าไวรัสจะยังคงกลายพันธุ์ต่อไป โดย ดร.นพ.อะเมช เอ อะดัลจา (Amesh A. Adalja, MD) นักวิชาการอาวุโสที่ศูนย์สุขภาพจอห์นฮอปกินส์ (Johns Hopkins Center for Health Security)  กล่าวว่า "ในขณะที่ SARS-CoV2 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง มันจะสร้างสายพันธุ์ใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ"

อย่างน้อยก็ยังมีข่าวดี ดร.นพ.แชฟฟ์เนอร์  อธิบายว่าวัคซีนโควิด-19 ดูเหมือนจะปกป้องผู้คนจากการเกิดโรคร้ายแรง การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตในทุกรูปแบบที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน "จนถึงตอนนี้ สายพันธุ์ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในขอบเขตที่วัคซีนของเราสามารถป้องกันได้ ในขณะที่เราจะดูพวกเขาต่อไป มันดีมาก"

ติดต่อโฆษณา!