14 มีนาคม 2565
3,283

ไทยผวา! เจอ 4 รายมีโอกาสเป็นโอมิครอน BA.2.2

ไทยผวา! เจอ 4 รายมีโอกาสเป็นโอมิครอน BA.2.2
Highlight

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบ 4 คน เข้าข่ายติด COVID-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ซึ่งพบการระบาดในฮ่องกง พร้อมขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล อย่างไรก็ตามรายงานข่าวแจ้งว่า การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน


อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบ 4 คน เข้าข่ายติด COVID-19 สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ซึ่งพบการระบาดในฮ่องกง พร้อมขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล

วันนี้ (14 มี.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ COVID-19 ในประเทศไทย ว่า ตั้งแต่วันที่ 5-11 มี.ค.2565 ได้สุ่มตรวจสายพันธุ์ COVID-19 จำนวน 1,967 คน พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 1,961 คน หรือ 99.69% และสายพันธุ์เดลตา 6 คน หรือ 0.31%

นพ.ศุภกิจ ยืนยันว่า ในไทยยังไม่พบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.3 พบเฉพาะ BA.1 และ BA.2 โดยผู้ป่วยภายในประเทศ พบเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากที่สุด 67.6 % (1,272 คน) รองลงมาเป็น BA.1 จำนวน 32.4% (610 คน)

20220314-a-03.jpg

แนวโน้มสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแพร่เชื้อได้เร็วกว่า BA.1 ถึง 4 เท่า

อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจในระบบการตรวจตัวอย่าง และการส่งข้อมูลกับทาง GISAID ขณะที่ภาพรวมทั่วโลก พบว่าสายพันธุ์หลักเป็น BA.1 (903,848 คน) BA.2 (256,695 คน) ส่วน BA.3 (547 คน)

ขณะที่สายพันธุ์ BA.2.2 ที่พบมากในฮ่องกง ยังไม่ถูกกำหนด (assigned) ชื่อให้ใช้ โดยทีมของ GISAID จะวิเคราะห์และคาดว่าจะมีความชัดเจน 2-3 วัน หรือเป็นการยอมรับว่าพบสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว 

ทั้งนี้ BA.2 เป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญที่สไปรท์โปรตีน I1221T ทำให้มีสายพันธุ์ย่อย โดยพบหลักในฮ่องกง (386 คน) และอังกฤษ (289 คน)

ข้อมูลทางระบาดวิทยา โดยการให้ข่าวจากบางหน่วยงานของฮ่องกง พบว่า BA.2.2 แพร่เชื้อได้เร็วขึ้น และมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงขึ้น โดย นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปข้อมูลดังกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ย่อยสามารถทำได้ ในอนาคตจะแยกสายพันธุ์ BA.2 BA.2.2 หากพบว่าไม่มีความรุนแรงแตกต่างกันก็อาจจะไม่แยก แต่หากพบว่าแพร่เชื้อเร็ว หรือรุนแรงขึ้น ก็จะแยกสายพันธุ์ย่อยในชั้นการตรวจเบื้องต้น ทำน้ำยาตรวจ BA2.2 โดยเฉพาะ

20220314-a-02.jpg

กรมวิทย์ฯวอนอย่าตื่นตระหนก พบเข้าข่ายติดเชื้อ  BA.2.2 จำนวน 4 คนในไทย

ขณะนี้พบกลุ่มตัวอย่างเข้าข่ายติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 จำนวน 4 คน เป็นชาวต่างชาติ 1 คน คนไทย 3 คน 

“ส่วนที่ไทยกำลังวิเคราะห์ว่า อาการไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่ชัดว่าจะใช่หรือไม่ ขอรอผลวิเคราะห์เร็วๆนี้ ซึ่งตำแหน่งที่พบกลายพันธุ์ เป็นตำแหน่งสไปค์โปรตีน I1221T (S:I 1221T) คาดว่า 2-3 วันนี้ (14 มี.ค.) จะทราบผลทั้งหมด ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะ BA 2.2 ยังไม่ถูกประเมินให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีน อีกทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เฝ้าระวังทุกสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค COVID-19 ทั้งวิธีตรวจเฉพาะจุดกลายพันธุ์ และตรวจลำดับเบสทั้งตัว 

20220314-a-04.jpg

BA.2.2 ระบาดหนักฮ่องกง-อังกฤษ

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล โพสต์ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่าการระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” หรือ B.1.1.529.2.2 ที่มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลม 

ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ S:I1221T และการกลายพันธุ์ตรงยีน “ORf1a: T4087I” โดยมีการซับมิตรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 ที่สุ่มตรวจได้ที่ฮ่องกงขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ประมาณ 386 ตัวอย่างและสุ่มพบการแพร่ระบาดในอังกฤษประมาณ 236 ตัวอย่างเช่นกัน

การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

ในขณะที่ ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนควรรีบไปฉีด ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

20220314-a-05.jpg

คาดเชื้อทำเสียชีวิตเพิ่มในฮ่องกง

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ระบุว่า ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับอันดับสอง ประเทศลัตเวีย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกันคือ 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน 

ประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมากคือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ทั้งลัตเวียและไทยอยู่ที่ 10.7 และ 0.7 ตามลำดับ 

กล่าวคือฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการระบาดของสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโนมว่าโควิดกลายพันธุ์ BA.2.2 อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นจนทำสถิติสูงที่สุดในโลก ระบาดเพิ่มขึ้นกว่าทุกสายพันธุ์

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ ระบุด้วยว่า ล่าสุดจากการคำนวณพบว่า BA.2.2 มีการระบาดเพิ่มขึ้นกว่าทุกสายพันธุ์ประมาณ 35% และพบว่าในอังกฤษมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวใน รพ. เพิ่มขึ้นสอดคล้องไปกับการแพร่ระบาดของ BA.2.2 ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ

20220314-a-06.jpg

6 ประเด็นเกี่ยวกับ BA.2.2 กำลังรอพิสูจน์

1. BA.2.2 มีกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส เบื้องต้นทราบแล้วว่า BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป

2. ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ “S:I1221T” และ “ORf1a: T4087I” 2.BA.2.2 แพร่ระบาดรวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่

3. BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรงกว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจอื่นๆ หรือไม่ 

4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่ 

5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ และ 

6.ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก

20220314-a-07.jpg

พบ BA.2.2 แพร่เชื้อสู่อาเซียน

จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในอาเซียนพบในสิงคโปร์พบ 11 ราย อินโดนีเซีย 4 ราย บรูไน 2 ราย และกัมพูชา 1 ราย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว โดยใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล

อย่างไรก็ตามเมื่อ 14 มี.ค. กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แจ้งว่า มีการตรวจพบ 4 รายในประเทศไทย ที่อาจเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ BA.2.2. ซึ่งต้องติดตามและเฝ้าระวังกันต่อไป 

20220314-a-01.jpg

ยอดผู้ติดเชื้อในไทยยังสูง ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.2 และ BA.1

ด้านนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง กล่าวถึงประเด็น “การเข้าสู่ระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด19” ว่า จากการให้บริการรักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD   เจอ แจก จบ ตั้งแต่ต้นมี.ค.พบพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 76 จังหวัดที่สธ.ดูแลผลประเมินอยู่ในระดับดีถึงดีมาก 

มีบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ในส่วนของกทม.มีการให้บริการทั้งรพ.สังกัดกรมการแพทย์ กทม. เอกชน คลินิกต่างๆ ภาพรวมระบบ OPD ซึ่งเป็นบริการเสริมมีส่วนช่วยประชาขนผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี  ในขณะนี้ระบบ HI  ก็ยังมีอยู่ 

อย่างไรก็ตามการให้บริการโทรสายด่วน 1330 ก่อนหน้ามีการโทรใช้บริการจำนวนมากจากเดิมที่มีสูงถึง 9 หมื่นรายต่อวัน มีผู้ป่วยรอสายคงค้างจำนวนมาก แต่หลังเปิด OPD เจอ แจก จบ ทำให้มีผู้โทรใช้บริการเหลือ 4-5 หมื่นราวต่อวัน ในจำนวนนี้กว่า 3 หมื่นรายสามารถดูแลเข้าระบบได้

ติดต่อโฆษณา!