11 มีนาคม 2565
3,887

โอมิครอน “BA.2.2” มหาภัยสายพันธุ์ใหม่จาก "ฮ่องกง" ทำสถิติผู้เสียชีวิตโควิด-19 พุ่งสูงสุดในโลก!

โอมิครอน “BA.2.2” มหาภัยสายพันธุ์ใหม่จาก "ฮ่องกง" ทำสถิติผู้เสียชีวิตโควิด-19 พุ่งสูงสุดในโลก!
Highlight

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) รพ.รามาธิบดี เปิดงานวิจัย โควิดกลายพันธุ์ BA.2.2 (B.1.1.529.2.2) สายพันธุ์ใหม่จากฮ่องกง สุดสะพรึง! ทำอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกง พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก  โดยพบมีแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้ว ปัจจุบันยังไม่พบในไทย นักวิทย์เร่งหาคำตอบ


เมื่อ 10 มีนาคม 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) รพ.รามาธิบดี เปิดงานวิจัย โควิดกลายพันธุ์ BA.2.2 สายพันธุ์ใหม่จากฮ่องกงว่า การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง ได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่  "BA.2.2"  หรือ  B.1.1.529.2.2   

สายพันธุ์ใหม่นี้ มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ "S:I1221T" และการกลายพันธุ์ตรงยีน "ORf1a: T4087I" (ภาพ 1-4) 

20220311-a-01.jpg

โดยพบมีแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้วเช่นกัน (ภาพ2) การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนให้รีบไปฉีด เพื่อป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตหากติดเชื้อ

20220311-a-02.jpg

ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเที่ยบกับอันดับสองประเทศลัตเวียจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็น 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน 

ประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมากคือโดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน 

ในขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7  และ 0.7  ตามลำดับ  กล่าวคือที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการะบาดของ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโนมว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อันเกิดมาจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนที่สูงมากของฮ่องกงอาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก

20220311-a-03.jpg

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ

1. BA.2.2 กลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส

ในเบื้องต้นทราบแล้ว BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป 2 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ "S:I1221T" และ "ORf1a: T4087I" (ภาพ 1)

2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่

3.  BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่

4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่

5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ
  
6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก 

ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว

20220311-a-04.jpg

คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC)  

รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล

สายพันธุ์โควิดในไทยพบ พบ BA.2 กว่าครึ่ง ยังไม่พบ BA. 2.2

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ว่า สายพันธุ์โอมิครอนครองโลกเป็นส่วนใหญ่ จากข้อมูลใน GISAID ยังเป็น BA.1 มากที่สุด 8.5 แสนกว่าราย สายพันธุ์ย่อย BA.1.1 เจอ 6.4 แสนกว่าราย BA.2 ราว 1.85 แสนราย

สำหรับประเทศไทยจากการตรวจเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 26 ก.พ. – 4 มี.ค. จำนวน 1,905 ราย พบเดลตาเหลือเพียง 7 ราย ที่เหลือเป็น “โอมิครอน” ทั้งหมด คือ 99.63% เมื่อเทียบรายสัปดาห์แต่ละสัปดาห์ก็พบเพิ่มขึ้นจนเกือบ 100%

ส่วนสัดส่วนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 นั้น จากการตรวจแยกสายพันธุ์ย่อย 1,802 ตัวอย่าง พบเป็น BA.2 เกินครึ่งหนึ่ง คือ 51.8% แสดงว่า BA.2 มีอิทธิฤทธิ์การแพร่เร็วกว่า BA.1 ซึ่งสัปดาห์ถัดไปอาจจะพบสูงขึ้นกว่านี้ และจะมาแทน BA.1 ยกเว้นมีสายพันธุ์อื่น เช่น สายพันธุ์ BA.1.1 ที่หากแพร่เร็วกว่าก็อาจแซงกลับมาได้

BA.2 แพร่เชื้อเร็วกว่า BA.1 1.4 เท่า

“โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 มีข้อมูลสนับสนุนว่าแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า การแพร่กระจายในครัวเรือน BA.1 อยู่ที่ 29% ส่วน BA.2 อยู่ที่ 39% หรือแพร่กระจายในครัวเรือนสูงกว่า 10% แต่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่าเรื่องความรุนแรงยังไม่แตกต่างอะไรกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ดังนั้น ต้องเข้มงวดเฝ้าระวังการรับและแพร่เชื้อ ส่วนการดื้อต่อวัคซีนนั้น ภูมิคุ้มกันที่จัดการเดลตาได้ สามารถจัดการโอมิครอนได้ลดลง เมื่อแยกเป็น BA.1 และ BA.2 พบว่า ไม่ต่างกันมาก BA.2 ดื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแบบไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ” นพ.ศุภกิจกล่าว

ถามว่ากรณีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งที่โอมิครอนไม่รุนแรง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในช่วงเดลตาสมัยก่อนเราติด 2-3 หมื่นราย มีการเสียชีวิตหลายร้อยราย ส่วนตอนนี้ติดในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่การเสียชีวิตอยู่ที่ 50 กว่าราย 

ดังนั้นตัวเลขที่สูงขึ้นคือการสูงขึ้นตามจำนวนการติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็มีคนมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และคนเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มีโรคประจำตัว ติดเตียง เป็นต้น ถ้าเราช่วยกันลดความเสี่ยงกลุ่มนี้ไป ตัวเลขติดเชื้อเสียชีวิตก็จะต่ำลงกว่านี้อีก จึงต้องช่วยกันมาฉีดวัคซีนให้มีภูมิสูงมากพอ นพ.ศุภกิจ กล่าว

ติดต่อโฆษณา!