02 มีนาคม 2565
1,822

สปสช. เปิดเกณฑ์ค่าบริการ "ผู้ป่วยโควิด-19" เจอ แจก จบ 1,300 บาท/คน

สปสช. เปิดเกณฑ์ค่าบริการ "ผู้ป่วยโควิด-19" เจอ แจก จบ 1,300 บาท/คน
Highlight

สปสช. ชี้แจงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการผู้ติดเชื้อโควิดฯ แบบ "ผู้ป่วยนอก” 3 มี.ค.65 จ่ายชดเชยบริการ 1,300 บาทต่อคน พร้อมทำความเข้าใจหน่วยบริการ ข้อแตกต่างการดูแลในระบบ "Home Isolation" รุกดูแล "ผู้ป่วยโควิด-19" ไม่มีอาการ เข้าถึงการรักษาและติดตาม ข้อมูลสายด่วน 1330 วันเดียวยอดทะลุกว่า 7 หมื่นสาย


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการผู้ติดเชื้อโควิดฯ แบบ "ผู้ป่วยนอก” 3 มี.ค.65 จ่ายชดเชยบริการ 1,300 บาทต่อคน พร้อมทำความเข้าใจหน่วยบริการ ข้อแตกต่างการดูแลในระบบ "Home Isolation" รุกดูแล "ผู้ป่วยโควิด-19" ไม่มีอาการ เข้าถึงการรักษาและติดตาม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าว เมื่อ 2 มี.ค. 65 ว่าตามที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก
ตามแนวทางโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขฯ ที่แจ้งให้หน่วยบริการเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) 

โดยให้เพิ่มการจัดบริการรักษาผู้ป่วยนอก สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีภาวะเสี่ยง หรือแนวทาง “เจอ แจก จบ” โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 เป็นต้นไปนั้น 
 
สปสช. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการจ่ายชดเชยค่าบริการ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2565 ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และกองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดอัตราจ่ายการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้าน (OP self Isolation)
 
ทั้งนี้ จากการประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการจัดบริการ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน และอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ 1,300 บาทต่อราย ครอบคลุมคำแนะนำในการแยกกักตัว 

การติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง การจ่ายตามอาการรวมค่าจัดส่ง และการจัดระบบบริการรองรับการโทรกลับเพื่อให้คำปรึกษาประชาชนเมื่ออาการเปลี่ยนแปลงและนำเข้าสู่ระบบการรักษา
 
จากมติดังกล่าว ขณะนี้ สปสช. ได้มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามนโยบาย “เจอ แจก จบ” ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป 

และจะชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการทั่วประเทศที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้พรุ่งนี้ (3 มี.ค.2565) ถึงการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บริการนี้

ชดเชยค่าบริการ 1,300 บาท
 
สำหรับการจ่ายชดเชยค่าบริการอัตรา 1,300 บาทนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนบริการ คือ
 
1. การจ่ายชดเชยเหมาจ่าย 1,000 บาทต่อราย ประกอบด้วย ค่าบริการให้คำแนะการแยกกักตัวที่บ้าน การให้ยารักษาตามอาการ การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง รวมทั้ง การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
 
2. ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น 300 บาทต่อราย เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง
 
แม้ว่าจะมีบริการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบ "ผู้ป่วยนอก" และแยกกักตัวที่บ้านที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ แต่ในส่วนของบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ยังคงให้บริการควบคู่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกในการเข้ารับบริการของผู้ป่วย โดยทั้ง 2 บริการจะมีการให้บริการที่ต่างกันเพียงบางส่วน ดังนี้
 
บริการติดเชื้อโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง มีระบบส่งต่อรักษาเมื่ออาการแย่ลง นพ.จเด็จกล่าว

Home Isolation ยังคงอยู่ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะมีบริการติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านที่เพิ่มเติมเข้ามาในระบบ แต่ในส่วนของบริการดูแล ผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ยังคงให้บริการควบคู่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสะดวกในการเข้ารับบริการของผู้ป่วย โดยทั้ง 2 บริการจะมีการให้บริการที่ต่างกันเพียงบางส่วน ดังนี้
 
บริการติดเชื้อโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง มีระบบส่งต่อรักษาเมื่ออาการแย่ลง 
 
บริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน "Home Isolation" แยกกักตัวที่บ้าน จ่ายยาตามอาการ บริการโทรติดตามอาการทุกวัน ได้รับอุปกรณ์ตรวจประเมินอาการ มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง และได้รับอาหาร 3 มื้อ ในช่วงที่รับการดูแล
 
“บริการทั้ง 2 รูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งบริการติดเชื้อโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอกจะเข้ามาช่วยเสริมในกรณีผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบ Home Isolation แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการ ซึ่งการให้บริการจะแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

20220302-a-01.jpg

สปาชาย. อัพเดท 1 มี.ค.65 แนวปฏิบัติของประชาชนเมื่อสงสัยว่าติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไร ? 

1. ผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องให้ตรวจยืนยันซ้ำด้วย RT-PCR) 

ดำเนินการต่ออย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ 

โทรศัพท์ 

  • ต่างจังหวัด สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเกี่ยวกับโควิด-19 ประจำอำเภอหรือจังหวัด (ดูรายละเอียดที่เฟสบุ๊กหรือเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด

  • กทม. โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si
    ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด หากไม่สะดวก 

  • โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 (ส่งให้สถานพยาบาลคัดกรองเบื้องต้น)  

ไปโรงพยาบาลตามสิทธิของท่าน 

  • สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) รักษาทุกที่ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการในระบบบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยที่หน่วยบริการจะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวมาเหมือนในอดีต

    ตัวอย่างหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น 

  • สิทธิประกันสังคม ไปโรงพยาบาลตามสิทธิของท่านหรือโรงพยาบาลที่ท่านลงทะเบียนเลือกไว้

  • สิทธิข้าราชการ ไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลภาครัฐ 

A. หากพบว่าไม่มีภาวะเสี่ยง 

จะเข้าสู่ระบบการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 คือ รักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านตามแนวทาง “เจอ-แจก-จบ” จะได้รับการจับคู่กับสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก ด้วยระบบ tele-health ดังนี้ 

แยกกักตัวที่บ้าน 10 วัน

  • จ่ายยาตามอาการ 
  • โทรติดตามอาการ (ครั้งเดียว 48 ชั่วโมง) 
  •  ระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง 
  • ไม่ได้รับอาหาร ไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมิน เช่น เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

20220302-a-02.jpg

แนวทาง “เจอ แจก จบ” คือ 


หลังจากผู้ที่สงสัยป่วยโควิด-19 ตรวจ ATK แล้วหากพบผลเป็นบวก (เจอ) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการ 3 สูตร (แจก) ได้แก่ 1.ยาฟ้าทะลายโจร 2.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก 3.ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การเป็นโรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง (จบ) 

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 

ที่ได้รับการประเมินว่าไม่มีอาการแต่ยืนยันว่าต้องการเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ตัดสินใจร่วมกับสถานพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และได้รับการดูแลตามระบบได้เช่นเดียวกัน 

B. ประเมินอาการแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง แบ่งอาการเป็น 3 กรณีดังนี้ 

 ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/ไม่มีโรคร่วมสำคัญ 

จับคู่กับสถานพยาบาลเพื่อเข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) กรณีสภาพบ้านไม่พร้อมเข้าระบบการรักษาโดยชุมชนหรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ได้รับการดูแลแบบ tele-health แพทย์จะพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ 

หากกำลังใช้ฟ้าทะลายโจรจะต้องหยุดฟ้าทะลายโจรก่อน มีระบบส่งต่อเมื่ออาการแย่ลง (โทร.ติดตามอาการ, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, ส่งอาหารถึงบ้าน) 

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ และ 3.ผู้ป่วยที่มีโรครุนแรงมาก 

สองกลุ่มนี้แพทย์จะพิจารณารับการรักษาในโรงพยาบาล และพิจารณาให้ยารักษาที่มียาชนิดตามความเหมาะสม

2. กรณีตรวจ ATK แล้วผลตรวจเป็นลบ ขึ้น 1 ขีด 

  • ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT/Self Quarantine การแยกเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย 
  • ตรวจ ATK ซ้ำเมื่อครบ 7 วันหรือเมื่อมีอาการ หากผลเป็นบวก ดำเนินการตามข้อ 1 หากผลเป็นลบ Self Quarantine อีก 3 วัน และ DMHTT

**DMHTT คือแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ในการชะลอการระบาดของ โควิด-19 คือ อยู่ห่างไว้, ใส่มาก์สกัน, หมั่นล้างมือ, ตรวจให้ไว, ใช้ไทยชนะ และหมอชนะ

3. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายเดิม ก่อน 1 มี.ค.65 ที่ลงทะเบียนเข้าระบบการรักษาที่บ้าน แต่ยังไม่ได้รับการจับคู่กับสถานพยาบาล 

  • กรณีไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย ดำเนินการตามข้อ ข. คือ ไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อรับบริการตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข “เจอ-แจก-จบ”
  • กรณีมีอาการ เข้ารักษาตามระบบ Home Isolation 
  • กรณีมีอาการรุนแรง ส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

สปสช.เปิด ข้อมูลสายด่วน 1330 วันเดียวยอดทะลุกว่า 7 หมื่นสาย แนะ โทร.รพ.ตามสิทธิ/ใกล้บ้าน หรือสายด่วนโควิดประจำเขต/จังหวัด

เปิดข้อมูลโทรเข้าสายด่วน สปสช. 1330 ประชาชนโทรอย่างต่อเนื่อง เผย 1 มี.ค. วันเดียวทะลุกว่า 7 หมื่นสาย เลขาธิการ สปสช. ขอโทษประชาชนที่พยายามโทรติดต่อไม่ได้ สั่งแก้ปัญหาด่วน ระดม จนท.สปสช. และจิตอาสาเพิ่มเติม เร่งรับสายและติดต่อกลับ แนะทางเลือก โทร.สถานพยาบาลตามสิทธิ/ใกล้บ้าน หรือสายด่วนโควิดประจำเขต/จังหวัด 

นพ.จเด็จ สปสช. กล่าวว่า ตามที่มีเสียงร้องเรียนของประชาชนถึงการใช้บริการสายด่วน สปสช.1330 ที่ไม่สามารถติดต่อได้ รวมถึงการจับคู่หน่วยบริการในการเข้าสู่ระบบ Home Isolation นั้น สปสช. ขณะนี้เจ้าหน้าที่สายด่วนของ สปสช.1330 และอาสาสมัครที่ร่วมรับสายทุกคนรวมจำนวนกว่า 400 คน ต่างทำงานอย่างหนักและแข่งขันกับจำนวนสายที่กระหน่ำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงความกังวลและทุกข์ร้อนของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 

จากข้อมูลสายด่วน สปสช.1330 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ จนถึง 1 มีนาคม 2565 จำนวนการโทรเข้าสายด่วน สปสช.1330 แต่ละวันยังคงอยู่ที่ระดับ 40,000-70,000 สาย เช่นเดียวกับช่องทาง Non Voice หรือสื่อสารผ่านไลน์ สปสช. และ Facebook สปสช. ก็เฉลี่ยวันละกว่า 9,000 รายเช่นกัน ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าสองหมื่นรายต่อวัน โดยวันที่ 1 มีนาคม มีจำนวนสายโทรเข้ามากที่สุดสูงถึง 70,300 สาย และช่องทาง Non Voice กว่า 12,000 ราย ยอมรับว่าเป็นจำนวนเกินศักยภาพที่ระบบจะรองรับได้ 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ สปสช.ได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหา นอกจากการระดมจิตอาสาเข้ามาช่วยรับสายเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังได้มีการประสานกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ มาร่วมรับสาย ด้วย อาทิ กองทัพไทย ธนาคารกรุงไทย วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก  และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

โดยทางบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค ร่วมสนับสนุนซิมการ์ดโทรศัพท์ให้จำนวนหนึ่ง และมีทีมจิตอาสาจากประชาชนกว่า 100 รายเข้าร่วมตอบคำถามและรับเรื่องประสานงานจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านช่องทางไลน์ของ สปสช.ด้วย 

ส่วนช่องทางการสื่อสารอื่นผ่านระบบออนไลน์ ทั้ง line @nhso และ Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอื่นๆ ที่ประชาชนติดต่อเข้ามานั้น ขณะนี้ สปสช. ได้เร่งตอบกลับในทุกข้อความในทุกช่องทางที่ส่งเข้ามาเช่นกัน

20220302-a-03.jpg

“เจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 และอาสาสมัครทุกคนต่างเต็มใจและพร้อมให้การดูแลประชาชนทุกคนที่โทรเข้ามา แต่ด้วยจำนวนสายที่โทรเข้ามาอย่างมากมาย ล่าสุดถึงวันละกว่า 7 หมื่นสายแล้ว 

จึงต้องขอโทษทุกสายของประชาชนที่โทรเข้ามาหรือสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ และติดต่อไม่ได้ โดย สปสช. จะพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากสายด่วน สปสช. 1330 แล้ว ในพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสามารถ โทร.ไปที่สถานพยาบาลตามสิทธิ/ใกล้บ้าน หรือสายด่วนเกี่ยวกับโควิด-19 ประจำอำเภอหรือจังหวัด (ดูรายละเอียดที่เฟสบุ๊กหรือเว็บไซต์สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด ขณะที่ กทม. สามารถ โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw ) หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก https://bit.ly/3Iuw7Si

"นายกฯ" สั่งเร่งสร้างการรับรู้ "เจอ แจก จบ" ดูแลผู้ป่วยโควิด ไม่มีอาการ

"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" กำชับ เร่งสร้างการรับรู้ "เจอ แจก จบ" รักษา "ผู้ป่วยโควิด" แจง เป็นมาตรการเสริม เพิ่มทางเลือกให้คนไม่มีอาการ "สธ." ระบุ ยังไม่พบปัญหา หลังเริ่มดำเนินการวันแรกเมื่อวานนี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับให้เร่งสร้างการรับรู้ การรักษาผู้ป่วยโควิด-19  “เจอ-แจก-จบ” แบบ OPD case เป็นมาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล ควบคู่กับระบบ HI/CI 

เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ติดเชื้อที่สบายดี ไม่มีอาการ ไม่มีภาวะเสี่ยง และสมัครใจรักษาที่บ้าน โดยนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตนตามมาตรการและคำแนะนำของแพทย์ระหว่างการรักษาตนเองที่บ้านอย่างเคร่งครัดด้วย 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รวม 22,197 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 22,079 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 118 รายผู้ป่วยสะสม 711,109 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 19,093 ราย หายป่วยสะสม 524,245 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 218,784 ราย เสียชีวิต 45 ราย 

ขณะที่รายงานภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 - 1 มี.ค. 2565 (18.14 น.) รวมฉีดสะสมอยู่ที่ 124,027,989 โดส เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 53,659,492  โดส เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 49,756,068  โดส เข็มที่ 3 ฉีดสะสม18,922,022 โดส และเข็มที่ 4 ฉีดสะสม  1,690,407 โดส 

ที่มา : สปสช.  กระทรวงสาธารณสุข ศบค. Bangkokbiz

ติดต่อโฆษณา!