23 กุมภาพันธ์ 2565
1,248

ยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง คาดแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ศบค. ปรับมาตรการเข้าไทยเพิ่มเติม

ยอดติดเชื้อโควิดพุ่ง คาดแนวโน้มเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ศบค. ปรับมาตรการเข้าไทยเพิ่มเติม
Highlight

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าไทยเพิ่มเติม เพื่อช่วยนักท่องเที่ยวลดค่าใช้จ่ายและระยะกักตัว แม้ว่ายอดติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งขยับระดับการเตือนภัยโรคโควิด-19 เป็นระดับ 4 แต่ยืนยันว่าปริมาณเตียงยังมีอย่างเพียงพอ ในขณะที่เพื่อนบ้านเอเชียยอดพุ่งหลายประเทศ


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในวันนี้ (23 ก.พ.) เพิ่มอีก 21,232 ราย และเสียชีวิตจำนวน 39 ราย ทำให้ตัวเลขโดยรวมนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา อยู่ในอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.19% ยังถือว่าต่ำ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับยอดสะสมนับตั้งแต่ปี 2563 อัตราการเสียชีวิตก็อยู่ที่ 0.82% 

อย่างไรก็ตาม โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตในระลอกล่าสุดส่วนใหญ่ 80% เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 และกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานและกรุงเทพมหานคร ที่มีการติดเชื้อมากขึ้น

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า นี่สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงของโควิด-19 ลดน้อยถอยลงไป ในขณะเดียวกันมาตรการรักษาของไทยจะตรวจพบด้วย RT-PCR หรือการตรวจด้วย ATK ก็นำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา 

โดยภาพรวมของผู้เข้ารับการรักษาตัวจะอยู่ที่ 173,605 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 71,414 ราย และโรงพยาบาลสนามอีก 102,191 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนักมีทั้งหมด 882 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 229 ราย

หากพิจารณาจากแผนภูมิการคาดการณ์ฉากทัศน์ที่นำเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นจะพบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ทะลุเส้นสีแดง ซึ่งฉากทัศนที่คาดการณ์บนพื้นฐานที่ยอดผู้ติดเชื้อราว 15,000-20,000 รายต่อวัน

โฆษก ศบค. ยอมรับว่า จากยอดติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นหลักหลายหมื่นราย ก็ส่งให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย แม้ว่าเส้นกราฟรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจะยังอยู่ใต้เส้นที่เขียว ซึ่งเป็นฉากทัศน์สถานการณ์ที่ดีที่สุด แต่ก็มีแนวโน้มที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่รับวัคซีนเข็มที่สาม หรือ เข็มกระตุ้น

20210223-a-02.jpg

ทรัพยากรเตียงมีเพียงพอ

จากแนวโน้มดังกล่าว จึงมีคำถามที่ว่าปริมาณเตียงในโรงพยาบาลมีเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานถึงสถานการณ์เตียงว่า โดยภาพรวมยังคงเพียงพอและสามารถรองรับผู้ป่วยได้ โดยอัตราครองเตียง ณ วันที่ 22 ก.พ. ยังอยู่ที่ 49.1% ของเตียงทั่วประเทศ 180,208 เตียง

ขณะที่อัตราการครองเตียงระดับที่ 1 สำหรับผู้ป่วยน้อย (สีเขียว) ยังอยู่ที่ 55.7% อัตราครองเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก ระดับ 2.1 และ 2.2 (สีเหลือง) อยู่ที่ 20.1% และ 12.1% ตามลำดับ ส่วนอัตราการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤต ระดับ 3 (สีแดง) อยู่ที่ 18.6%
"ส่วนผู้ป่วยอาการน้อย ๆ เราอยากจะให้อยู่ในศูนย์แยกกักของชุมชน ซึ่งขณะนี้มียอดการลงทะเบียนรับการดูแลนอกสถานพยาบาลอยู่ที่ 21,210 ราย และอยู่ในระบบแยกกักตัวที่บ้านที่ลงทะเบียนแล้ว 47,373 ราย" นพ. ทวีศิลป์กล่าว

ศบค. ปรับมาตรการเข้าประเทศเพิ่มเติม

ที่ประชุม ศบค. ยังมีมติปรับมาตรการการเข้าประเทศเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมทั้งระยะเวลาในการรอผลการตรวจหาเชื้อด้วย โดยคาดว่าจะส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางอากาศและทางบก

สิ่งที่เปลี่ยนไป ประกอบด้วย

  • ผู้เดินทางสามารถแสดงหลักฐานการจ่ายค่าที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+++ จำนวน 1 คืนเพื่อรอผลตรวจ RT-PCR จากเดิมที่จะต้องใช้หลักฐานการจ่ายค่าที่พักตามมาตรฐานจำนวน 2 คืน
  • ลดวงเงินคุ้มครองประกันภัยลงจากเดิมไม่น้อยไปกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นไม่น้อยไปกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • เปลี่ยนวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงไทยในวันที่ 5 จากเดิมที่กำหนดให้เป็นการตรวจ RT-PCR มาเป็นการใช้ผลตรวจ ATK ด้วยตัวเองแทน

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป

ยอดผู้ติดเชื้อในเอเชียพุ่งขึ้นในหลายประเทศ

เกาหลีใต้ รายงานผู้ติดเชื้อในวันเดียว ทะลุ 1.7 แสนราย 

นายคิม บู-คยอม นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ เรียกร้องให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งทะลุ 170,000 รายเป็นครั้งแรก

นายคิมระบุว่า ยอดผู้ป่วยหนักและยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะทะยานขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นจากระดับของวันจันทร์ (21 ก.พ.) ที่ 99,573 ราย
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 99 รายในวันอังคาร ที่ 22 ก.พ.  ขณะที่ KDCA เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเกือบ 75%

มาเลเซียพบติดโควิด-19 วันเดียวเพิ่มอีกกว่า 27,000 ราย

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 27,179 ราย เมื่อนับถึงวันอังคาร (22 ก.พ.) ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 3,273,958 ราย

เว็บไซต์กระทรวงฯ เปิดเผยว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มใหม่แบ่งเป็นผู้ที่มาจากต่างประเทศ 120 ราย และติดเชื้อในประเทศอีก 27,059 ราย ขณะเดียวกันมีการตรวจพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 43 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 32,433 ราย

สิงคโปร์ติดโควิดวันเดียวกว่า 26,000 ราย สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาด 

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 26,032 ราย ณ วันอังคาร (22 ก.พ.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด และเชื่อว่าอีกไม่กี่สัปดาห์สิงคโปร์จะถึงจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดระลอกปัจจุบัน ซึ่งหลังจากนั้นคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น

รายงานระบุว่า “ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจและการรักษาตัวในแผนกผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) นั้นไม่สูง แต่ความต้องการเตียงในโรงพยาบาลก็พุ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่กำลังฟื้นตัว”

20210223-a-01.jpg

การเตือนภัยระดับโควิด-19 ของไทยเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม จากที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งระดับการเตือนภัยจากโรคโควิด-19 พร้อมทั้งคำแนะนำประชาชน และสถานประกอบการในปี 2565 ออกเป็น 5 ระดับดังนี้

ระดับที่ 1 : บุคคลทั่วไปสามารถใช้บริการได้ทุกแห่ง และร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากได้แบบ New Normal การเดินทางข้ามพื้นที่หรือต่างจังหวัด หรือต่างประเทศสามารถโดยสารระบบขนส่งสาธารณะได้ปกติ

ระดับที่ 2 : สำหรับกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิดหรือแออัด เลี่ยงการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มเป็นจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท เลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ หากเดินทางเข้าประเทศจำเป็นต้องกักตัว

ระดับที่ 3 : บุคคลทั่วไป งดเข้าสถานบันเทิงและเลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิดและแออัดและเลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ หากเดินทางจากต่างประเทศจำเป็นต้องกักตั ส่วนกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้เลี่ยงกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก เสี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดเดินทางต่างประเทศ

ระดับที่ 4 : บุคคลทั่วไปงดทานอาหารร่วมกัน งดดื่มสุราในร้านและงดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม งดการเดินทางโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดการเดินทางไปยังต่างประเทศ หากเดินทางกลับจากต่างประเทศจำเป็นต้องกักตัว

ระดับที่ 5 : บุคคลทั่วไป งดออกนอกบ้าน ยกเว้นด้วยเหตุจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต เช่น การตรวจรักษาโรค ซื้ออาหารและของใช้ งดรวมกลุ่มเกิน 5 คน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้งดใกล้ชิดกับคนในบ้าน หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวและผ่านกระบวนการคัดกรอง ห้ามเดินทางไปต่างประเทศ แต่หากกรณีเดินทางกลับจากต่างประเทศจำเป็นต้องกักตัว 

อ้างอิง : BBC News, ศบค. กระทรวงสาธารณสุข

ติดต่อโฆษณา!