04 กุมภาพันธ์ 2565
1,226

โควิดโอมิครอนแตะหมื่น สธ.คุมอยู่หรือไม่? ด้าน ตร.ขู่เตือนซื้อไม้ Swap หวังเคลมประกันเจอโทษหนัก!

โควิดโอมิครอนแตะหมื่น สธ.คุมอยู่หรือไม่?   ด้าน ตร.ขู่เตือนซื้อไม้ Swap หวังเคลมประกันเจอโทษหนัก!
Highlight

ในที่สุดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในไทยรอบนี้ก็ใกล้แตะหลักหมื่นคน ในขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์นี้ทั่วโลก ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ  แต่สำหรับประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการ Test&Go รวมทั้งการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กเพิ่งเริ่มต้น อย่างไรก็ตามดระทรวงสาธารณสุขยืนยันยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ด้านตำรวจเตือนรับซื้อไม้ Swap หวังเคลมประกันเจอโทษหนัก


นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ว่า ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

สำหรับการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตของไทย ขณะนี้เริ่มลดลงในระดับที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุด ซึ่งมาจากการเคร่งครัดมาตรการโควิด-19 ของทุกภาคส่วน

“วันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อใกล้ 1 หมื่นราย จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือประชาชนปฎิบัติตามมาตรการ VUCA เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ทั้งนี้ หลายท่านอยากเห็นการผ่อนคลาย คิดว่าความร่วมมือจะเป็นตัวชี้ชัดที่สุด เราหวังว่าสถานการณ์หลังจากนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยว Test&Go ก็จะทำด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้ออาจขึ้นไปสูงแตะหมื่นราย หรือเกินหมื่นนิดๆ ซึ่งก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ หากทุกคนร่วมมือกันในมาตรการ VUCA”

ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนของประเทศไทย ขณะนี้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุม 75.4% เข็ม 2 ครอบคลุม 70.1% และเข็มที่ 3 ครอบคลุม 21.4%

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์และการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญปี 65 ได้แก่

1. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคาดว่าหากไม่มีสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติม ในช่วงครึ่งปีหลังจำนวนผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจะลดลง จากปัจจัยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมายที่วางไว้

2. โรคไข้เลือดออก คาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 85,000 ราย เนื่องจากไข้เลือดออกจะมีการระบาดแบบปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยพบการติดเชื้อน้อย ดังนั้นปีนี้จึงมาถึงวงจรการระบาด จากปัจจัยภูมิคุ้มกันน้อยของคนไทย ประกอบกับการประกอบกิจกรรมที่น่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงสุดในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. โดยจะพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนก.ค. จำนวน 13,769 ราย ดังนั้น จึงต้องเร่งรณรงค์เรื่องโรคไข้เลือดออก เนื่องจากขณะนี้ไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 1 ราย และมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

3. อุบัติเหตุทางถนน คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นอยู่ในระดับ 17,000-20,000 ราย โดยผู้เสียชีวิตสูงสุดจะอยู่ในช่วงเดือนมี.ค. และเดือน ธ.ค.

4. ตกน้ำ จมน้ำ คาดว่าปีนี้โรงเรียนจะเปิดเรียนแบบ onsite มากขึ้น มีกิจกรรมมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีเด็กจมน้ำในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. เพิ่มมากขึ้น

5. โรคจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก เมื่อเทียบจากผู้ติดเชื้อจำนวน 100 คน พบว่า ในการระบาดระลอกแรกๆ พบเด็กติดเชื้อแค่ 1% แต่การระบาดในระลอกล่าสุดกับระลอกเม.ย. 64 เริ่มพบเด็กติดเชื้อมากขึ้น 

โดยเด็กอายุ 5-11 ปี พบติดเชื้อ 6% และเด็กอายุ 12-17 ปี พบติดเชื้อ 5.6% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มการติดเชื้อเด็กมากขึ้น

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก 3 ปี ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของวัคซีน และความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งหากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้การรับรองการขึ้นทะเบียนการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็ก สธ. ก็พร้อมจะนำวัคซีนมาฉีดให้เด็กๆ ทันที

ทั้งนี้ จำนวนวัคซีนซิโนแวคในประเทศ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 6 ล้านโดส แบ่งเป็น วัคซีนตามโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ 4 ล้านโดส และวัคซีนบริจาคจากประเทศจีนในเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค.จำนวน 2 ล้านโดส 

โดยในส่วนนี้กรมควบคุมโรคได้ทำการเก็บรักษาไว้ ซึ่งหากอย. อนุมัติการฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็ก ก็มีรองรับเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องซื้อวัคซีนเพิ่มเติมแต่อย่างใด

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ในภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขไม่มีนโยบายบังคับประชาชนให้ใส่หน้ากากอนามัย หรือการจ่ายค่าปรับ เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมือดีมาก

ทั้งนี้ จะแตกต่างกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่บางประเทศไม่นิยมใส่หน้ากากอนามัย จึงจะต้องมีการทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวเรื่องวัฒนธรรมการใส่หน้ากากของไทย ซึ่งหากได้รับความร่วมมือดี ก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายบังคับ แต่หากจำเป็นจริงๆ ก็คงต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย แต่จะเป็นกรณีท้ายจริงๆ ที่จะใช้

ตร.เตือนซื้อไม้ swap ใช้แล้วหวังติดเชื้อโควิดเคลมเงินประกันมีโทษหนัก

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า  ขณะนี้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูบว่ามีคนบางกลุ่มอาศัยช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ โดยการทำพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงให้ตนเองติดโรคโควิด-19 เพื่อหวังจะเอาเงินประกัน ดังเช่นขอซื้อไม้ swab ต่อจากผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 นำมาทำให้ตนเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพื่อจะได้รับเงินประกัน

ทั้งนี้ การกระทำในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจอันตรายถึงชีวิตแล้ว หากมีการติดโควิด-19 โดยเจตนาจริงเพื่อหวังจะได้เงินประกัน อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 114/4 แห่งพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และมาตรา 108/4 แห่งพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2562 ซึ่งบัญญัติว่าผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และหากมีการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคว่าติดเชื้อมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่เป็นความจริงก็จะเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งทางบริษัทประกันมีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินประกันได้ และอาจถูกทางบริษัทประกันฟ้องร้องกลับก็เป็นได้

รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายและเกิดผลเสียกับตัวผู้กระทำแล้ว ยังเป็นการเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่อสังคมโดยรวมด้วย 

ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามนโยบายสาธารณสุข และคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในภาพรวม รวมถึงขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องผู้ที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงและสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ติดต่อโฆษณา!