05 มกราคม 2565
1,811

รัฐบาลพร้อม “ชะลอมาตรการคลายล็อก” หลังผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มพุ่งสูง !! WHO แจ้งข่าวดี โอมิครอนไม่โจมตีปอด แต่อาจป่วยรุนแรงถ้าไม่ฉีดวัคซีน

รัฐบาลพร้อม “ชะลอมาตรการคลายล็อก” หลังผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มพุ่งสูง !! WHO แจ้งข่าวดี โอมิครอนไม่โจมตีปอด แต่อาจป่วยรุนแรงถ้าไม่ฉีดวัคซีน

Highlight

คลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิงเริ่มปะทุในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขพร้อม “ชะลอมาตรการคลายล็อก” หลังเจอผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 2,062 ราย พบใน กทม. มากที่สุด 585 ราย สาเหตุพบว่าร้านอาหารและสถานบันเทิงรวมทั้งลูกค้า ไม่เคร่งครัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามผลวิจัยล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเชื้อโอมิครอนไม่โจมตีปอด เป็นข่าวดี ที่ไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง แต่เชื้อสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ ทั้งนี้ WHO เตือนว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนอาจจะเจ็บป่วยรุนแรงได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากคลัสเตอร์ร้านอาหาร สถานบันเทิง โดยระบุว่า เมื่อมีผู้ละเลยมาตรการ การติดเชื้อย่อมเกิดขึ้นได้ ผู้ที่ละเลยมีตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงผู้มาใช้บริการ ถ้าคิดแต่เรื่องสนุก ไม่คำนึงถึงคนอื่น ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้ส่วนรวม ตอนนี้ขอให้คิดถึงคนอื่นให้มาก ส่วนภาครัฐก็ต้องไล่สืบสวน ควบคุมโรคกันต่อไป น่าเสียดาย เพราะโรคนี้มันจัดการได้ แต่ขอให้ไม่ประมาท

 

สำหรับผู้ที่ป่วย ทางภาครัฐรักษาให้อยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้ใครป่วย เพราะเดือดร้อนกันหมด และคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นต้องไปดูว่าทำผิดตรงไหน แล้วใครรับผิดชอบ ผับบาร์ที่มาจดทะเบียนเปิดเป็นร้านอาหารนั้นเปิดเป็นร้านอาหารจริงหรือไม่

 

“ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายต้องกลับไปคิดกันหนัก ในเรื่องของการผ่อนคลายมาตรการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนความกังวลว่าจะติดเชื้อถึง 30,000 รายต่อวัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดตามที่กระทรวงสาธารณสุขประเมินหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการร่วมด้วยช่วยกันของทุกภาคส่วน แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมีความรับผิดชอบ แต่ก็น่าเสียดาย เพราะเรากดยอดผู้ติดเชื้อให้ลดต่ำลงมาเรื่อยๆ แต่คนไม่รับผิดชอบเพียงไม่กี่คนทำให้การระบาดเพิ่มสูงขึ้น”นายอนุทินกล่าว

 

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมยืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ตอนนี้สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือขอวิงวอนให้ประชาชนให้ความร่วมมือและรับผิดชอบต่อสังคม

 

“ทั้งนี้ หากยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตรการต่างๆ นับจากนี้ก็ต้องเข้มข้นขึ้นโดยธรรมชาติ การผ่อนคลายต่างๆ ต้องถูกเลื่อนออกไป” นายอนุทินกล่าว

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยว่า ข้อมูลสะสมตั้งแต่เปิดประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 4 มกราคม 2565 ไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้น 282 ราย รวมสะสม 2,062 ราย ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 1,105 ราย และติดเชื้อในประเทศ 957 ราย

 

โดยพบว่าสายพันธุ์ที่มีการระบาดในไทย ช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 4 มกราคม 2565 อันดับ 1 ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวนสะสม 8,728 ราย หรือคิดเป็น 80.75% ขณะที่โอไมครอนคืออันดับ 2 ด้วยจำนวนรวม 2,062 ราย หรือคิดเป็น 19.08%

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อมากที่สุดจำนวน 585 ราย โดยในจำนวนทั้งหมดแยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 7 ราย รองลงมาคือกาฬสินธุ์  233 ราย แยกเป็นการติดเชื้อในประเทศ 231 ราย และร้อยเอ็ด พบผู้ติดเชื้อ 180 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด

 

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ตอนนี้โอมิครอนเริ่มส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีผลต่อจำนวนการเสียชีวิต ขณะที่การติดเชื้อในประเทศส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้าโดยเน้นย้ำว่าการตรวจหาสายพันธุ์จะเริ่มใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ แต่จะไม่ตรวจหาสายพันธุ์ในทุกราย

 

จากข้อมูลการศึกษาระบุว่าผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ (Neutralization) ของเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว

 

นายอับดิ มาฮามุด จากทีมสนับสนุนจัดการเหตุการณ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า แม้ว่าคนส่วนมากจะฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ภายใน 5-7 วันหลังมีอาการ แต่ทาง WHO ก็ยังคงแนะนำให้ผู้ป่วยกักตัว 14 วันต่อไป แต่การตัดสินใจเรื่องระยะเวลากักตัวจะต้องดูจากสถานการณ์ของแต่ละบุคคล

 

ในประเทศต่าง ๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำ ระยะเวลาการกักตัวที่นานขึ้นอาจช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ระดับต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการกักตัวที่สั้นลงอาจเป็นเรื่องเหมาะสมเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ข้อมูลของ WHO ระบุว่า ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2564 มี 128 ประเทศที่รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น แต่ในไม่ช้าผู้ติดเชื้อลดลงค่อนข้างเร็ว ขณะที่อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม นายมาฮามุดกล่าวว่า สถานการณ์จะไม่เป็นแบบเดียวกันในบางประเทศ

และสายพันธุ์โอมิครอนอาจแซงหน้าสายพันธุ์อื่น ๆ ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีประชาชนที่อ่อนแออยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

“ขณะที่การศึกษาล่าสุดทั้งหมดบ่งชี้ไปยังข้อเท็จจริงที่ว่า สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนแทนที่จะเป็นปอด ซึ่งเป็นข่าวดี แต่บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงและบุคคลที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจจะเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์ดังกล่าวได้”นายมาฮามุด กล่าว

ติดต่อโฆษณา!