25 พฤศจิกายน 2564
2,200

โปรตุเกสพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดกินได้ในรูปแบบ “โยเกิร์ตหรือน้ำผลไม้”

โปรตุเกสพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดกินได้ในรูปแบบ “โยเกิร์ตหรือน้ำผลไม้”
Highlight

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากโปรตุเกสพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดรับประทานได้ในรูปแบบของเหลวอย่างโยเกิร์ตหรือน้ำผลไม้ วัคซีนดังกล่าวทำมาจากพืชและโปรไบโอติกที่มีจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยพืชที่นำมาวิจัยจะถูกกระตุ้นให้ผลิตสารชนิดใหม่ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) นักวิจัยคาดว่าวัคซีนชนิดรับประทานได้จะแพร่หลายวงกว้างในช่วง 6-12  เดือนข้างหน้า


เมื่อวันที่ 23 พ.ย. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโพลีเทคนิคปอร์โต (IPP) ของโปรตุเกส กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดรับประทานได้ในรูปแบบของเหลวอย่างโยเกิร์ตหรือน้ำผลไม้

รูเบน เฟอร์นานเดส ผู้ประสานงานโครงการ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวว่าวัคซีนดังกล่าวทำมาจากพืชและโปรไบโอติกที่มีจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยปกติแล้วโปรไบโอติกเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ทว่าในกรณีของวัคซีนชนิดนี้พวกมันถูกกระตุ้นให้ผลิตสารชนิดใหม่ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)

“เทคโนโลยีข้างต้นไม่ได้มาแทนที่เทคโนโลยีปัจจุบัน ความตั้งใจของเราคือกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้วัคซีนที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เฟอร์นานเดสระบุ พร้อมเสริมว่าแนวคิดการใช้งานวัคซีนในอาหารเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นการใช้วัคซีนในมันฝรั่งเพื่อต่อต้านโรคติดเชื้อ อาทิ บาดทะยัก คอตีบ โนโรไวรัส และตับอักเสบบี

นอกจากมันฝรั่งแล้ว ยังมีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในข้าวและกล้วยอีกด้วย ขณะวัคซีนชนิดรับประทานได้สำหรับป้องกันโรคซาร์ส (ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) ก็ถูกนำมาจับคู่กับมะเขือเทศเช่นกัน”เฟอร์นันเดส กล่าว

เฟอร์นันเดสกล่าวว่าจนถึงขณะนี้คณะนักวิจัยทดสอบแนวคิดข้างต้นกับพืชและโปรไบโอติกที่มีแบคทีเรียบางชนิด และได้ข้อสรุปว่าเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ได้ผลจริง ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกพืชผลที่จะนำมาดัดแปลง นอกเหนือจากการเลือกโปรไบโอติก (แบคทีเรีย) ดีที่สุดในหลอดทดลอง จากนั้นจึงนำไปทดสอบกับสัตว์เป็นลำดับถัดไป

นักวิจัยคาดว่าวัคซีนชนิดรับประทานได้จะแพร่หลายวงกว้างในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่จะได้รับจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยเป้าหมายของพวกเขาคือการผลิตวัคซีนที่สามารถจำหน่ายแก่ประชาชนในรูปแบบยั่งยืนและมีราคาถูก

เฟอร์นันเดสเสริมว่าการทำให้รูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่ง่ายต่อการเข้าใจและใช้งาน มีข้อดีทั้งทางจริยธรรม เศรษฐกิจ และการรักษา โดยวัคซีนดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามาก ซึ่งจะทำให้ประเทศยากจนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

“หลายคนอาจยังคงหวาดกลัววัคซีนแบบฉีดทั่วไป แต่ผมเชื่อว่าพวกเขาจะชอบดื่มโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติกสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน” เฟอร์นันเดส กล่าว

20211125-b-01.jpg

โปรตุเกส เป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนโควิดได้ครอบคลุมมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่ 89% ของจำนวนประชากร ในขณะที่ไทย ฉีดวัคซีนแล้ว 67% โเยรายงานจากศูนย์ข้อมูล Covid-19 เมื่อ 23 พ.ย. 2564 ฉีดเข็มแรกแล้ว จำนวน 47,034,024 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 39,724,270 ราย และเข็มที่ 3 3,135,889 ราย

ติดต่อโฆษณา!