25 พฤศจิกายน 2564
1,754

โควิดระลอกใหม่ในยุโรป - เอเชียกลาง อาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 2.2 ล้านรายในต้นปีหน้า

โควิดระลอกใหม่ในยุโรป - เอเชียกลาง อาจมีผู้เสียชีวิตมากถึง 2.2 ล้านรายในต้นปีหน้า
Highlight
ในยุโรปและเอเชียกลางเวลานี้ โควิดสายพันธุ์เดลต้าได้กลับมาระบาดอีกครั้งและทำให้บางประเทศเริ่มประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งแล้ว ถึงแม้ว่าประชากรยุโรปจะได้รับวัคซีนไปจำนวนมากแล้วก็ตาม ซึ่งทาง WHO ออกมาคาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในยุโรปและเอเชียกลาง อาจพุ่งไปถึง 2.2 ล้านคน หรือเพเ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 7 แสนคน ในเวลา 4 เดือนนับจากนี้

สำนักงานของดับเบิลยูเอชโอประจำยุโรปได้เผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์ว่า ในขณะนี้ 53 ประเทศของภูมิภาคดังกล่าว (ยุโรปและเอเชียกลาง) มียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทะลุ 1.5 ล้านรายแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้น

โดยไวรัสเดลตาได้กลายมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งในยุโรปและเอเชียกลาง ซึ่งปัจจุบันภูมิภาคแห่งนี้มียอดผู้เสียชีวิตรายวันเกือบ 4,200 ราย เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากจำนวนผู้เสียชีวิตรายวัน ณ สิ้นเดือนก.ย.

ทั้งนี้ สำนักงานดับเบิลยูเอชโอประจำยุโรปตั้งอยู่ในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งทำภารกิจที่ครอบคลุมยุโรป รวมทั้งอิสราเอล, ตุรกี และประเทศในเอเชียกลางซึ่งได้แก่คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสสถาน, เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

ดร.ฮานส์ เฮนรี คลูจ ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคยุโรปกล่าวว่า "การที่จะใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสและดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปให้ได้นั้น เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งหมายความว่าต้องฉีดวัคซีนตามโดสมาตรฐาน และต้องฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เมื่อรัฐบาลกำหนด นอกจากนี้ ยังต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันให้เป็นวิถีชีวิตปกติ"

ดับเบิลยูเอชโอ ประจำภูมิภาคยุโรประบุว่า การที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์เดลตาแพร่ระบาดครั้งใหม่นั้น มีสาเหตุมาจากประชาชนในภูมิภาคไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และจากการที่หลายประเทศยกเลิกคำสั่งสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม

แม้ว่าดับเบิลยูเอชโอ เตือนก่อนหน้านี้ว่า สภาพอากาศในฤดูหนาวจะเป็นตัวกระตุ้นการระบาดในยุโรป เนื่องจากประชาชนรวมตัวกันภายในบ้านที่มีการระบายอากาศน้อย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้ง่าย

ทั้งนี้ ดร.คลูจกล่าวว่า หลายประเทศสามารถหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการล็อกดาวน์และการเผชิญกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจได้ ด้วยการใช้มาตรการป้องกัน ซึ่งรวมถึงการสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า, การเว้นระยะห่างทางสังคม ตลอดจนการตรวจหาเชื้อและการติดตามการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ดับเบิลยูเอชโอประจำภูมิภาคยุโรปยังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี เพื่อรับมือกับประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนที่ได้รับการฉีดไปแล้ว
ติดต่อโฆษณา!