25 ตุลาคม 2564
1,424

สธ. พบเชื้อโควิด-19 เดลต้า พลัส ในไทยรายแรก ด้านกรมอนามัย เผยผลโพลพบคนไทยกังวลเปิดการเปิดประเทศ หวั่นระบาดเพิ่ม

สธ. พบเชื้อโควิด-19 เดลต้า พลัส ในไทยรายแรก ด้านกรมอนามัย เผยผลโพลพบคนไทยกังวลเปิดการเปิดประเทศ หวั่นระบาดเพิ่ม
Highlight

ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส 1 คน กระทรวงสาธารณสุขไม่กังวลและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้านกรมอนามัยเปิดเผยผลโพล พบว่า

  • ประชาชนร้อยละ 94 กังวลต่อการเปิดประเทศ 
  • ประชาชนร้อยละ 28 เชื่อมั่นต่อการควบคุมป้องกันโรค 
  • ประชาชนร้อยละ 72 ต้องการให้มีการฉีดวัคซีน 70% ครบทุกจังหวัด


นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาพลัส (AY.4.2) ใประเทศอังกฤษที่พบการติดเชื้ออยู่ที่ 6% ขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตา ทั้งนี้ยังไม่มีความกังวลเรื่องความรุนแรงของการแพร่เชื้อ การดื้อยา และดื้อวัคซีน เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดิม หากเป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดเร็ว จะพบคลื่นการระบาดที่ชัดเจนแล้ว สำหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อเดลตาพลัส จำนวน 1 ราย และยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายอื่นที่มีความเกี่ยวเนื่องใดๆ

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยถือว่าผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว แต่ยังต้องจับตามองพื้นที่ภาคใต้ ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ยังต้องจับตาพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ตาก ระยอง และจันทบุรี ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มการติดเชื้อลดลง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ สถานการณ์ยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดี ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบเป็นกลุ่มก้อน เช่น ในเรือนจำ ชุมชน และตลาด

นอกจากนี้ จากการสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 19 ต.ค. 64 พบคลัสเตอร์จากงานศพทั้งหมด 9 คลัสเตอร์ จากปัจจัยเสี่ยงทั้งการรับประทานอาหารร่วมกัน, ดื่มสุราร่วมกัน และใช้แก้วแบบวน, สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธี หรือไม่สวมหน้ากาก, การเล่นพนัน, มีอาการป่วย ไม่มีการตรวจคัดกรอง และมีการค้างพักแรมร่วมกัน

สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ระยอง, ตราด, เลย, หนองคาย, อุดรธานี, บุรีรัมย์, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา และระนอง สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุมแล้ว 76.2% และเข็มที่ 2 ครอบคลุมแล้ว 54.9%

ส่วนจังหวัดยังพบการแพร่ระบาดหนัก ได้แก่ จังหวัดตาก, ราชบุรี, จันทบุรี, ระยอง, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 48.7% และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 33.4%

กรมอนามัย เผยผลโพลพบคนไทย 94% กังวลเปิดประเทศ 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีคำสั่งกำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการการเดินทางเข้าออกประเทศและ การดูแลคนไทยในต่างประเทศ อนุมัติประเทศและพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นั้น ซึ่งจากผลการสำรวจของกรมอนามัยระหว่างวันที่ 14-20 ตุลาคม 2564 เกี่ยวกับความคิดเห็น ต่อประเด็น “คิดเห็นอย่างไรกับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564”

พบว่า คนไทยร้อยละ 94 มีความกังวล กับการเปิดประเทศ โดยมีความเชื่อมั่นต่อการควบคุมป้องกันโรคร้อยละ 28  ในขณะที่ร้อยละ 72  มีความคิดเห็นว่า ควรเพิ่มมาตรการที่จะทำให้เชื่อมั่นว่า หากเปิดประเทศแล้วจะปลอดภัยด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคนทั่วประเทศครบตามเกณฑ์ครอบคลุมทุกจังหวัด 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป  ให้มีการคุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดนร้อยละ 60 และมีการกำกับ ติดตาม การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการและประชาชนอย่างเคร่งครัดร้อยละ 55 ตามลำดับ
           
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานประกอบกิจการต่าง ๆ ขอให้เพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้พนักงานทุกคนที่ใกล้ชิด กับนักท่องเที่ยว ควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด หรือตรวจ ATK ทุก 7-14 วัน มีการคัดกรองพนักงานด้วย “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน 

หากพบว่ามีอุณหภูมิเกินกว่าที่กำหนดและมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อให้ตรวจด้วย ATK ทันที  สำหรับมาตรการด้านความปลอดภัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้ประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์ของ Thai Stop COVID Plus ทุกเดือน และติดใบรับรอง Certificate ในบริเวณที่ผู้รับบริการและที่เจ้าหน้าที่สามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบได้ รวมทั้งผ่านเกณฑ์การประเมิน SHA Plus ที่เน้นการระบายอากาศที่ดี เพียงพอ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ควบคุมจำนวนพนักงานและลูกค้า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร และทำความสะอาดจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วม โดยเพิ่มความถี่เมื่อมีผู้รับบริการมากขึ้น อย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง
           
“นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ มีมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว และกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ สมาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับนักท่องเที่ยวคนไทยจะต้องไม่มีอาการเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ที่ราชการกำหนด หรือตรวจ ATK ทุก 7-14 วัน และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด พร้อมคัดกรอง ตัวเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” และแสดงให้ผู้รับบริการตรวจสอบก่อนเข้าสถานประกอบการ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องไม่มีอาการเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง คัดกรองไม่พบเชื้อ และได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ RT-PCR  ตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดต่อโฆษณา!