27 พฤษภาคม 2565
1,661

IMF เตือนเศรษฐกิจวุ่นหนัก ระวังวิกฤตอาหาร 30 ชาติจำกัดส่งออก

IMF เตือนเศรษฐกิจวุ่นหนัก ระวังวิกฤตอาหาร 30 ชาติจำกัดส่งออก
Highlight

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนเศรษฐกิจโลกกำลังวุ่นวายหนัก หลังมี 30 ชาติจำกัดการส่งออกอาหารแล้วจากการระบาดของโควิด 19 ความขัดแย้งในยูเครน-รัสเซียเป็นตัวเร่งให้ราคาพลังงาน ทำให้ราคาสิ้นค้าอื่นๆปรับตาม นอกจากนี้ตลาดการเงินที่เปราะบาง รวมไปถึงปัญหาซัพพลายเชน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ด้านนักวิเคราะห์ชี้วิกฤตอาหารโลก ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารส่งออกไทย


คริสตินา จีโอจีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF  เตือนว่า สถานการณ์การเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ความยุ่งเหยิงอย่างยิ่ง ผลพวงมาจากทั้งการระบาดของโควิด-19 ตลอดไปจนถึงความขัดแย้งในยูเครน ตลาดการเงินที่เปราะบางอย่างยิ่ง รวมไปถึงปัญหาจากระบบห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

ขณะนี้มี 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหาร และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ สร้างความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด

ท่าทีของผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟมีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้นำโลก และผู้นำภาคธุรกิจกำลังเข้าร่วมประชุมในเวที เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ)ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กีตา โกปินาธ รองกรรมการผู้จัดการ IMF กล่าวว่า ความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ต้องมีการหารืออย่างเร่งด่วน และในมุมมองส่วนตัวโกปินาธยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้าแล้ว
  
โกปินาธเตือนว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อค่าครองชีพ และจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงสำหรับประเทศยากจน ยกตัวอย่างเช่น ผู้อยู่อาศัยในประเทศแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan) ในแอฟริกาที่ 40% ของการบริโภคจะหมดไปกับค่าอาหาร
 
ผู้แทนจาก IMF เตือนว่า ขณะนี้มีประเทศมากกว่า 20 ประเทศที่จำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ย ซึ่งกำลังซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อสูงและทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง”
 
ทั้งนี้ แต่เดิมราคาอาหารโลกมีการขยับปรับขึ้นอยู่แล้วในปีนี้ ทว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่รัฐบาลเครมลินระบุว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางการทหารยิ่งทำให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยูเครนและรัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก โดยเฉพาะยูเครนที่ได้ฉายาว่าตะกร้าขนมปังแห่งยุโรป
 
เดวิด บีสลีย์ กรรมการบริหารโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ World Food Programme กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านอาหารที่ไม่ธรรมดา และสงครามยูเครนก็ทำให้ต้นทุนอาหาร ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่า
 
บีสลีย์ระบุว่า จำนวนคนที่ ‘อดอยาก’ ได้เพิ่มขึ้นจาก 80 ล้านคนเป็น 276 ล้านคนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
 
อีริก ฟายวาล์ด ซีอีโอของ Syngenta Group กล่าวว่า การเกษตรต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการกับความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งหมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการเพาะปลูกให้เข้ากับทุกสภาพอากาศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ซึ่งภายใต้แนวทางดังกล่าว หมายความว่า เอกชนต้องเดินหน้าลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐ

จากบางส่วนของ 30 ประเทศที่เริ่มจำกัดการส่งออกอาหาร

  • อาร์เจนตินา สั่งระงับการส่งออก น้ำมันถั่วเหลือง,อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566

  • แอลจีเรีย ระงับการส่งออก พาสต้า,ข้าวสาลี,น้ำมันพืช,น้ำตาล จนถึงวันที่  31 ธ.ค.2565 

  • อียิปต์ ระงับการส่งออก น้ำมันพืช,ข้าวโพด ถึงวันที่ 12 มิ.ย 2565

  • อินเดีย ระงับการส่งออกข้าวสาลี ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 

  • อินโดนีเซีย ระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม,น้ำมันเมล็ดปาล์ม ถึง 31 ธ.ค. 2565 แต่ต่อมาวันที่ 23พ.ย.ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามนี้หลังจากสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศดีขึ้น

  • มาเลเซีย ประกาศระงับการส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ

  • อิหร่าน ระงับการส่งออกมันฝรั่ง, มะเขือม่วง,มะเขือเทศ,หัวหอม ถึง 31 ธ.ค. 2565

  • คาซัคสถาน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,แป้งสาลี ถึง 15 มิ.ย. 2565  

  • โคโซโว ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมันพืช,เกลือ,น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565

  • ตุรกี ระงับการส่งออก เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย , น้ำมันปรุงอาหาร ถึง 31 ธ.ค. 2565 

  • ยูเครน ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโอ๊ต,ข้าวฟ่าง,น้ำตาล ถึง 31 ธ.ค. 2565

  • รัสเซีย ระงับการส่งออกน้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน ถึง 31 ส.ค. 2565 และ ข้าวสาลี,แป้งสาลี,ข้าวไรย์ (ข้าวไรย์ พืชชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวสาลี ลักษณะคล้ายคลึงกันกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ,ข้าวบาร์เลย์,ข้าวโพด ถึง 30 มิ.ย. 2565

  • เซอร์เบีย ระงับการส่งออก ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมัน ถึง 31 ธ.ค. 2565

  • ตูนิเซีย ระงับการส่งออก ผลไม้,ผัก ถึง 31 ธ.ค. 2565 ,คูเวต ระงับการส่งออก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่,ธัญพืช,น้ำมันพืช

“ซาบริน โชว์ดรี” หัวหน้าฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทฟิทช์ โซลูชันส์ กล่าวกับเว็บไซต์บลูมเบิร์กว่า นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะนี้มีการออกมาตรการกักตุนห้ามส่งออกอาหารขยายวงไปถึงราว 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ถือเป็นปรากฏการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤติราคาอาหาร เมื่อปี 2550 - 2551

“กระแสการกักตุนอาหารจะยังคงยาวต่อเนื่องไปตลอดปี 2565 โดยจะเริ่มรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศที่เปราะบาง” นักวิเคราะห์จากฟิทช์ กล่าว

รมว.คลังซาอุฯออกโรงเตือนวิกฤตอาหารโลกรุนแรงขึ้นจากพิษสงครามยูเครน

หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเตือนเรื่องวิกฤตอุปทานอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน โดยทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลกและส่งออกอาหารให้กับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่

นายโมฮัมเหม็ด อัล-จาดาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของซาอุดีอาระเบียเชื่อว่า โลกยังไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังมากพอกับปัญหานี้

“ผมคิดว่าประเด็นความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แต่ประชาคมโลกกลับประเมินวิกฤตการณ์ทางอาหารต่ำเกินไป” นายอัล-จาดานให้สัมภาษณ์กับนางแฮดลีย์ แกมเบิล นักข่าวของซีเอ็นบีซีที่การประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วิกฤตการณ์ด้านอาหารจะสร้างปัญหามากมาย ไม่ใช่แค่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ของโลกด้วย โดยภูมิภาค MENA นั้นเผชิญความเสี่ยงอย่างยิ่ง เนื่องจากพึ่งพาการนำเข้าอาหารจำนวนมาก และมีประชากรคิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของโลก”

ขณะนี้การที่รัสเซียรุกรานยูเครนนั้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวสาลีและธัญพืชจำนวนมหาศาลที่ประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาต้องพึ่งพา โดยเมื่อรวมกันแล้ว รัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวสาลีประมาณ 1 ใน 3 ของโลก, ส่งออกข้าวโพดเกือบ 20% และส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน 80% โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้จัดหาอุปทานอาหารส่วนใหญ่ให้กับภูมิภาค MENA

สำหรับสัญญาข้าวสาลีที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้านั้นได้พุ่งขึ้นกว่า 30% แล้ว นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดปฏิบัติการโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

นโยบายปกป้องอาหารเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย

บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า นโยบายปกป้องอาหารโดยรวม น่าจะเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มอาหารของไทย ผลของราคาพลังงานและต้นทุนการผลิต รวมถึงราคาปุ๋ยและสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้อาหารและสินค้าเกษตรในหลายประเทศปรับสูงขึ้นจนเริ่มเห็นการประกาศระงับการส่งออกของหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา 

“เรามองแนวโน้มของนโยบายปกป้องอาหาร (Food protection) ที่กำลังเกิดขึ้นจะหนุนให้เกิดการสำรองอาหาร ทำให้ราคาอาหารทรงตัวในระดับสูงถึงปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกกับกลุ่มผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรในไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในปีก่อนจะเริ่มขึ้นราคาได้ และทำให้อัตรากำไรทยอยปรับดีขึ้น” นักวิเคราะห์ยูโอบี เคย์เฮียน กล่าว

กลุ่มน้ำตาล ผลผลิตจากการหีบอ้อยที่ดีขึ้น (85-90 ล้านตัน ในปี 64/65 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 66 ล้านตัน ในปี 63/64) และการระงับการส่งออกของอินเดียที่เป็นผู้ผลิตหมายเลข 2 ของโลก (10.9% ของการส่งออกน้ำตาลทั้งโลก) จะส่งผลดีต่อราคาน้ำตาโลก และไทยที่เป็นผู้ผลิตหมายเลข 3 ของโลก (7.7%)

ติดต่อโฆษณา!