14 เมษายน 2565
1,152

เกาหลีเหนือเตรียมทดสอบนิวเคลียร์ ฉลองวันเกิดผู้ก่อตั้งประเทศ 15 เม.ย.นี้

เกาหลีเหนือเตรียมทดสอบนิวเคลียร์ ฉลองวันเกิดผู้ก่อตั้งประเทศ 15 เม.ย.นี้
Highlight

นายคิม ซ็อง ทูตพิเศษของสหรัฐด้านกิจการเกาหลีเหนือเปิดเผยในวันพุธ (6 เม.ย.) ว่า เกาหลีเหนืออาจดำเนินการทดสอบนิวเคลียร์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดนายคิม อิลซ็อง ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือที่ล่วงลับในวันที่ 15 เม.ย.นี้


“ผมคิดว่าเกาหลีเหนืออาจทดสอบขีปนาวุธอีกครั้ง โดยอาจเป็นการทดสอบนิวเคลียร์” นายคิม ซ็องกล่าว โดยเขายอมรับว่า ไม่ต้องการคาดเดามากนักเกี่ยวกับพฤติกรรมยั่วยุจากเกาหลีเหนือ

สำนักข่าวเกียวโดเปิดเผยว่า หลังการทดสอบขีปนาวุธหลายระลอกในปีนี้ เกาหลีเหนือก็ได้ทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ในวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี 2560 และถือเป็นการสิ้นสุดการระงับทดสอบ ICBM ที่เกาหลีเหนือให้คำมั่นไว้ในเดือนเม.ย.ปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีเหนือและสหรัฐภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พยายามพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ขณะที่สื่อของทางการเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันอังคาร (5 เม.ย.) ว่า นางคิม โยจอง น้องสาวของนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ได้ออกมาขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อเกาหลีใต้ หากโสมขาวเลือกใช้กำลังทหารเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ

นายคิม ซ็องแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับถ้อยแถลงของน้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือ โดยกล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาหวังว่า “แทนที่จะออกแถลงการณ์ยั่วยุลักษณะดังกล่าว” โสมแดงควรมุ่งความสนใจไปยัง “การดำเนินการอย่างจริงจัง” เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

นอกจากนี้ นายคิม ซ็องยังได้เน้นย้ำว่า คณะบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน “ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย” ต่อเกาหลีเหนือและเต็มใจที่จะรับฟัง “ข้อวิตกกังวลทุกด้าน” ของเกาหลีเหนือ ในขณะที่แสวงหาหนทางเพื่อบรรลุความคืบหน้าในด้านการปลดอาวุธนิวเคลียร์

ประวัติ  คิม อิล-ช็อง

คิม อิล-ซ็อง เป็นผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อ พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2515 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ พ.ศ. 2515 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2537 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานเกาหลี ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 จนถึง พ.ศ. 2537 คิม อิล-ซ็องเป็นที่รู้จักกว้างขวางในฐานะผู้เผด็จการในระบอบคอมมิวนิสต์ของประเทศเกาหลีเหนือ โดยดำรงตำแหน่งอยู่ในอำนาจในฐานะผู้นำของประเทศเกาหลีเหนือเป็นเวลายาวนานถึงสี่สิบกว่าปี ดำรงตำแหน่งในช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์อันได้แก่สงครามเย็นและสงครามเกาหลี มีการพัฒนาลัทธิบูชาบุคคลขึ้นมาสำหรับคิม อิล-ซ็องโดยเฉพาะ หลังคิม อิล-ซ็อง ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว รัฐบาลเกาหลีเหนือภายใต้การนำของประธานาธิบดีคิม จ็อง-อิล บุตรชาย ได้ให้สมญานามแก่เขาว่า "ประธานาธิบดีตลอดกาล" เมื่อ พ.ศ. 2554

คิม โย-จอง คือใคร และมีอำนาจอย่างไรในเกาหลีเหนือ

นางคิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือขู่จะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลเกาหลีใต้เลือกการเผชิญหน้าทางทหาร และเปิดฉากโจมตีก่อน

นางคิม โย-จอง ได้รับขนานนามว่า"น้องสาวผู้ลึกลับ" ของผู้นำเกาหลีเหนือ เพราะมักทำงานอยู่เบื้องหลังพี่ชาย ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอเริ่มได้รับมอบหมายให้ทำงานที่สำคัญมากขึ้น และกลายเป็นกระบอกเสียงแสดงความคิดเห็นต่อกรณีต่าง ๆ เช่น ข้อพิพาทกับเกาหลีใต้

หน่วยงานข่าวกรองของเกาหลีใต้ระบุเมื่อปี 2020 ว่า นายคิม จอง-อึน ยังคง "มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" แต่เขาได้มอบหมายให้ผู้ช่วยหลายคนเข้ามาดูแลนโยบายด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อ "บรรเทาความเครียดจากการปกครองประเทศ และเลี่ยงความรับผิดทางอาญาในกรณีที่เกิดความล้มเหลวทางนโยบาย"

หนึ่งในผู้เข้ามาแบ่งเบาภาระผู้นำเกาหลีเหนือคือ นางคิม โย-จอง ที่ได้รับมอบหมายให้ "ดูแลกิจการต่าง ๆ ของรัฐโดยรวม" โดยมีรายงานว่าเธอมีตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคนงานเกาหลีเหนือ และเป็นสมาชิกสมทบของโปลิตบูโร (Politburo) หรือคณะกรรมการบริหารพรรค

เชื่อกันว่า เธอคือผู้อนุมัติการระเบิดสำนักประสานงานร่วมของสองชาติเกาหลี ในเมืองแกซอง เมื่อ มิ.ย. 2020 เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ทางการเกาหลีใต้ไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มผู้แปรพักตร์ที่เคลื่อนไหวส่งใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือข้ามพรมแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือได้

รู้จัก คิม โย-จอง

เธอคือน้องสาวของนายคิม จอง-อึน และเป็นพี่น้องเพียงคนเดียวที่ถือว่าใกล้ชิดกับนายคิม และมีอำนาจมาก

คิม โย-จอง เกิดในปี 1987 เธออายุน้อยกว่านายคิม 4 ปี ทั้งสองใช้ชีวิตและเรียนหนังสือด้วยกันที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

คิม โย-จอง ได้รับความสนใจจากต่างประเทศในปี 2018 หลังจากที่เธอเป็นสมาชิกคนแรกในตระกูลคิมที่เดินทางเยือนเกาหลีใต้ และเธอยังนำคณะผู้แทนเกาหลีเหนือเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ลงแข่งขันในนามทีมเดียวกัน

คิม โย-จอง ยังทำงานเคียงข้างพี่ชายของเธอในการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศหลายครั้ง รวมถึงการประชุมกับประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ

เกาหลีเหนือทดสอบ "ขีปนาวุธข้ามทวีป" ในรอบ 5 ปี

ผู้นำเกาหลีใต้ ระบุเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่แบบเต็มประสิทธิภาพเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เมื่อ 24 มีนาคม 2565 รัศมีตกที่จากฐานปล่อย 1,100 กม.ในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ขณะที่ทั่วโลกกำลังพุ่งความสนใจไปที่สงครามในยูเครน

มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า เกาหลีเหนือละเมิดคำมั่นที่จะระงับการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อคาบสมุทรเกาหลีและประชาคมโลก รวมทั้งละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ท่าทีล่าสุดของผู้นำเกาหลีใต้ มีขึ้นหลังจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ระบุว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าเป็นฮวาซอง-17 ไปตกในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดอาโอโมริไปประมาณ 170 กิโลเมตร

ขีปนาวุธลูกนี้ใช้เวลาเคลื่อนที่ประมาณ 71 นาที และตกห่างจากฐานปล่อยประมาณ 1,100 กิโลเมตร ซึ่งเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ ระบุว่า กองทัพเกาหลีใต้ได้ตอบโต้การทดสอบดังกล่าวของเกาหลีเหนือ ด้วยการยิงขีปนาวุธจากพื้นดิน น้ำและอากาศพร้อมกัน

ครั้งสุดท้ายที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปแบบเต็มประสิทธิภาพ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2560 ซึ่งขณะนั้นเป็นการยิงทดสอบขีปนาวุธฮวาซอง-15 ที่ถูกระบุว่ามีขีดความสามารถในการโจมตีดินแดนสหรัฐอเมริกา

ขณะที่นักวิเคราะห์ เชื่อว่า ขีปนาวุธฮวาซอง-17 มีศักยภาพสูงกว่ารุ่นเก่า และอาจเป็นหนึ่งในขีปนาวุธข้ามทวีปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยรถบรรทุก 

อ้างอิง : วิกิพีเดีย, BBC Thai

ติดต่อโฆษณา!