06 มีนาคม 2565
4,485

รัสเซีย ปรับทิศมุ่งการค้าเอเชีย อาเซียน “เปิด 10 สินค้าไทยส่งออกไปรัสเซีย”

รัสเซีย ปรับทิศมุ่งการค้าเอเชีย อาเซียน “เปิด 10 สินค้าไทยส่งออกไปรัสเซีย”
Highlight

มาตรการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน รวมทั้งการโจมตีและเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ เป็นแรงผลักดันบีบบังคับให้รัสเซียมุ่งทำการค้าสู่ ‘ตะวันออก’ (Look East) ทั้งเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากทางสหภาพยุโรปและสหรัฐฯืจึงต้องหาแหล่งตลาดใหม่ๆ เข้ามาทดแทน หากมองมาที่เอเชีย แน่นอนว่าเป็นลาดที่ใหญ่มากที่เดียว เพราะรวมทั้ง จีน อินเดีย เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

‘การมุ่งสู่ตะวันออก’ นับเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ซึ่งหากมองในแง่ความมั่งคั่งของภูมิภาคนี้ในอนาคต ‘การมุ่งสู่ตะวันออก’ จึงถือว่าเป็นโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ส่งออกและผู้ค้าขายชาวรัสเซีย

รู้หรือไม่ว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของรัสเซียนั้นอยู่ใน ‘เอเชีย’ แม้ว่าพื้นที่นี้จะดูเหมือนว่าอยู่ห่างไกลเหลือเกิน แต่รัสเซียและโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคเพื่อ ‘เข้าถึง’ พื้นที่ต่าง ๆ ของรัสเซีย เช่น ท่าเรือ ‘วลาดิวอสต๊อก’ (Vladivostok), การเชื่อมโยงจากเมืองต่าง ๆ ของรัสเซีย เช่น Blagoveshchensk และ Nizhneleninskoye กับจีน ที่เริ่มดีขึ้น อีกทั้งเมือง Chita และ Irkutsk ที่เปิดโอกาสให้เข้าถึง ‘มองโกเลีย’ และ ‘คาซักสถาน’

เมื่อปรับโฟกัสให้เข้าใกล้รัสเซียยิ่งขึ้น ท่าเรือ ‘วลาดิวอสต๊อก’ (Vladivostok) นั้นถือเป็นท่าเรือสำคัญและเมื่อเดินทางโดยเครื่องบินก็ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงจากนครเซี่ยงไฮ้และกว่า 2 ชั่วโมงจากกรุงโตเกียว ซึ่งนับว่าเป็นท่าเรือที่เข้าถึงได้ง่ายและเปิดทางการค้าสู่เอเชียกลาง, ยุโรปตะวันออกและตลาดอื่น ๆ ในยุโรป

การเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั่วรัสเซียสู่ยุโรปจากท่าเรือ ‘วลาดิวอสต๊อก’ (Vladivostok) ลดเวลาการขนส่งถึง 50% จากการใช้เส้นทางคลองสุเอซที่ใช้เวลาในการขนส่งอยู่ที่ราว 30-45 วัน 

ตัวเลขชี้วัดนี้จะช่วยปรับมุมมองวิธีการส่งออกสินค้าแบบวิธีดั้งเดิมเปลี่ยนไปมองหาโอกาสจากท่าเรือของรัสเซียซึ่งหากท่าเรือรัสเซียสามารถตอบโจทย์โดยใช้การได้ดีในแง่ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาก็จะยิ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกภาคการผลิตของ ‘อาเซียน’ หันมาพิจารณาใช้เส้นทางนี้มากขึ้น 

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ คือ ที่มณฑล ‘กว่างสี’ ของจีนซึ่งใกล้กับ ‘เวียดนาม’ มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ เคลื่อนย้ายรัสเซียให้เข้าใกล้ ‘เอเชียกลาง’ และ ‘เอเชียใต้’ มากขึ้นด้วย

อีกก้าวหนึ่งที่รัสเซียพยายามใช้กระชับความสัมพันธ์กับ ‘อาเซียน’ คือ วัคซีนทางการทูต โดยวัคซีน ‘สปุตนิก’ ของรัสเซียเป็นตัวกลางที่นำเสนอให้หลายชาติในเอเชียใต้และอาเซียนได้ทำความรู้จักด้านการค้าและความสามารถต่าง ๆ ของรัสเซียมากยิ่งขึ้นจากที่แต่ก่อนนั้นมีประสบการณ์ติดต่อกับรัสเซียค่อนข้างน้อย

โดยการนำส่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้ตามที่สัญญาและมีเงื่อนไขที่เหมาะสมยิ่งเพิ่มความคุ้นเคย ความเชื่อมั่นและแม้แต่มิตรภาพซึ่งถือว่าเป็นการใช้พลังเชิงอ่อนละมุน (soft power) ช่วยเปิดโอกาสและทำให้ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างกันดียิ่งขึ้น

ขณะที่ ประเทศสมาชิกของอาเซียนแต่ละประเทศเองมีโอกาสทางการลงทุนที่แตกต่างกันไปสำหรับนักลงทุนชาวรัสเซียนับตั้งแต่การส่งออกยุทโธปกรณ์, ข้าวสาลี จนถึงการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยการค้าระหว่างอาเซียนและรัสเซียเพิ่มขึ้นแบบพอประมาณจาก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 เป็น 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562

อีกทั้งการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ยังเปิดประตูการค้าให้แก่นักลงทุนชาวรัสเซียให้เข้าถึงผู้บริโภคกว่า 2,000 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคในอาเซียนราว 600 ล้านคนด้วย

ส่วนรัสเซียก็นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการในอาเซียน เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง มีจำนวนประชากรราว 144 ล้านคน เป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ที่ประกอบด้วย รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน 

นับเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดศักยภาพใหม่ ด้วยประชากรรวมกันกว่า 180 ล้านคน มี GDP กว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.5% ต่อปี

อีกทั้งรัสเซียยังพึ่งพาการนำเข้าสินค้าด้านการเกษตรและอาหารสูง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านภูมิอากาศที่ไม่อำนวยต่อการเพาะปลูกซึ่งเป็นโอกาสการค้าของผู้ประกอบการในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย 

20220306-a-01.jpg

ทั้งนี้ สินค้า 10 อันดับแรกของไทยที่ส่งออกไปยังรัสเซียระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2564 ได้แก่ 1. รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. ผลิตภัณฑ์ยาง 3. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 4. ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 5. เม็ดพลาสติก 6. อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ 7. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 8. ยางพารา 9. แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า 10. อัญมณีและเครื่องประดับ

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบกับภาคการส่งออกของประเทศไทยจากสถานการณ์กองทัพรัสเซียเข้าโจมตียูเครน ขึ้นอยู่กับการขยายวงความรุนแรง และมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากนานาประเทศ 

ซึ่งขณะนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และหากสถานการณ์ทวีความตึงเครียด จะยิ่งส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจ ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมีความผันผวนมากขึ้นซึ่งทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง

อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกจากไทยไปรัสเซีย และการส่งออกจากไทยไปยูเครน มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกไทยไปตลาดโลกทั้งหมด

โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือ การยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรป

และหากสถานการณ์พลิกผันไปสู่สงครามที่ขยายวงกว้าง เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะหดตัว และเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น (เศรษฐกิจถดถอย) แต่เชื่อว่าหลายฝ่ายมีความพยายามเจรจาหาข้อยุติโดยเร็วที่สุด

20220306-a-02.jpg

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในขณะนี้ หากชาติตะวันตกยกระดับใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มข้นโดยพุ่งเป้าไปที่การจำกัดขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศและการเงินระหว่างประเทศและชาติอาเซียนจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว  

จึงอาจส่งผลให้ชาติอาเซียนได้รับผลกระทบทางการค้าโดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการด้านส่งออกจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง

ที่มา : Russian Outbound Investment into ASEAN & Southeast Asia (aseanbriefing.com), ปรับโฟกัส มองรัสเซีย โอกาสของธุรกิจไทย (bot.or.th), Bangkok Bank, KBANK

ติดต่อโฆษณา!