19 ตุลาคม 2564
2,316

จีนพิจารณาร่างกฎหมายห้ามพ่อแม่ให้ "ภาระการเรียน" แก่ลูกมากเกินไป

จีนพิจารณาร่างกฎหมายห้ามพ่อแม่ให้ "ภาระการเรียน" แก่ลูกมากเกินไป
Highlight

ประเทศจีน จริงจังดูแลเด็กและเยาวชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดความเครียดของเด็กและป้องกันภาวะติดเกมส์ ในขณะที่ญี่ปุ่นพบเด็กฆ่าตัวตายสูงสุดในรอบ 40 ปี

  • จีนพิจารณาร่างกฎหมายห้ามผู้ปกครองให้ ‘ภาระการเรียน’ แก่ลูกมากเกินไป รวมทั้ง
  • นักเรียนจีนที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนอย่างหนัก จะต้องเข้านอนตรงเวลา แม้ยังทำการบ้านไม่เสร็จก็ตาม
  • การใช้งานอินเตอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนจีนทำได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง


สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติของจีนกำลังพิจารณาร่างกฎหมายห้ามผู้ปกครอง “มอบหมายภาระงานทางวิชาการให้ลูกมากเกินไป”

จางเถี่ยเหว่ย โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการนิติบัญญัติ สังกัดคณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) เผยว่าร่างกฎหมายการส่งเสริมการศึกษาภายในครอบครัว กำหนดว่าผู้ปกครองควรจัดสรรเวลาสำหรับเรียน พักผ่อน เล่นสนุก และออกกำลังกายของผู้เยาว์อย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกันร่างกฎหมายฯ ยังเรียกร้องผู้ปกครองมีส่วนร่วมป้องกันบุตรหลานเสพติดการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วย

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับการทบทวนระหว่างการประชุมของคณะกรรมการฯ ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่วันอังคารถึงวันเสาร์ (19-23 ต.ค.)

ก่อนหน้านี้ จีนออกแนวปฏิบัติลด ‘การบ้าน-เรียนพิเศษ’ แบ่งเบาภาระนักเรียน หนึ่งในนั้นระบุว่า "นักเรียนที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนอย่างหนัก จะต้องเข้านอนตรงเวลา แม้ยังทำการบ้านไม่เสร็จก็ตาม"

ทั้งนี้ จีนยังพยายามขยายบริการหลังเลิกเรียนครอบคลุมทุกโรงเรียน เพื่อบรรเทาภาระการบ้านและการเรียนพิเศษมากเกินไป โดยกระทรวงฯ สนับสนุนการจัดชมรมศิลปะ กีฬา ทักษะแรงงาน การอ่าน และงานอดิเรกอื่นๆ ขณะคณะครูได้รับอนุญาตจัดตารางทำงานที่ยืดหยุ่นและได้รับเงินพิเศษหากดูแลเด็กหลังเลิกเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนไม่ควรจัดการสอบข้อเขียนกับกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ขณะการสอบปลายภาคควรจัดให้เฉพาะนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่าจีนได้จัดระเบียบการดูและเด็ก และเยาวชน เป็นระยะ โดยเมื่อ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีคำสั่งให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมส์ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

อ้างอิงการรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส จีนได้ออกกฏหมาย บังคับให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกมส์ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พร้อมกับระบุว่า ประเทศต้องเร่งควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมส์ เนื่องจากตอนนี้เกมส์เหมือนเป็น “ฝิ่นมอมเมาจิตวิญญาณ”

ทั้งนี้ กฏหมายดังกล่าว ครอบคลุมอุปกรณ์ที่สามารถเล่นเกมส์ได้ทั้งหมด รวมถึงเกมส์บนโทรศัพท์มือถือด้วย โดยจะบังคับให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเล่นเกมส์ได้แค่เพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่างเวลา 20:00 – 21:00 น. และจะเล่นเกมส์ได้แค่เพียงทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น

โดยหลังจากนี้ บริษัทเกมส์จะไม่สามารถให้บริการเยาวชนในเวลาตามที่กำหนดได้ รวมถึงจะต้องติดตั้งระบบ ที่สามารถยืนยันตัวตนคนที่เล่นเกมส์ได้ โดยกฏหมายก่อนหน้านี้เมื่อปี 2019 ได้บังคับให้เยาวชนเล่นเกมส์ได้วันละ 1.5 ชั่วโมงต่อวัน แต่ไม่มีกำหนดจำนวนวันที่เล่นได้ต่อสัปดาห์ รวมถึงสามารถเล่นเกมส์ได้ 3 ชั่วโมงต่อวันในช่วงวันหยุด

ขณะเดียวกัน กฏหมายดังกล่าวจาก สำนักงานสื่อและสิ่งพิมพ์แห่งชาติของจีน (NPPA) ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทางการจีนมุ่งกำราบยักษ์เทคของประเทศตัวเอง เหมือนที่สั่งระงับไอพีโอ ของบริษัทฟินเทค “แอนท์ กรุ๊ป” รวมทั้งโจมตี ยักษ์ไอทีระดับโลกอย่าง “อาลีบาบา” และ “เทนเซนต์” ด้วยข้อกล่าวหาว่าผูกขาด

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการเรียนของเด็กทั่วโลก ที่ต้องเปลี่ยนวิธี เป็นการเรียน
ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการเรียนในลักษณะดังกล่าวเป็นเวลานานอาจสร้างความเครียด และ เมื่อเลิกเรียนแล้วยังทำให้เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาอยูในโลกอินเตอร์ต่อไปอีก ทั้งการเล่นเกม และการดูรายการต่างๆ นานเกินไป ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจ้ต ของเด็กในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่าจะเกิดผลเสียต่อเยาวชนมาก

หากเปรียบเทียบกับเด็กในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นสถานการณ์น่ากังวลมาก โดยหนังสือพิมพ์ อาซาฮี รายงานข้อมูลจากกระทรวงการศึกษาญี่ปุ่นเผย อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กๆ ของญี่ปุ่น พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19

โดยพบว่า มีเด็กนักเรียนชั้นประถม-มัธยม ฆ่าตัวตายรวมทั้งสิ้น 415 คน หลังจากสถานการณ์โควิดทำให้ญี่ปุ่นต้องสั่งปิดสถานศึกษา และกระทบต่อการเรียนการสอนในห้องเรียนเมื่อปีที่แล้ว

ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 100 คนจากปีก่อนหน้า และถือเป็นจำนวนเด็กฆ่าตัวตายสูงที่สุดนับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มจดบันทึกสถิติเมื่อปี 1974 ทีเดียว โดยเป็นผลพวงจากโรคระบาดซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมในครอบครัวและโรงเรียนเปลี่ยนไป มีผลกระทบอย่างมากต่อสภาพจิตใจและพฤติกรรมของเด็กๆ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ จี 7 ซึ่งเป็น
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญของโลก

แม้ว่าตัวเลขการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่น ลดลงราวๆ 40% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2009 แต่ สถิติกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในปี 2020 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายเพราะเครียดจากปัญหาทางการเงินในช่วงโควิด-19

ดังนั้นผู้ปกครองต้องมีเวลาเอาใจใส่ดูแลเด็กใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ที่เด็กต้องเผชิญสร้างความเครียดสะสมให้กับเด็กและเยาวชน โดยรัฐบาลแต่ละประเทศ พยายามอย่างหนักในการแก้ไขปัญหาด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อให้เด็กๆ สามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้อีกครั้ง 

ที่มา : สำนักข่าวซินหัว  สำนักข่าวรอยเตอร์ส  CH3 Plus  Posttoday

ติดต่อโฆษณา!