คปภ. เผยยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดสูงถึง 9.43 พันล้านบาท อาจจะทะลุ 1 หมื่นล้านบาทในเร็วๆ นี้

คปภ. เผยยอดจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดสูงถึง 9.43 พันล้านบาท อาจจะทะลุ 1 หมื่นล้านบาทในเร็วๆ นี้
Highlight

คปภ. เปิดเผยยอดจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดจนถึงปัจจุบันกว่า 9.4 พันล้านบาท และอาจจะเกินหมื่นล้านบาทในเร็วๆนี้ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงเกินหมื่นรายต่อวัน โดย คปภ.ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิด ขอประชาชาชนอย่าตื่นตระหนก


สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ย้ำประกันภัยโควิดช่วยเยียวยาความเดือดร้อนแก่ประชาชนแล้วกว่า 9,428 ล้านบาท คปภ. คุมเข้มบริษัทประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกัน วอนขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยืนยันยังไม่พบความเสี่ยงเชิงระบบ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยเมื่อ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาว่า  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง ทำให้มีผู้เอาประกันภัยยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนปริมาณรายวันเป็นจำนวนมาก 

จากข้อมูลสถิติการรับประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 พบว่ามียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 11,250 ล้านบาท ขณะที่มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมถึง 9,428.63 ล้านบาท โดยในแต่ละเดือนมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสะสมเพิ่มขึ้นดังนี้

  • เดือนเมษายน  308.96  ล้านบาท 
  • เดือนพฤษภาคม 1,143.09 ล้านบาท 
  • เดือนมิถุนายน   2,050.49 ล้านบาท 
  • เดือนกรกฎาคม  3,996.22 ล้านบาท 
  • เดือนสิงหาคม  9,428.63 ล้านบาท

แม้อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อบางบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 แต่เบี้ยประกันภัยของอุตสาหกรรมประกันภัยตั้งแต่มีนาคม 2563- มิถุนายน 2564 มีเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบกว่า 340,230 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตกว่า 794,500 ล้านบาท โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งอุตสาหกรรมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบมีกว่า 340,230 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 3% ของเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งระบบ 

“ซึ่งจากการที่ทำการทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุด ยังไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบ สำหรับบริษัทประกันภัยบางบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง”ดร.สุทธิพล กล่าว

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ.มีการกำกับดูแลฐานะทางการเงินและการดำเนินการของบริษัททั้งการกำกับดูแลนอกที่ทำการบริษัทและการเข้าตรวจสอบที่ทำการบริษัท ควบคู่กับการออกออกมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

ณ เดือนสิงหาคม 64 ประกันภัยโควิด-19 ได้เข้าไปเยียวยาประชาชนถึงกว่า 9,428 ล้านบาทแล้ว และคาดว่าจะมีการเยียวยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงในเชิงระบบของธุรกิจประกันภัย 

ดร. สุทธิพล กล่าวว่า คปภ. จะกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและจะติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ หากมีการดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย พร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ 

ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยหลายแห่งเตรียมข้อเสนอไปยัง คปภ. เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่บรษัทประกันภัย เช่น การจัดตั้งกองทุนกลางขึ้นมาช่วยเหลือบริษัทประกันจ่ายสินไหมให้กับผู้เอาประกันที่ป่วยโควิด-19 เหมือนกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตอนเกิดสึนามิในปี 2547 รวมถึงอาจมีการผ่อนเกณฑ์ต่างๆให้กับบริษัทร่วมด้วย เช่น การไม่นำความเสียหายจากโควิด-19 มาพิจารณาการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง เป็นต้น

“สถานการณ์โควิด-19ระบาดในไทยเป็นวิกฤติ เหมือนกับสึนามิ ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ไม่มีบริษัทไหนคาดเดาได้ว่าจะสูงขนาดนี้ และการบริหารจัดการตอนนี้ทำได้ยากลำบาก  ในขณะที่ การทำรีอินชัวเรอส์ต่างประเทศก็ไม่รับความเสี่ยงโควิด-19ในไทย ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรม การตั้งกองทุนมาช่วยบริษัทประกันจ่ายสินไหม น่าจะเป็นทางออก ทำให้บริษัทประกันผ่านพ้นจ่ายสินไหมประกันโควิดผ่านพ้นในช่วงระยะสั้น 3-5 เดือนไปได้ซึ่งยอดเคลมมีโอกาสพุ่งทะลุหมื่นล้าน” แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรุงเทพธุรกิจ
 

ติดต่อโฆษณา!