เปิดประเทศ ตุลาคมนี้ เร็วไปหรือไม่?

เปิดประเทศ ตุลาคมนี้ เร็วไปหรือไม่?
Highlight
หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญช่วงนี้ก็คือเป้าหมายการเปิดประเทศของรัฐบาล ที่ตั้งใจไว้ว่าจะเปิดในเดือนตุลาคมนี้ อย่างในกรุงเทพฯเองก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดเมืองในวันที่ 15 ตุลาคม หรือเร็วกว่านั้น หากฉีดวัคซีนได้ครบ 70% ซึ่งทางหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าต้องการรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมาประคับประคองเศรษฐกิจ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ยังมีข้อกังวลว่า จะทำให้การระบาดกลับมาอีกครั้งหรือไม่ และไทยพร้อมแค่ไหนกับการเปิดเมืองในเดือนตุลาคม ทันข่าวToday นำเอามุมมองของฝั่งแพทย์มาฝากกันครับ


ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการเดินหน้าเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาไม่น่ากลัว เพราะทั่วประเทศก็เป็นสายพันธุ์นี้เกือบทั้งหมด ที่ห่วงคือสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

โดยการเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น เข้าใจว่า น่าจะเป็นการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจ แต่อยากให้นำบทเรียนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาประกอบพิจารณาด้วย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และหากยกเลิกมาตรการกักตัวหรือ Quarantine ก็น่าเป็นห่วง เพราะการทำแซนด์บ็อกซ์ หมายถึงการดำเนินการบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด ไม่เกิดผลกระทบวงกว้าง และสามารถยกเลิก หรือแก้ไขได้ แต่ถ้าเปิดทั้งประเทศ ผลกระทบอาจลุกลามได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์  กล่าวอีกว่า หากมองในทางวิชาการ การที่ไทยจะเปิดประเทศตามที่จะดำเนินการนั้น ถือว่าเปิดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เพราะการเปิดประเทศในต่างประเทศ หมายความว่า ประเทศนั้นมีการฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่สำหรับประเทศไทย ขณะนี้การเฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยังแค่ 38% เข็ม 2 เพียง 18%  เท่านั้น  หากต้องการความแน่นอนว่า เปิดจริงมีความปลอดภัย ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 60% และ เข็ม 2 ต้องได้ 40-50% แต่จะเร่งฉีดตอนนี้ ก็คงไม่ได้ ความจริงหากจะเปิดประเทศ รออีกสัก 1 เดือนก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมจริงๆ 

พร้อมกล่าวว่า “จากการนี้การทำงานของแพทย์ก็คงต้องกลับมาเหนื่อยกันอีก ยังแทบไม่ได้พักกันเลย ตอนนี้สิ่งที่ห่วงคือหากมีการกลับมาระบาดอีก เตียงผู้ป่วย เตียงไอซียูต้องเพียงพอ ไม่ควรต้องเผชิญกับเตียงไม่พออีก  และหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อวัคซีน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว  

แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับ คิดเห็นอย่างไร

ติดต่อโฆษณา!