คาดโควิดเลยจุดพีคไปแล้ว เล็งคลายล็อกดาวน์ แนะประชาชน ดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดสูงสุด โควิดจะเป็นเพียงโรคประจำถิ่น

คาดโควิดเลยจุดพีคไปแล้ว เล็งคลายล็อกดาวน์ แนะประชาชน ดูแลตนเองอย่างเคร่งครัดสูงสุด โควิดจะเป็นเพียงโรคประจำถิ่น
Highlight

สถานการณ์การติดเชื้อจากโควิด-19  ในประเทศเริ่มทรงตัวและเริ่มลดลงจากจุดพีค 23,000 คนต่อวัน เหลือ ประมาณ 17,000 คน เป็นสัญญาณที่ดี
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ(คกก.) เตรียมเสนอ ศบค.ผ่อนคลายการล็อกดาวน์ที่จะสิ้นสุดลง 31-สิงหาคมนี้ และแนวโน้มการเปิดประเทศใน 120 วัน ตามนโยบายรัฐบาลอาจเปิดได้ในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม เตือนประชาชนยังคงระมัดระวังในระดับสูงสุด เพราะโควิดอาจกลายพันธุ์ได้ทุกเมื่อ และเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญในเวลานี้


การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ(คกก.) เมื่อ 23-สิงหาคมที่ผ่านมา คาดสถานการณ์โควิดถึงจุดพีคไปแล้ว และรอประเมิน 3-4 วัน หลังสิ้นสุดล็อกดาวน์ 31 สิงหาคมนี้ อาจสามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ เนื่องจากการระบาดของโควิด กำลังเข้าสู่ภาวะกลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงต้องเตรียมมาตรการรองรับใช้ชีวิตร่วมกับโควิด ทั้งเพิ่มการฉีดวัคซีน การดูแลตนเองเคร่งครัดสูงสุดเสมือนคนติดเชื้อ
 
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8 / 2564 ว่า จากการสรุปสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 4 สัปดาห์ ที่ผ่านมาพบว่า แนวโน้มการระบาดยังพบผู้ป่วยติดเชื้อสูงแต่คงตัว และเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดน้อยลง จากอัตราพบผู้ป่วยสูงสุดที่ประมาณ 23,000 คน เหลือประมาณ 17,000 คนในขณะนี้
 
จากมาตรการต่างๆที่ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดก่อนหน้านี้ เช่น การล็อกดาวน์พื้นที่สีแดง สีแดงเข้ม การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกด้วย ATK การทำโฮม ไอโซเลชัน การฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเสี่ยงสูง เป็นต้น
 
ขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนไป 5-6 แสนโดสต่อวัน รวมการฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 27 ล้านโดส คนที่รับวัคซีนไปแล้ว 1 เข็ม เป็นจำนวนร้อยละ 28 ทั้งนี้มติต่างๆ ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะถูกนำไปเสนอ ศปก.ศบค.ต่อไป
 
ที่ประชุม ศกก. ได้มีการพิจารณา เรื่อง การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ภายใต้ มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน จากการระบาดของโควิดอยู่ในภาวะวิกฤติที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข แต่ต่อจากนี้ โควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น นายแพทย์โอภาสกล่าว
 
ในหลายประเทศเริ่มออกมาตรการแล้ว เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างปกติ โดยมีกลยุทธ์สำคัญ คือ
 
1. การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มเสี่ยงสูงอายุ และการพัฒนาหาวัคซีนให้ครบวงจร
 
2. การป้องกันโรคแบบครบวงจร Universal Prevention ป้องกันตนเองสูงสุดในทุกโอกาส คิดเสมอทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อ สอดคล้องกับมาตรการ D-M-H-T-T
 
3. การทำงานเชิงรุก CCRT มีทีมบูรณาการร่วมกันระหว่าง สาธารณสุข และท้องถิ่น เยี่ยมบ้านลงพื้นที่ มีการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรอง ATK และ..
 
4.ให้มีผู้แทนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อให้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร่วมรับรู้และร่วมดำเนินมาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัด
 
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบเดินหน้าการเปิดประเทศ 120 วัน ภายใต้การควบคุมโรคแนวใหม่ และเตรียมเสนอ ศบค. ต่อไป และเห็นชอบการควบคุมโรคแบบเฉพาะหรือ บับเบิลแอนด์ซีล ในบางพื้นที่เฉพาะ กรณีพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน เช่น ในโรงงาน
 
ดังนั้น สถานประกอบการต้องมีมาตรการที่เข้มข้น เพื่อไม่ต้องปิดโรงงาน และสามารถทำงานได้ ไม่เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง แต่เพิ่มกลไกการสื่อสารทำความเข้าใจ มีคู่มือ คำแนะนำ มีระบบพี่เลี้ยง ติดตามประเมินผล ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม แรงงาน มหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ เรื่องการแจ้งกำหนดวันเวลาสถานที่ ที่พาหนะจะเข้ามายังด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้ในด่านบก ด่านเรือ ด่านอากาศ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และเห็นชอบเพิ่มเติมผู้ที่จะเดินเข้ามาในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ผ่านการรับวัคซีนสปุตนิค วี ได้
 
การล็อกดาวน์ในรอบนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ หลังจากนี้ไป ตั้งแต่กันยายนถึงปีหน้า หากจะมีการเปิดคลายล็อกใช้ชีวิตปกติ จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน มีการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดด้วย ATK และต้องเคร่งครัดเรื่องการควบคุมตนเอง D-M-H-T-T และต้องมีการทำ บับเบิลแอนด์ซีล ควบคู่ในโรงงาน ตลาด แคมป์คนงาน ต้องร่วมมือกัน จึงจะทำให้เปิดหรือผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย
 
เพราะสถานการณ์โควิดขณะนี้ จากการประมวลการติดเชื้อ อัตราป่วย อัตราการตรวจค้นหา ผู้ที่มีอาการหนัก ผู้ที่เสียชีวิต คาดว่าสถานการณ์โควิดน่าจะ” “ถึงจุดพีคแล้ว”แต่ต้องรอดูสถานการณ์ไปอีก 3-4 วัน เพราะโควิดมีจุดเปลี่ยนหลายปัจจัย เช่น การระบาดของสายพันธุ์เดลตา ที่ทำให้สถานการณ์ทุกมุมโลกเปลี่ยนไป  อย่างน้อยที่สุดเป็นสัญญาณที่ดี และจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงได้ นายแพทย์โอภาส กล่าว
 
ส่วนประเด็นนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ไม่ได้หมายถึงการเปิดทั้งประเทศ แต่จะเป็นการเปิดในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม เช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ดังนั้น เป้าหมาย 120 วัน กระทรวงสาธารณสุข ยังรับนโยบายนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีตัวแปรก็ต้องพิจารณาอีกมาก เช่น ช่วงประกาศนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ยังไม่มีสายพันธ์ุเดลตามาระบาด ซึ่งในหลายประเทศเมื่อเจอสายพันธุ์นี้ ก็มีการกลับมาติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังต้องอยู่ในการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้เดิม

ติดต่อโฆษณา!