กรมอุตุฯ เตือน เตรียมรับมือ ! ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน พายุเข้าอ่าวเบงกอล

กรมอุตุฯ เตือน เตรียมรับมือ ! ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน พายุเข้าอ่าวเบงกอล
20240523-b-01.jpg
กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 44 จังหวัดรับมือฝนตกหนัก ร้อยละ 80 ของพื้นที่ รวมกรุงเทพมหานคร ระวังอันตราย น้ำท่วมฉับพลัน - น้ำป่าหลาก
.
วันที่ 23 พ.ค.67 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน
.
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
.
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
.
ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
.
ทั้งนี้ หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่างมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน ในช่วงวันที่ 23 - 24 พ.ค. 67 และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียและประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 25 – 26 พ.ค. 67
.
โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่จะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น
.
🚩 พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันนี้ ถึงเวลา 06.00 น.วันพรุ่งนี้

🔸 ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 - 38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 15 กม./ชม.
🔸 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 - 33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม.
🔸 ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และพระนครศรีอยุธยา อุณหภูมิต่ำสุด 24 - 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 - 34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม.
🔸 ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 25 - 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 - 34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
🔸 ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร อุณหภูมิต่ำสุด 24 - 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34 - 37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร, ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
🔸 ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง อุณหภูมิต่ำสุด 24 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34 - 36 องศาเซลเซียส
🔸 ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
.
🔸กรุงเทพและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม

🚩 ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 20 พ.ค - กลางเดือน ต.ค. 2567

กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67 โดยคาดว่าฤดูฝนจะสิ้นสุดกลางเดือน ต.ค. 67 ในขณะที่ภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ม.ค. 68
.
สำหรับการคาดหมายฤดูฝนของประเทศไทย ปี 67 ปริมาณฝนรวมในช่วงฤดูฝนของทั้งประเทศในปีนี้จะใกล้เคียงค่าปกติ และใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (ปี 66 ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 1%) โดยคาดการณ์ในแต่ละช่วงเดือน ดังนี้
.
👉 ช่วงปลายเดือน พ.ค. - กลางมิ.ย. : ฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง ฝนตก 40 - 60% ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตก 60 - 80% ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง
.
👉 ช่วงกลางเดือน มิ.ย. - กลางก.ค. : ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน
.
👉 ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. : ฝนตกชุกหนาแน่น ฝนตก 60 - 80% ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่
.
👉 ช่วงเดือน ต.ค. : บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนลดลง และเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค ส่วนบริเวณภาคกลาง 
.
👉ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และหนักมากในบางแห่ง
.
👉 สำหรับฤดูฝนปีนี้ คาดว่า พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1 - 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือนส.ค. หรือ ก.ย.

🚩 วิทยุการบินฯ เตรียมมาตรการรับสภาพอากาศแปรปรวนช่วงฤดูฝน
.
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เผยขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน บวท. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ ได้เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ โดยได้ออกมาตรการรองรับสภาพอากาศแปรปรวน จากพายุฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนัก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบิน ซึ่งส่งผลต่อทัศนวิสัยทางการบิน และเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางบิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสารและอากาศยาน
.
โดย บวท.ได้ประสานและติดตามข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาการบินอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของข้อมูลพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า และการรายงานข้อมูลสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อนำมาวางแผนการจัดการจราจรทางอากาศ รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น 
.
พร้อมได้กำหนดวิธีปฏิบัติการให้บริการจราจรทางอากาศ หรือ Standard Operating Procedures (SOPs) กรณีอากาศยาน ในการควบคุมขอบินหลบสภาพอากาศ (Weather Deviation) การบินวนรอให้สภาพอากาศดีขึ้น หรือการขอเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังสนามบินสำรอง โดยได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศทุกคน ให้ตระหนักรู้ในสถานการณ์ (Situation Awareness) ตลอดเวลา พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่อากาศยาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางการบินสูงสุด
.
นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินในทุกสถานการณ์ เช่น กรณีเครื่องบินขอลงจอดฉุกเฉิน บวท.จะเป็นด่านแรก ที่ได้รับการติดต่อจากนักบิน การช่วยเหลือกรณีอากาศยานประสบเหตุฉุกเฉิน จากสภาพอากาศเลวร้าย เช่น การบินวนรอสภาพอากาศจนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือน้อย (Minimum Fuel) การบินตกหลุมอากาศ/อากาศแปรปรวน (Severe Turbulence) จนทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ หรืออากาศยานประสบเหตุฉุกเฉินอื่นใด
ติดต่อโฆษณา!