15 กุมภาพันธ์ 2567
668

คปภ. ห่วงธุรกิจประกันภัย แนะระมัดระวังการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เสี่ยงซ้ำรอย “โควิด”

คปภ. ห่วงธุรกิจประกันภัย แนะระมัดระวังการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เสี่ยงซ้ำรอย “โควิด”


สมาคมประกันวินาศภัย เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2567 นี้จะมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าขาย (EV) ได้มากถึง 100,000 คัน ซึ่งการทำประกันจะมาควบคู่กัน นับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมรถ EV และประกันภัยรถ EV

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คปภ.มีความห่วงใยในหลายประเด็นที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม 

คปภ.จึงได้ร่วมมือกับธุรกิจประกันภัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาโดยเฉพาะ ภายใต้ชื่อ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า : Battery Electric Vehicle (BEV) ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า 


โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้จัดการประชุมชี้แจงแนวปฏิบัติสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดมาตรฐานในทางปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม โรงแรมอัศวิน กรุงเทพฯ 

โดยที่ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกภาคส่วนยังต้องเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏในบางประเทศได้พบปัญหาจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 

จากตัวอย่างสถานการณ์ในประเทศเกาหลีใต้ที่ยอดจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มปรับตัวลงลดครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากปัญหาความกังวลเกี่ยวกับแบตเตอรี่เกิดไฟลุกไหม้ จำนวนของสถานีชาร์จแบบชาร์จเร็วยังมีจำนวนน้อย และราคาของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาค่อนข้างสูง 

หรือกรณีในประเทศสหรัฐอเมริกาที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายหนึ่งมีการเรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนกว่า 2 ล้านคัน เนื่องจากพบว่ามีความบกพร่องเกี่ยวกับระบบช่วยขับอัตโนมัติ (Autopilot) และอาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

“จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน คปภ. จึงแนะนำให้บริษัทประกันภัยใช้ความระมัดระวังในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การพิจารณารับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่แท้จริง และการเคลม” นายอาภากร ระบุ 

▪️ รถยนต์ไฟฟ้ามีข้อปฏิบัติแตกต่างจากรถยนต์สันดาปในหลายส่วน เช่น

- ข้อระวังเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ระบบสั่งการ และระบบไฟฟ้า   

- ระยะเวลาการเคลมที่ขณะนี้ยังพบว่ามีระยะเวลาค่อนข้างนาน

- การเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งระบบไอที และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท

- การบริหารความเสี่ยงสำหรับการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า 

โดยหากพบความสุ่มเสี่ยงจากการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทประกันภัย สำนักงาน คปภ. อาจกำหนดให้บริษัทที่จะรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมี “การแสดงแผนบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม” ตามหลักการที่สำนักงาน คปภ. จะมีการกำหนดใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นใหม่ในเร็ว ๆ นี้ ด้วย” นายอาภากร ระบุ



ติดต่อโฆษณา!