11 กุมภาพันธ์ 2567
340

รู้ทัน “โจรหลอกให้รัก” รับวาเลนไทน์ ปี 67

รู้ทัน “โจรหลอกให้รัก” รับวาเลนไทน์ ปี 67 จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ AOC 1441) เมื่อวันที่ 1-5 มกราคม 2567 พบว่า หลังปีใหม่มาเพียงห้าวันแรก คดียอดนิยมจากแก๊งมิจฉาชีพ ทำประชาชนชาวไทยสูญเงินรวมมากกว่า 28 ล้านบาท

“คดีหลอกให้รัก” เป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนมากที่สุด เป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 22-26 มกราคม 2567 แม้คดีหลอกให้รักจะไม่ติดโผ 5 อันดับคดียอดนิยมจากมิจฉาชีพก็ตาม แต่เมื่อดูภาพรวมในปี 2566 คดีหลอกให้รักก็มีสถิติการเกิดขึ้น ติดอันดับขึ้นๆ ลงๆ สลับกับการถูกหลอกลงทุน หรือการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ซึ่งตลอดทั้งปี 2566 ตำรวจสอบสวนกลางก็ได้จัดให้ “คดีหลอกให้รัก” ถือว่าโดดเด่น ไม่แพ้คดีอื่นๆ 

ย้อนสถิติไปเมื่อเดือนมกราคม 2566 เพียงเดือนเดียว ก็เคยทำสถิติมีคดีมากถึง 403 คดี สร้างความเสียหายไปกว่า 190 ล้านบาท โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่แอบแฝงในโลกออนไลน์ ที่มักจะใช้ความรักหรือความอ่อนไหวของเป้าหมายมาหลอกลวง เพื่อหวังต่อทรัพย์บ้าง หรือในบางครั้งก็นำไปสู่การทำร้ายร่างกาย

มาดูวิธี กลยุทธ์โจรออนไลน์ ใช้วิธีไหนหลอกให้บางคนคลั่งรัก โอนทรัพย์สิน เงิน-ทองให้จนแทบหมดเนื้อหมดตัว โดยเฉพาะช่วงพีค “วันแห่งความรัก” 

▪️ รู้จัก “Romance Scams” วิธีหลอกลวงให้รัก 

🔸 หลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance scam) ด้วยการสร้างเรื่องราวต่างๆ ที่ให้ความหวังหรือน่าเห็นใจ
🔸 หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ปลอมด้วยการโอนเงินหรือลงทุนในรูปแบบ สินทรัพย์ดิจิทัล
🔸 หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท (Remote access scam) ควบคุมสมาร์ทโฟนและทำการดูดเงินในบัญชี
🔸 หลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ แล้วนำภาพหรือวิดีโอมาขู่เรียกค่าไถ่ หรือบีบบังคับให้กระทำการอื่นๆ

▪️ 3 ข้อสังเกตโจรหลอกให้รัก

🔸 ใช้รูปโปรไฟล์ของคนหน้าตาดี

มิจฉาชีพมักจะสร้างตัวตนปลอม โดยใช้รูปโปรไฟล์ที่หน้าดึงดูด คุยเก่งอัธยาศัยดี มีประวัติที่น่าสนใจ เราจึงควรตรวจสอบ ยืนยันตัวบุคคลที่เราคุยด้วยทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ชัดเจนในหลากหลายช่องทาง 

💥 ข้อควรระวัง หากมีการขอให้เปลี่ยนช่องทางในการคุย โดยการแนะนำให้ดาว์นโหลดแอปพลิเคชัน หรือกดลิงค์ไม่ทราบที่มาที่ไปชัดเจน ห้ามกดเด็ดขาด เพราะอาจเป็นแอปรีโมทที่สามารถดูดเงินให้บัญชีของเราได้

🔸 หลอกขายฝัน

มิจฉาชีพมักจะแสร้งว่ามีความรักความปรารถนาดีให้ และทำการแนะนำให้ทำการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต หรือหลอกว่าจะมาใช้ชีวิตหรืออนาคตด้วยกัน

💥 ข้อควรระวังหากคนที่กำลังคุยทางออนไลน์ มีการชักชวนให้ทำการลงทุนผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ หรือขอความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าภาษีของมีค่าของขวัญที่ส่งมาให้ ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อน

🔸 ลวงเอาข้อมูลส่วนตัว

มิจฉาชีพมักจะคุยและหลอกล่อให้เราเผยข้อมูลส่วนตัว หรือส่งเอกสารสำคัญให้ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดและสร้างความเสียหาย

💥 ประชาชนต้องระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวทางสื่อสังคมออนไลน์ การเช็คอิน การเปิดเผยกิจวัตรประจำวันที่มากเกินไป และไม่ส่งรูปภาพ คลิปวีดีโอ หรือการวีดีโอคอล ในลักษณะโป๊เปลือย ที่อาจนำไปสู่การแบลกเมล์เรียกค่าไถ่ รวมถึงระมัดระวังการนัดพบกับคนคุยออนไลน์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน อยู่เสมอ

▪️ 5 อุบายหลอกลวงเหยื่อ

นอกจากจะสามารถเช็กพฤติกรรมของเหล่ามิจฉาชีพข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 5 อุบายที่พวกเขามักใช้เพื่อหลอกลวงเหยื่อ หากใครกำลังเจอแบบนี้อยู่ ให้ตั้งสมมติฐานเอาไว้ก่อนว่าเขาอาจเป็นมิจฉาชีพ

1.หลอกว่าจะมาแต่งงานที่เมืองไทย ส่งทรัพย์สินมาให้แต่ต้องชำระค่าภาษีก่อน
2.หลอกว่าตัวเองหรือญาติป่วยแต่ประกันยังเบิกจ่ายไม่ได้
3.หลอกว่าได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาลแต่ต้องชำระภาษี
4.หลอกว่าส่งสิ่งของราคาแพงมาให้แต่ติดอยู่ที่ด่านต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน
5.หลอกว่าเป็นนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยและต้องการให้ร่วมทุนด้วย

▪️ หากตกเป็นเหยื่อต้องทำอย่างไร

หากรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อแล้ว ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน หรือภาพที่พูดคุยกับคนร้ายผ่านช่องทางต่างๆ เอาไว้ รวมถึงเก็บชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ และข้อมูลคนร้ายไว้ให้มากที่สุด จากนั้นนำไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ที่มา :
https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/216474
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/general-knowledge/535315
ติดต่อโฆษณา!