ไทยรั้งอันดับ 51 การเติบโตในอนาคตของโลก

ไทยรั้งอันดับ 51 การเติบโตในอนาคตของโลก




20240123-b-01.jpg

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานอนาคตการเติบโต “The Future of Growth Report 2024” ซึ่งทำการสำรวจและวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคตของประเทศต่าง ๆ ครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51

อันดับ 1 ประเทศสวีเดน

อันดับ 2 สวิสเซอร์แลนด์

อันดับ 3 ฟินแลนด์,และเดนมาร์ก

ในแถบเอเชีย ญี่ปุ่นนำโด่งในลำดับที่ 11 ตามด้วยเกาหลี อันดับที่ 12 และสิงคโปร์ อันดับที่ 16 ในขณะที่มาเลเซียอยู่ลำดับที่ 31 เวียดนาม อันดับที่ 36 อินโดนีเซีย อันดับที่ 50 และไทยลำดับ 51 


มาดูกันว่าคะแนนรวมที่ถ่วงน้ำหนักทั้ง 4 มิติแห่งการเติบโตของประเทศ ประกอบไปด้วย  อะไรบ้าง 

1. ด้านนวัตกรรม หรือ Innovativeness  มีคะแนนเท่ากับ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบนที่ 39.3 สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

2. ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Inclusiveness ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 55.9 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบนที่ 54.8 แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรม และรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

3. ด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability  คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 46.8 และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ที่ 44.0 จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

4. ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว หรือ Resilience ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 52.75 เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบนที่ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนอง และฟื้นฟูจากวิกฤติต่างๆ ได้บพอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป


20240123-b-02.jpg

นายวิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ระบุว่า ประเทศไทยควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถในทุกด้าน แม้ว่าด้านนวัตกรรมจะทำได้ดี แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของการเติบโตของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

“การนำเสนอรายงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นข้อมูลระดับประเทศ ที่ช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย และทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศจาก 4 มิติ ที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ”

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะลดลงสู่อัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษภายในปี 2030 ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ทำให้เกิดความท้าทายระดับโลกที่รุนแรงขึ้น 

รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสัญญาทางสังคมที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา ดังนั้น การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพของประเทศต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อการรับมือกับความท้าทายที่หลากหลายนี้



ติดต่อโฆษณา!