UNESCO ประกาศให้ “สงกรานต์ไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

UNESCO  ประกาศให้ “สงกรานต์ไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ลำดับที่ 4 อย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธ.ค.

โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมไทยมาแล้ว ดังนี้ 

ปี 2561  “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand)  
ปี 2562  “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage)
ปี 2564  “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยแสดงความยินดี พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจากทั่วโลก ที่จะเดินทางมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย และขอเชิญชวนประชาชนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี และรักษาประเพณีอันงดงามให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป 

สอดคล้องกับการประกาศผ่านเฟสบุ๊ค ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เมื่อ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา โชว์งานซอฟต์เพาเวอร์ จัดสงกรานต์ปี 67 ทั้งเดือนเมษายน  

น.ส.แพทองธาร ระบุว่า “แผนงานปีหน้า เริ่มแล้วค่ะ ประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เมื่อวานนี้ ทั้ง 12 คณะ จาก 11 อุตสาหกรรม ได้เสนองบประมาณเพื่อเตรียมดำเนินการในปีหน้า โดยหลังจากนี้เราจะเสนองบประมาณตามลำดับขั้นตอนต่อไป และอีกหนึ่งเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้น คือแผนงานใหญ่ปีหน้า วันสงกรานต์จะไม่ใช่แค่เทศกาลแบบในอดีตที่ผ่านมา แต่เราจะจัดงานใหญ่ มหาสงกรานต์ World Water Festival-The Songkran Phenomenon”

”เราจะปักหมุดให้สงกรานต์ในไทยปีหน้า เป็นเทศกาลที่คนทั้งโลกต้องบินมาเล่นที่บ้านเรา และสงกรานต์ปีหน้า เราจะไม่เล่นน้ำแค่ 3 วันนะคะ แต่จะจัดงานกันทั้งเดือน ทยอยจัดกันทั้งประเทศ 77 จังหวัด เตรียมวางแผนกันได้เลยนะคะว่าสัปดาห์ไหนของเดือนเมษายน อยากจะไปเล่นน้ำสงกรานต์กันที่จังหวัดไหนค่ะ มาร่วมกันทำให้สงกรานต์บ้านเรา เป็นเทศกาลที่ทั่วโลกต้องปักหมุดมาเล่นน้ำที่บ้านเรา และทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลกค่ะ” น.ส. น.ส.แพทองธาร ระบุ 

▪️ ประวัติวันสงกรานต์ของไทย

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่มีความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกัน โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี
ตามคติโบราณที่สืบทอดกันมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบัน ถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยปกติกำหนดวันสงกรานต์ไว้ ๓ วัน วันแรกเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่ ๒ เป็นวันเนา และวันที่ ๓ เป็นวันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช) 
          
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา วันมหาสงกรานต์จะตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน เพราะการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์นั้น วันมหาสงกรานต์จะเลื่อนไป ๑ วันทุก ๆ ๖๐ ปีเศษ 
          
ปฏิทินหลวงในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศกยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ ๑๕ เมษายน และบางปีเป็นวันที่ ๑๖ เมษายน

▪️ ตำนานวันสงกรานต์

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์มาแต่สมัยโบราณว่า ท้าวกบิลพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนัน ธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ ๗ ขวบ ที่เรียนจบพระคัมภีร์ไตรเพท ด้วยปัญหา ๓ ข้อ คือ ในเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง 

จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรง หากวางบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง 

จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง ๗ นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเช่นนี้ประจำทุกปี ธิดาทั้ง ๗ นางนั้น มีชื่อต่าง ๆ กัน แต่รวมเรียกว่า นางสงกรานต์ทั้งสิ้น คือ

๑. นางสงกรานต์ทุงษะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ๒. นางสงกรานต์โคราคะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

๓. นางสงกรานต์รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)

๔. นางสงกรานต์มณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

๕. นางสงกรานต์กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

๖. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ)

๗. นางสงกรานต์มโหธรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

▪️ ประเพณีสงกรานต์ของไทย

ประเพณีสงกรานต์ นับเป็นประเพณีหนึ่งที่มีคุณค่าและความสำคัญทางวัฒนธรรมที่จะแสดงถึงความรัก ความผูกพันในครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และบรรยากาศของความกตัญญู ความเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม วิกิพีเดีย ระบุว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีวัฒนธรรมที่คล้ายๆกันนี้ และเรียกชื่อต่างกันออกไป แต่สงกรานต์ที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด
ติดต่อโฆษณา!