ข่าวดี ! ครม. เคาะลดหย่อนภาษี 50,000 บาท ธุรกิจค้าปลีกคึกคัก

ข่าวดี ! ครม. เคาะลดหย่อนภาษี 50,000 บาท ธุรกิจค้าปลีกคึกคัก

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีมติเห็นชอบมาตรการ “Easy e-Receipt” ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท 

โดยที่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 2567 รวมเวลา 46 วัน

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจห่วง คนอาจรอ ไม่จับจ่ายช่วงปลายปี ช่วงเวลาไม่เหมาะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหวั่นไม่ได้อานิสงส์ ส่วนโบรกเกอร์ คาดช่วยปลุกเงินสะพัด 1 - 2 แสนล้าน ดันจีดีพีโต 0.54 - 1.09%

สำหรับการลดหย่อนภาษี จะต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ยกเว้นการซื้อสินค้าหรือบริการ 3 รายการ ที่ไม่ต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่จด VAT ก็ได้ ประกอบด้วย 

1) ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร

2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ 

3) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ซึ่งต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ด้วยเช่นกัน

“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์”

สำหรับค่าสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถหักลดหย่อนได้ จะไม่รวมถึง

- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์  
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 

ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนและหลังช่วงเวลาที่ดำเนินมาตรการ และ  ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

“รอบนี้พวกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบินต่าง ๆ สามารถใช้ได้ ถ้าเข้าตามเงื่อนไข คือ ผู้ประกอบการมีการออกใบกำกับอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งช่วงนี้กรมสรรพากรก็มีการเปิดให้ผู้ประกอบการมายื่นได้” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวโดยจากธุรกิจค้าปลีกระบุว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และควรกำหนดระยะเวลาสัก 3 - 4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม-สงกรานต์ เป็นช่วงกลุ่มมีกำลังซื้อจะมีการจับจ่ายสูง รวมทั้งมีการเดินทางท่องเที่ยวด้วย

นายอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า ทั้งแบรนด์และดีลเลอร์ต่างกังวลว่าการเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นในช่วงต้นปี 2567 อาจกระทบกับการจับจ่ายช่วงท้ายปี 2566 เนื่องจากผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อเพื่อไปเข้าร่วมโครงการ 

โดยก่อนหน้านี้ดีลเลอร์หลายรายต่างคาดการณ์ว่า ช่วงปลายปี 2566 นี้มีโอกาสที่ตลาดจะคึกคักมากกว่าปี 2565 เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวน้อยกว่าปีที่แล้ว

นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการ Easy e-Receipt ที่ ครม. เห็นชอบ น่าจะเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกทั้งหมด แต่จะส่งผลดีมากกว่าต่อบริษัทที่ขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่าสินค้าจำเป็น และจากวงเงินค่าใช้จ่ายต่อร้านที่ค่อนข้างสูง และกรอบระยะเวลาการใช้จ่ายเพียง 1 เดือนครึ่ง หุ้นที่น่าจะได้อานิสงส์มากที่สุด อาทิ COM7, HMPRO, CRC, CPN เป็นต้น

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า โครงการนี้ในภาพรวมจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีที่มีความคล้ายคลึงกับมาตรการที่ผ่านมาอย่างช้อปดีมีคืน ช็อปช่วยชาติ ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว โครงการที่ผ่านมาให้วงเงินลดหย่อนภาษี 40,000 บาท ขณะที่โครงการใหม่นี้ให้วงเงิน 50,000 บาท ทั้งนี้ 

คาดว่าจะช่วยให้เกิดเงินสะพัดได้ราว 100,000 - 200,000 ล้านบาท และมีผลต่อจีดีพี ประมาณ 0.54 - 1.09%


ที่มา : www.rd.go.th/27659.html, prachachart.net,
Asia Plus Securities, Maybank Secunities
ติดต่อโฆษณา!