11 พฤศจิกายน 2566
491

รถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเปิดให้นั่งฟรี ปลายเดือน พ.ย. ให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้เดือน ธ.ค.

รถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเปิดให้นั่งฟรี ปลายเดือน พ.ย. ให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้เดือน ธ.ค. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนต.ค.66) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 98.30 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 99.24 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 98.78 

โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงปลายเดือนพ.ย.66 นี้ และคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธ.ค.66

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นโครงการฯ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม
โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการ

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี ประกอบด้วย

สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา3 สถานีลาดปลาเค้า

สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี 

โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่

• รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 

• สถานีมีนบุรี รถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) 

• สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต 

• สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีการกำหนดค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท เฉลี่ยสถานีละ 1.50 บาท

โดยช่วงเปิดทดลองใช้ฟรี คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 7-8 หมื่นคน/วัน หรืออาจจะถึง 1 แสนคน/วัน แต่เมื่อเปิดบริการเชิงพาณิชย์ และจัดเก็บค่าโดยสารแล้ว คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นคน/วัน 

ส่วนการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ขณะนี้มีความคืบหน้า 40% จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2568

อย่างไรก็ตาม บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) พร้อมเข้าร่วมกับนโยบายของภาครัฐภายใน 2 ปีนี้ หรือปี 68 แน่นอน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ถูกลง ส่วนการต่อเชื่อมระหว่างระบบแต่ละสายทางนั้นหากเข้าร่วมนโยบาย ประชาชนก็จะไม่เสียค่าแรกเข้าในแต่ละระบบเช่นกัน

ส่วนกรณีการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสถานีหมอชิต-คูคต ที่จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทจากเดิมให้ประชาชนนั่งฟรีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม Trial Run รถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เมื่อ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบบการเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดเส้นทาง
ติดต่อโฆษณา!