ผลสำรวจชี้ความนิยม “ไบเดน” ร่วงใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ผลสำรวจชี้ความนิยม “ไบเดน” ร่วงใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
Highlight

ระดับความนิยมในตัวผู้นำสหรัฐฯ ลดต่ำลงจนใกล้ถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ โจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดีมา โดยประเด็นสำคัญ ที่ทำให้ค่านิยมลดลงคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ทำได้ช้า โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง ระบบการเงินที่ไม่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นล่าสุดยังลุกลามไปสู่ยุโรปและสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยยังคงเป็นนโยบายที่ดำเนินต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ผลการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันโดย AP-NORC ครั้งล่าสุดพบว่า ระดับความนิยมในตัวผู้นำสหรัฐฯ ลดต่ำลงจนใกล้ถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ โจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดีมา โดยประเด็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจคือ จุดที่เป็นปัญหามากที่สุดในสายตาผู้ตอบแบบสอบถาม

  • คะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดน ร่วงลงต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว จนใกล้แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำประเทศมา ขณะที่ รัฐบาลกรุงวอชิงตันพยายามยืนยันต่อประชาชนว่า เศรษฐกิจและภาคการเงินของประเทศมีเสถียรภาพ แม้จะเกิดเหตุล้มครืนของสถาบันการเงินเมื่อเร็ว ๆ นี้และภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

  • ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักข่าวเอพี และ NORC Center for Public Affairs Research ระบุว่า ความนิยมในตัวปธน.ไบเดนนั้นมีความผันผวนพอควรในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

  • ในเดือนล่าสุด คะแนนความนิยมในตัวผู้นำสหรัฐฯ อยู่ที่ 38% ซึ่งเป็นการปรับลดจากระดับ 45% ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ดีขึ้นจากระดับ 41% ในเดือนมกราคม โดยคะแนนต่ำสุดที่ไบเดนได้รับคือ 36% ที่บันทึกไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน อาหารและต้นทุนค่าใช้จ่ายครัวเรือนอื่น ๆ ที่พุ่งสูง

  • ทีมงานสำรวจสอบถามผู้ร่วมงานวิจัยและพบว่า เมื่อพูดถึงปธน.ไบเดน ประชาชนมีความรู้สึกที่ผสมปนเปกัน แต่โดยทั่ว ๆ ไป ไม่ได้มีความรู้สึกเกลียดสุด ๆ หรือชอบสุด ๆ แม้ในภาวะการเมืองที่มีความแตกแยกสูงเช่นในปัจจุบัน

  • อย่างไรก็ดี การสำรวจครั้งนี้ที่จัดทำระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคมพบว่า มีประชาชนเพียง 31% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปธน.ไบเดน ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำว่า นี่เป็นหนึ่งในจุดอ่อนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่างน้อยนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นมา

  • ในครั้งนี้ มีเพียง 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันเท่านั้นที่มองว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่ดีและกำลังก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะที่ 39% พอใจในนโยบายต่างประเทศ และ 41% ยอมรับนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของไบเดน

  • นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีว่า มีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และสามารถทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง (soft landing) ได้

  • นางกอร์เกียวาระบุว่า ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงฟื้นตัวและอุปสงค์ของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อก็ตาม โดยสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีจากการซื้อสินค้าส่วนเกินซึ่งส่งผลกดดันราคา กลับไปสู่อุปสงค์ด้านบริการ และมีการเติบโตที่หลากหลายมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

  • ธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2566 จะอยู่ที่ 0.5% จากอัตราการเติบโตของปี 2022 ที่อยู่ที่ 2.5% ส่วนยุโรป คาดการณ์ว่าจะไม่มีการเติบโตของ GDP เลย ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหม่ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี หลังจากเกิดครั้งล่าสุดนี้

  • ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประสบปัญหา เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง และตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำเติมวิกฤตก่อนหน้า

  • นายลอยด์ แบลงค์ไฟน์ อดีตซีอีโอของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (19 มี.ค.) ว่า วิกฤตธนาคารในสหรัฐนั้นจะกระตุ้นให้เกิดการคุมเข้มด้านการปล่อยสินเชื่อโดยรวม จนชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

  • ทั้งนี้ นายแบลงค์ไฟน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ว่า “แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ต้องมีการดำเนินการคล้ายคลึงกับการขึ้นดอกเบี้ย โดยธนาคารจำเป็นต้องสร้างความสมดุล ท่างกลางแรงกดดันและความไม่แน่นอน โดยต่อไปธนาคารจะนำเงินฝากของลูกค้าไปปล่อยกู้น้อยลง ซึ่งการปล่อยสินเชื่อน้อยลงนั้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว ดังนั้นก็เท่ากับธนาคารพาณิชย์ช่วยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำภารกิจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

  • หุ้นกลุ่มการเงินสูญเสียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ล้มเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยประธานาธิบดีไบเดนกล่าวเมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) ว่า วิกฤตการณ์ธนาคารสงบลงแล้วและเงินฝากของชาวอเมริกันนั้นปลอดภัยดี

  • ขณะที่ นายแกรี โคห์น ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และเป็นอดีตประธานของโกลด์แมน แซคส์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสนิวส์ว่า ขณะนี้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

  • ทั้งนายโคห์นและนายแบลงค์ไฟน์ต่างคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมสัปดาห์นี้ แต่เฟดอาจต้องระงับการขึ้นดอกเบี้ยและประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลังจากนั้น

  • วิจัยกรุงศรี ประเมินวิกฤต วิกฤตธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) สร้างความวิตกต่อภาคการเงินและเพิ่มความเสี่ยงที่อาจเกิดเป็น Domino Effects

 

  • อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่นและคุ้มครองเงินฝากให้กับกลุ่มผู้ฝากเงินของ SVB เต็มจำนวน รวมถึงการที่เฟดประกาศจัดตั้งโครงการ Bank Term Funding Program ขนาด 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถนำพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้มาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการแลกเงินได้เต็มจำนวน (ไม่ถูกกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น) เพื่อปกป้องธนาคารต่างๆ ไม่ให้เผชิญความเสี่ยงเดียวกับ SVB และป้องกันผลกระทบที่จะนำไปสู่การเกิด Domino Effectsในวงกว้าง

  • ทั้งนี้วิจัยกรุงศรีประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิดจากวิกฤตความเชื่อมั่นและความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปสู่เศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งส่งผลให้เฟดลดความแข็งกร้าวเรื่องทิศทางดอกเบี้ย

  • ล่าสุดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 25bps ในการประชุมเมื่อ 22 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา สู่กรอบ 4.75-5.00%

 

 

ที่มา : AP, VOA




ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!