รู้หรือไม่..สารกัมมันตรังสีจากซีเซียม 137 อาจอันตรายถึงแก่ชีวิต !!

รู้หรือไม่..สารกัมมันตรังสีจากซีเซียม 137  อาจอันตรายถึงแก่ชีวิต !!
Highlight

วัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายไปอย่างน้อย 10 วัน และต่อมามีการค้นพบ ที่โรงถลุงเหล็ก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และถูกประเมินว่า "ถูกถลุง" ไปหมดแล้ว สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าสารกัมมันตรังสีอาจรั่วไหลออกมา ทั้งที่ฟุ้งกระจายในอากาศ หรือมีส่วนผสมไหลลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งมีอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพ เบื้องต้นทางจังหวัดปราจีนบุรีชี้แจงว่ายังไม่พบฝุ่นปนเปื้อน และยังไม่พบผู้ป่วย ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุถึงอันตรายจากสารกัมมันตรังสีหากเข้าสู่ร่างกาย มีผลต่อ DNA และทำให้เกิดโรคมะเร็ง

จากกรณีที่วัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายไปอย่างน้อย 10 วันและต่อมามีการค้นพบ และถูกประเมินว่า "ถูกถลุง" ไปหมดแล้ว ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ไม่ปฏิเสธว่า "ซีเซียม-137 ถูกหลอมจริง"

  • ในเรื่องนี้สร้างความกังวลกับประชาชนทั่วไป เนื่องจากยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจนว่าหลังมีการถลุงแร่ซีเซียม-137 (เศษซาก) ได้ถูกส่งต่อมายังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งแล้วนั้น สารได้แพร่ฟุ้งกระจายไปในอากาศ ตกหล่น ลงไปในแหล่งน้ำใดบ้าง และมีอันตรายขนาดไหน

  • จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวช่อง 3 โดยเปิดเผยว่าโรงงานที่ถลุงซีเซียม-137 เป็นโรงถลุงเหล็ก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี "บริษัทฯ รับซีเซียม-137 มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว" แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารับมาจากที่ไหน แต่สิ่งที่ต้องตามต่อ คือ ทางโรงงานที่ถลุงดังกล่าว ได้ขออนุญาตส่งฝุ่นแดงไปรีไซเคิลที่โรงงานไหนแล้วบ้าง

  • บีบีซีไทยสรุปใจความสำคัญจากการแถลงข่าวจากกรณีดังกล่าว มีดังนี้
  1. ไม่พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่ถูกส่งไปรีไซเคิลที่ จ.ชลบุรี ตามที่สื่อหลายสำนักรายงาน
  2. ทางการได้ปิดล้อมโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 แล้ว และไม่มีการปนเปื้อนไปยังสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
  3. ยังไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137
  4. ยังไม่ยืนยันว่า ฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ที่พบนั้น มาจากวัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำในปราจีนบุรีหรือไม่

  • รายงานจากองค์การอนามัยโลก ชี้ว่าซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น หรือง่ายๆ ก็คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระเบิดปรมาณูครับ

  • สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกัมมันตภาพรังสีจากซีเซียม 137 จะทำลาย DNA ทำให้ เซลล์กลายพันธุ์ หรือ ตายจนเนื้อเยื่อเน่าได้ ส่วนละอองที่แพร่กระจายจะมีฤทธิ์ลดลงเรื่อยๆ (ยิ่งอยู่ห่างนิ่งเป็นอันตรายน้อยลง)

 

แล้วละอองที่แพร่กระจายมากแค่ไหนถึงต้องกังวล ?

  • โดยหากเทียบกับเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะระเบิด เมื่อปี 2011 นั้น เกิดละอองซีเซียม 137 กระจายทั่วทั้งภูมิภาคคันโต

  • ซึ่งผลสำรวจของ WHO ที่รายงานในปี 2022 กลับพบว่าในจังหวัดฟุกุชิมะที่เกิดการระเบิดนั้น มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และไม่พบผู้ป่วยลูคีเมีย หรือมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

  • และ WHO ยังรายงานอีกว่า ไม่พบผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นในจังหวัดโดยรอบโรงไฟฟ้า

  • เพราะฉะนั้น จากเหตุการณ์ซีเซียม-137 ของไทยในครั้งนี้ คนที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปครับ อันตรายยังน้อยอยู่มาก รังสีของเราน่าจะน้อยกว่าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเยอะ ที่น่าห่วงก็คงเป็นคนงานในโรงงานกับหมู่บ้านใกล้ ๆ

  • อย่างไรก็ตาม ซีเซียม 137 มีครึ่งอายุ 30 ปี และจะอยู่ในธรรมชาติไปอีกหลายร้อยปี ซึ่งเราพบว่าซีเซียม 137 จากการทดลองระเบิดปรมาณูในชั้นบรรยากาศโลกเมื่อ 70 ปีก่อนก็ยังปนเปื้อนอยู่ทั่วทุกมุมโลกอยู่ในวันนี้

 

ถึงความอันตรายจะไม่ได้สูง แต่ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่าไม่มีผลกับสุขภาพเราในระยะยาว...

 

รู้จัก ซีเซียม และอันตรายจากสารชนิดนี้

 

☢️ ซีเซียมคืออะไร ?

ซีเซียม (Caesium) คือธาตุธรรมชาติ มีลักษณะเป็นโลหะ อยู่ในหมวดโลหะแอลคาไล ค้นพบในปีค.ศ.1860 โดยกุสตาฟ เคอร์ชอฟฟ์ และ โรเบิร์ต บุนเซน จากตัวอย่างน้ำแร่ที่ได้มาจากเมืองเดอร์คไฮม์ ประเทศเยอรมนี

แล้วแอลคาไลคืออะไร? แอลคาไลประกอบไปด้วย ลิเทียม โซเดียม โพแทสเซียม รูบิเดียม ซีเซียม และแฟรนเซียม คุณสมบัติเหมือนกันของแอลคาไลคือเป็นโลหะที่อ่อน สะท้อนแสงได้ดี และไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี

☢️ ตัวเลข 137 หลังซีเซียม คืออะไร ?

เลขหลังธาตุเรียกว่า “เลขมวล” คือจำนวนผลรวมของจำนวนโปรตอนและนิวตรอน

ซีเซียม-137 มีจำนวนโปรตอน 55 และนิวตรอน 82 รวมกันได้ 137 จึงเรียกว่า Caesium-137 ซึ่งแต่ละเลขจะทำให้คุณสมบัติและคุณลักษณะต่างกันออกไป

☢️ ซีเซียม-137 ค้นพบจากไหน ?

16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกถูกทดลองในทะเลทรายอะลาโมกอร์โด มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากโครงการลับที่ใช้ชื่อว่า “Manhattan Project”

หลังจากระเบิด ได้มีการเข้าไปเก็บข้อมูลสารที่ฟุ้งกระจาย และนั่นทำให้เกิดการค้นพบซีเซียม-137 และสารกัมมันตรังสีอื่น ๆ

ซีเซียม-137 เป็นผลพลอยได้การค้นพบจากการระเบิดนิวเคลียร์ มันคือสารกัมมันตรังสีที่เกิดได้เฉพาะปฏิกิริยานิวเคลียร์ หรือที่เรียกว่านิวเคลียร์ฟิชชัน เป็นโลหะอ่อนสีขาวเงิน ตีเป็นรูปได้ง่าย เป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส มีครึ่งชีวิต 30 ปี

 

☢️ คำว่า ครึ่งชีวิต” คืออะไร ?

ครึ่งชีวิต คือระยะเวลาที่นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสี (นิวเคลียสคือส่วนที่อยู่ใจกลางของอะตอมในธาตุ) สลายตัวจนเหลือครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม

ยกตัวอย่างเช่น ซีเซียม 137 จำนวน 100 กรัม มีครึ่งชีวิตที่ 30 ปี หมายความว่าอีก 30 ปี ซีเซียม 137 ตัวนี้จะเหลือ 50 กรัมเนื่องจากนิวเคลียสมีการสลายตัวรังสีออกมา และอีก 30 ต่อมามันจะเหลือครึ่งหนึ่งจากที่เหลือ นั่นคือ 25 กรัม

ครึ่งชีวิตเป็นเลขที่ถูกใช้อธิบายการสลายตัว เนื่องจากเลขตัวนี้มีค่าคงที่ตลอดช่วงชีวิต และบอกเป็นจำนวนได้ง่ายกว่าการสลายตัวทั้งหมดจนเหลือ 0

 

☢️ ซีเซียม-137 ใช้ทำอะไร ?

ซีเซียม-137 เป็นไอโซโทปรังสี (ธาตุที่ปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาได้เรียกว่า ไอโซโทปรังสี) ที่นิยมมาใช้ในอุตสาหกรรมมากมาย เช่นเครื่องวัดความชื้น เครื่องวัดความหนาแน่น เครื่องวัดระดับการไหลของเหลวในท่อ เครื่องวัดความหนา และเครื่องตรวจสอบชั้นบาดาล

ซีเซียม-137 ยังใช้ทางการแพทย์ โดยเป็นต้นกำเนิดของรังสีแกมมาเพื่อฉายแสงรักษามะเร็ง

 

☢️ ผลกระทบของซีเซียม-137

ซีเซียม-137 ปล่อยรังสีเบตาและรังสีแกมมาออกมา มีผลคือทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น ผลกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 4 ประการด้วยกัน

1. ความแรงของต้นกำเนิด

2. เวลาที่ได้รับ

3.ระยะทางจากจุดกำเนิดรังสี

4. มีอะไรกั้นระหว่างเรากับต้นกำเนิดรังสีไหม

 

☢️ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังโดนซีเซียม-137 ?

ถ้าเป็นการสัมผัสแบบใกล้ชิดโดยตรง ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก และถ้าเกิดขึ้นจริง จะเกิดการไหม้ของผิวหนังและเสียชีวิตต่อมา

แต่หากเป็นฝุ่นของกัมมันตภาพรังสี เราจะไม่รู้เลยว่ากำลังโดนรังสี เนื่องจากเราไม่สามารถรู้สึกได้เลยว่าได้รับรังสี ได้รับรส หรือแม้กระทั่งกลิ่นของซีเซียม-137 สิ่งเดียวที่รู้ได้คือเครื่องตรวจจับรังสีเท่านั้น

และจะรู้ได้ว่าในร่างกายของเรามีซีเซียม-137 อยู่ไหม ก็ได้จากการตรวจปัสสาวะและอุจจาระ

 

☢️ เคยมีเหตุการณ์ ซีเซียม-137 กระจายฟุ้งไหม ?

มี ใหญ่ที่สุดคือในเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูและเหตุการณ์เชอร์โนบิล ในเหตุการณ์เชอร์โนบิลพบว่า ซีเซียม-137 ปลิวไปไกลถึงประเทศสวีเดนซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1,000 กิโลเมตร

คณะกรรมการป้องกันอันตรายจากรังสีแห่งชาติของอังกฤษทำนายว่า ฝุ่นกัมมันตภาพรังสีของซีเซียม-137 ในเชอร์โนบิล ทำให้คนเกิดมะเร็งมากกว่า 1,000 คน

 

อ้างอิง :

I’m From ENDROMEDA

http://bitly.ws/BQif

http://bitly.ws/BQiq

งานวิจัยซีเซียม 137 ที่ฟุกุชิมะ

http://bitly.ws/BQix

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!