First Republic Bank ส่อล้มเป็นรายที่4 - คลังยันระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง

First Republic Bank ส่อล้มเป็นรายที่4 - คลังยันระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง
Highlight

ตลาดหุ้นนิวยอร์กประกาศระงับการซื้อขายหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB เมื่อวานนี้หลังจากทรุดตัวลงอย่างหนัก กว่า 70% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ธนาคารได้ออกมายืนยันด้านสภาพคล่อง รัฐบาลพร้อมเข้าดูแล ด้านกระทรวงการคลัง แบ็งก์ชาติ ยืนยันระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งมีธุรกรรมเกี่ยวข้องด้านเทคและดิจิทัลน้อยกว่า1% อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งถูกเทขายในตลาดหุ้นท่ามกลางวิกฤตการเงินสหรัฐฯ เมื่อวานนี้

  • First Republic Bank หรือ FRB เป็นอีกธนาคารที่ส่อแววล้มเป็นรายต่อไป โดยนักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนักเมื่อวานนี้ ก่อนที่จะถูกพักการซื้อขาย หลังประสบปัญหาสภาพคล่องโดยได้รับแรงกดดันจากการที่รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการของ Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank หรือ SB รวมทั้ง Silvergate ซึ่งเป็นธนาคารแรกที่ล้มละลาย ทั้งนี้หาก First Republic Bank ถูกปิดกิจการ ก็จะเป็นรายที่ 4

  • อย่างไรก็ดี FRB ได้ส่งจดหมายถึงลูกค้า ยืนยันว่าธนาคารยังคงมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง และสูงกว่าระดับที่กฎหมายกำหนดไว้

  • นายจิม เฮอร์เบิร์ต ประธานกรรมการ FRB และนายไมค์ รอฟเฟลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FRB ระบุในจดหมายที่ส่งถึงลูกค้าใจความว่า "เราพร้อมที่จะดำเนินธุรกรรม และตอบคำถาม รวมทั้งรองรับความต้องการทางการเงินทั้งหมดของท่าน เช่นเดียวกับที่เราได้ดำเนินการอยู่ทุกวัน"

  • FRB เน้นให้บริการลูกค้าในระดับสูงและภาคธุรกิจ ขณะที่มีเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยต่ำกว่าระดับเฉลี่ยเมื่อเทียบสัดส่วนสินทรัพย์ทั้งหมด ปัจจุบันมีเงินฝากทั้งหมดจำนวน 1.76 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565  
  • รายงานระบุว่า FRB สามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้กว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศโครงการ Bank Term Funding Program ซึ่งเป็นโครงการที่ Fed เสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์ สถาบันรับฝากเงิน เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินอื่นๆ โดยสถาบันการเงินที่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับเงินกู้จากโครงการดังกล่าว จะต้องยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) 

Fed ออกแถลงการณ์มาตรการรับมือการแห่ถอนเงิน (Bank Run)

  • Fed ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมฉุกเฉินซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) โดยระบุว่า Fed กำลังทบทวนเกี่ยวกับการกำกับดูแล SVB หลังจากที่ SVB ประสบกับภาวะล้มละลายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มี.ค.)

  • แถลงการณ์ระบุว่า นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed กล่าวว่า การล้มละลายของ SVB ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคารนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่ Fed ต้องหันมาทบทวนอย่างถี่ถ้วน, โปร่งใส และเร่งด่วน โดยคณะกรรมการ Fed ได้มอบหมายให้นายไมเคิล บาร์ รองประธาน Fed ฝ่ายกิจการกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทบทวนเรื่องดังกล่าว และจะมีการแถลงให้สาธารณชนรับทราบผลของการทบทวนในวันที่ 1 พ.ค.

  • “เราขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเราจะทำการทบทวนอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนว่า ที่ผ่านมาเราได้กำกับดูและวางกฎระเบียบกับ SVB อย่างไร และเราต้องทบทวนว่า เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้” นายบาร์กล่าว

  • แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากคณะกรรมการ Fed พยายามรับมือกับสถานการณ์ที่ SVB เผชิญกับภาวะล้มละลาย เพียงไม่กี่วันหลังจากที่บริษัทประกาศว่าจำเป็นต้องระดมเงินทุนเพื่อพยุงสถานะทางการเงิน ซึ่งการล้มละลายของ SVB ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในระบบธนาคาร

  • วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับ SVB ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐต้องประกาศมาตรการเยียวยาในวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) ด้วยการรับประกันว่า ลูกค้าทุกคนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคาร SVB และ Signature Bank ซึ่งถูกสั่งปิดด้วยนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวนนับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป ขณะที่ Fed ประกาศจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินจากผลกระทบของการล้มละลายของ SVB

  • แถลงการณ์ล่าสุดของ Fed สะท้อนให้เห็นว่า Fed ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นทางที่กำกับดูแล SVB นั้น จะดำเนินการทบทวนนโยบายต่าง ๆ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายทุกหน่วยงานในสหรัฐก็เริ่มพิจารณาว่าควรมีนโยบายใดบ้างที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแห่ถอนเงิน หรือ bank run ในอนาคต

  • ภายใต้นโยบายปัจจุบันนั้น ธนาคารที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์จะต้องได้รับการกำกับดูแลโดยตรงจาก Fed โดยเจ้าหน้าที่และคณะผู้ว่าการ Fed ในกรุงวอชิงตันจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการควบคุมดูแล ส่วนการติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวันนั้นเป็นหน้าที่การกำกับดูแลจากธนาคารในภูมิภาคของ Fed โดย Fed สาขาซานฟรานซิสโกเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแล SVB

  • ก่อนหน้านี้ SVB อยู่ภายใต้มาตรการตรวจสอบเพื่อประเมินความเป็นไปได้ว่าอาจจะล้มละลาย ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสบางรายได้ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดขนาดของกิจการ SVB จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและจบลงด้วยเงินฝากที่หายไปกว่า 90% ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเกิดจากการแห่ถอนเงินของลูกค้า

คลังยันระบบสถาบันการเงินไทยมั่นคง

  • นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า จากที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้าควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหาฐานะนั้น กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด

  • ในเบื้องต้น กระทรวงการคลังประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา
  • อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป

  • “ระบบสถาบันการเงินไทย ยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ในการนี้ ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ

  • ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในสหรัฐฯ ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน โดย SVB ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับภูมิภาค (Regional Bank) ที่มีสินทรัพย์ประมาณ 7.35 ล้านล้านบาท หรือมีขนาดสินทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ ได้ถูกควบคุมโดยภาครัฐเมื่อวันที่ 10 มี.ค.66 เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และประสบภาวะขาดทุนจากกลยุทธ์ในการบริหารสินทรัพย์ของธนาคาร

  • โดยนอกจาก SVB แล้ว ธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นหลัก ได้ประสบปัญหาฐานะจากราคาคริปโทฯ ที่ลดลง โดยธนาคาร Silvergate ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 และธนาคาร Signature ถูกควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาฐานะเมื่อวันที่ 12 มี.ค.66 ซึ่งปัญหาฐานะของธนาคารทั้ง 2 แห่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโทฯ

ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันธนาคารพาณิชย์ไทยแข็งแกร่ง มีธุรกรรมด้านฟิตเทคนิคและสินทรัพย์ดิจิทัลน้อยกว่า 1%

  • นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่ากรณี SVB ที่ประสบปัญหา ซึ่ง Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) มีคำสั่งให้ปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุน venture capital บริษัท fintech และบริษัท start-up

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยากหรือมีต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจ และบางกลุ่มถอนเงินฝากเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคารและความเชื่อมั่น จนต้องถูกควบคุมโดย FDIC ตามที่เป็นข่าว 

  • จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลงและราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโทเคอร์เรนซี อย่างไรก็ดี การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายคืนผู้ฝากทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

  • สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคาร ที่สำคัญพบว่าธนาคารไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล

  • ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธพ. ต่อเงินฝากของประชาชน

  • ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

 

อ้างอิง : https://www.reuters.com/business/finance/first-republic-slumps-additional-financing-fails-soothe-deposit-outflow-fears-2023-03-13/



ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!