Silicon Valley Bank ล้มละลายเพราะ การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed !! ปิดเพิ่มอีกแบ็งก์ Signature Bank ที่ New York

Silicon Valley Bank ล้มละลายเพราะ การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed !!  ปิดเพิ่มอีกแบ็งก์  Signature Bank ที่ New York
Highlight

เป็นช่วงสุดสัปดาห์ที่ปั่นป่วนที่สุดในรอบปี เมื่อธนาคาร Silicon Valley Bank ซึ่งใหญ่เป็นลำดับที่ 16 ของสหรัฐถูกปิดกิจการ จากปัญหาสภาพคล่อง จนเกิดปัญหา Bank Run หรือการแห่ถอนเงิน ล่าสุดปิดเพิ่มอีกแบงก์ Signature Bank ที่ New York  นับเป็นวิกฤตการสถาบันการเงินที่ใหญ่สุดของสหรัฐนับจากปี 2008 นักเศรษฐศาสตร์มองปัญหาเกิดจาก การที่ธนาคารกลาง หรือเฟด ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลกระทบสภาพคล่องกับอุตสาหกรรมเทค สตาร์ทอัพ จนต้องถอนเงินจากธนาคารออกเป็นจำนวนมาก


ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เผยผ่านเฟสบุ๊ก “Pipat Luengnaruemitchai” ว่า มีข่าวตื่นเต้นในวงการธนาคาร เมื่อ Silicon Valley Bank ธนาคารชื่อดังย่าน Silicon Valley รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เป็นธนาคารหลักของ venture capital และ /startup หลายแห่ง ออกมาบอกนักลงทุนว่าไตรมาสก่อน ได้ขายพันธบัตรไป 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ! จนทำให้เกิดผลขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ไป 1.8 พันล้านเหรียญ และต้องขายหุ้นเพิ่มทุน 2.25 พันล้านเหรียญ

สื่อต่างประเทศรายงานล่าสุดในวันนี้ (13 มี.ค) ทางการสหรัฐฯ ประกาศปิดกิจการ Signature Bank ที่ New York โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันความเสี่ยงในระบบธนาคาร อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินเอาไว้กับ Signature Bank  สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน พร้อมยังยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคาร SVB สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวนเช่นกัน โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป

Signature Bank  เป็นหนึ่งในธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยเงินกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี โดยราคาหุ้นของธนาคาร ร่วงลงเกือบ 40% ในปีนี้ หลังจากซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่ง ได้ประกาศยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) เพื่อชำระหนี้ 

  • จุดเริ่มต้นที่ ทำให้นักลงทุนตกใจ ผู้ฝากเงินแตกตื่นแห่ถอนเงินที่ SVB

ดี.พิพัฒน์วิเคราะห์ว่า การแจ้งข่าวดังกล่าวทำให้ตลาดตื่นตกใจ เทขายหุ้นธนาคาร Silicon Valley ร่วงไปกว่า 60% ทันที และหลังปิดตลาดลงไปอีก 20% และคนฝากเงินเริ่มหวั่นไหวแห่กันถอนเงินออก และล่าสุดถูกทางการเข้าควบคุมเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าปัญหาสองวันจบไป เมื่อวันที่ 10 มี.ค.

ที่น่าสนใจคือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก ครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ เช่นพันธบัตรรัฐบาล หรือ mortgage backed securities มีเงินสินเชื่อแค่หนึ่งในสาม NPL ค่อนข้างต่ำมาก (ต่ำกว่า 1%) และ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์แบบปัญหาธนาคารอื่นๆ 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิด จากการที่เงินฝากเริ่มลดลงหรือโตช้า เพราะ venture capital ทั้งหลายเริ่ม raise เงินยากขึ้น และกระแสเงินสดของ VC และบริษัท startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารเริ่มมีน้อยลง เพราะ cashburn จนเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง ต้องเริ่มขายสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น ตราสารหนี้ออกมา

  • SVB ขาดทุนในตลาดพันธบัตร ขาดสภาพคล่อง จากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

ปัญหาใหญ่ อยู่ที่ตราสารหนี้เหล่านี้ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะมูลค่าหรือราคาของตราสารหนี้แปรผกผันกับอัตราผลตอบแทน (yield) ถ้าพันธบัตรที่ออกมาเมื่อสองปีก่อน ให้ดอกเบี้ยแค่ 1% ที่ราคาหน้าตั๋ว 100 บาท เมื่อระดับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไปที่ 5% พันธบัตรที่ออกมาเมื่อสองปีก่อนย่อมไม่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับพันธบัตรที่เพิ่งออกมา ราคาตลาดก็ต้องปรับลดลงต่ำกว่า 100 บาทแน่ๆ

โดยหลักการทางบัญชีแล้ว ธนาคารที่ถือตราสารหนี้เพื่อการลงทุนระยะยาว จะไม่บันทึกการปรับลดลงของมูลค่าตราสารหนี้จากการปรับผลตอบแทน เป็นการขาดทุนผ่าน income statement แต่จะเก็บไว้เป็น unrealized loss แทนเพราะถ้าเราถือพันธบัตรพวกนี้ไปจนครบกำหนดอายุของตราสาร มูลค่าก็จะกลับไปที่ราคา par เอง การขาดทุนนี้ก็จะค่อยๆหายไปเอง แต่ปัญหาเกิด เมื่อธนาคารต้องขายตราสารหนี้พวกนี้ออกมาในเวลาที่ยังขาดทุนอยู่ เพราะจะต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน income statement และอัตราส่วนทุนของธนาคาร ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุนอย่างที่เห็น

จนเริ่มมีคนเริ่มถามว่า ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่ และข้อมูลที่เห็นคือธนาคารในสหรัฐทั้งกลุ่มมี unrealized loss สูงมากถึง 6 แสนล้านเหรียญ (ในขณะที่ทุนรวมของธนาคารมีมากกว่าสองล้านล้านเหรียญสหรัฐ) จนหุ้นในกลุ่มธนาคารร่วงกันระนาว 

  • ไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบ

ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องล้วนๆ (จากภาวะตลาดที่บริษัท startups ไม่สามารถหาเงินได้คล่องอย่างเดิม) จนเริ่มกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคาร และถูกขยายผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางการเงิน และสภาพคล่องเริ่มโดนถอนออกไป ดร.พิพัฒน์ ระบุ 

“ผมไม่คิดว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบ และธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆที่มีวิกฤตศรัทธา แต่ก็คงต้องจับตากันดีๆครับ เพราะภาวะแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ หวังว่าจะไม่ลามไปหาคนอื่นอีกนะครับ ที่แน่ๆทำเอาวงการ tech ที่โดนกระหน่ำอยู่แล้ว หวั่นไหวเลย แต่อันนี้น่าจะเป็นคำตอบของคำถามว่า will the Fed break something?”

  • การจัดการของหน่วยงานกำกับดูแล 

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า

เงินฝากทั้งหมดของธนาคารในจำนวนเงินไม่เกิน USD 250,000 ต่อผู้ฝาก 1 ราย (ไม่ว่าจะฝากในนามบุคคลหรือบริษัทก็ตาม) ถูกคุ้มครองโดย Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) สถาบันคุ้มครองเงินฝากของสหรัฐฯ

แต่ปัญหาอยู่ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของ SBV เป็นลูกค้าบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้กว่า 90% ของเงินฝากไม่ได้ถูกคุ้มครองโดย FDIC โดยเงินฝากที่ถูกคุ้มครองโดย FDIC น่าจะได้คืนภายใน 1 สัปดาห์ แต่ส่วนที่เหลือต้องขึ้นอยู่กับการจัดการเกี่ยวกับสินทรัพย์ของทางธนาคาร SVB ซึ่งหากการจัดการสินทรัพย์เหล่านี้ล่าช้าจะส่งผลกระทบกับสภาพคล่องของลูกค้าเจ้าของเงินฝากตามไปด้วย

  • โอกาสลุกลามเป็นปัญหาใหญ่มีมากน้อยเพียงใด

ดร.กำพล ระบุว่า จากการประเมินข้อมูลล่าสุด เชื่อว่าโอกาสที่จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตทั้งระบบยังมีค่อนข้างน้อย ในรอบนี้ปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตรวดเร็วแต่ฐานกระจุกตัว และมีการนำเงินฝากนั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่แต่ราคาลดลงเมื่อในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น (แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัว อย่างน้อยรายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น) พอเจอการแห่ถอนเงิน และรับรู้การขาดทุนจากการลงทุนทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ฐานทุนไม่เพียงพอ และท้ายที่สุดคือการล้มละลาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นเฉพาะตัวไม่ใช่ทุกธนาคารมีโครงสร้างเงินฝากและรายได้แบบนี้ 

ในขณะที่วิกฤตภาคธนาคารสหรัฐฯ ในปี 2008 มาจากการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หละหลวมขนาดใหญ่จนกลายเป็นปัญหาหนี้เสียรุนแรงของหลายธนาคารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ 

นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครื่องมือการลงทุนที่ซับซ้อน (เช่น Collateralized Debt Obligation: CDO) ที่เกี่ยวเนื่องกับการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสถาบันการเงินหลายแห่งมีการถือเครื่องมือการลงทุนเหล่านี้อยู่ ซึ่งทำให้เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหา ขนาดของปัญหาจึงมีการทวีความรุนแรงลุกลามมาที่ภาคการเงินการธนาคารตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะปัจจุบันที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้นจะยังค้างอยู่ในระดับสูงแบบนี้ รวมถึงข่าวการแห่ถอนเงินที่เกิดขึ้น น่าจะส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ อยู่พอสมควร

  • ผลกระทบต่อไทยหลังปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐฯ

มุมมองจาก ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า โดยมากผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะผ่านตลาดเงินและตลาดทุน ที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์นี้ อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์ เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าจะให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงาน และอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆ เพื่อดูสัญญาณ ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่

ซึ่งกรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพ ตลาดการเงิน ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่ เงินบาทน่าขยับแบบ sideway 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้

ส่วนหาก SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อ ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วให้ชะลอต่อได้

ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าย่อลงตามอุปสงค์ ที่อ่อนแอลง ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เหมือนก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่ากระจุกในสหรัฐ ไม่น่ากระทบเอเชีย แปซิฟิก มากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโต ได้ ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส

สำหรับธนาคารไทย คงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย

  • ประเด็นต้องติดตาม

อีกประเด็นที่คงต้องจับตาดูก็คือ Fed จะจัดการอย่างไรกับประเด็นนี้ เพราะนอกจากเรื่องของเงินเฟ้อและการจ้างงานแล้ว เสถียรภาพทางระบบการเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่ Fed ให้ความสำคัญ ดร.กำพลกล่าวในวันนี้ (13 มี.) เฟดจะมีการประชุม หารือเร่วด่วนประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยและประเมินสถานการณ์ ผบกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะมีมาตรการใหม่ๆแจ้งประชาชนหลังการประชุม

Fox News รายงานข่าวว่า ผู้บริหารของ Silicon Valley Bank (SVB), Mr. Jospeph Gentile ก่อนร่วมงานกับ SVB ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ( Chief Administrative Officer) Mr.Gentile เคยทำงานเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ที่ Global Investment Bank ของ Lehman Brothers มาก่อน ทั้งนี้ Mr. Gentile ออกจาก Lehman ในปี 2550 เพียงหนึ่งปีก่อนที่ Lehman จะล้มละลายในปี 2551

 

อ้างอิง : https://www.foxbusiness.com/economy/silicon-valley-bank-exec-was-lehman-brothers-cfo-prior-to-2008-collapse



ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC
ติดต่อโฆษณา!