สหรัฐฯ - แคนาดา สั่งลบแอป Tik Tok ออกจากอุปกรณ์สื่อสารรัฐ อ้างภัยความมั่นคง

สหรัฐฯ - แคนาดา สั่งลบแอป Tik Tok ออกจากอุปกรณ์สื่อสารรัฐ อ้างภัยความมั่นคง
Highlight

สหรัฐฯ และแคนาดา ตัดสินใจเดินหน้าถอดแอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ ติ๊กตอก (TikTok) ของบริษัทไบต์แดนซ์จากจีน ออกจากอุปกรณ์สื่อสารของรัฐบาลทั้งสองประเทศภายใน 30 วัน จากข้อวิตกด้านความมั่นคง และเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของประชาชนอเมริกัน ขณะที่ไบต์แดนซ์กล่าวว่า “นี่คือละครทางการเมือง”

สำนักงานการบริหารและงบประมาณ (OMB) ของทำเนียบขาวออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางดำเนินการลบแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกออกจากอุปกรณ์ทุกชนิดของรัฐบาลภายใน 30 วัน หลังสหรัฐฯ ยกระดับการตรวจสอบติ๊กต๊อกของบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) จากจีนจากข้อวิตกด้านความมั่นคง

  • รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีข้อยกเว้นอย่างจำกัดสำหรับหน่วยงานรักษากฎหมาย หน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ และเพื่อการวิจัย

  • OMB ระบุว่า การออกแนวทางปฏิบัติดังกล่าวในวันจันทร์ (27 ก.พ.) เป็น “ขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาความเสี่ยงที่ติ๊กต๊อกมีต่อข้อมูลที่อ่อนไหวของรัฐบาล” โดยหน่วยงานบางส่วน เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กระทรวงการต่างประเทศ และทำเนียบขาวได้สั่งห้ามใช้ติ๊กต๊อกอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่การออกแนวทางดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลที่เหลือปฏิบัติตามภายใน 30 วัน

  • คริส เดรูชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า "แนวทางนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตลอดจนความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของประชาชนอเมริกัน"

  • สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) ของจีนรายงานว่า สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย “ห้ามใช้ติ๊กต๊อกบนอุปกรณ์ของรัฐบาล” (No TikTok on Government Devices Act) ในเดือนธ.ค. โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนงบประมาณสหรัฐฯ กฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตให้ใช้ติ๊กต๊อกได้ในบางกรณีเท่านั้น รวมถึงการใช้งานในด้านความมั่นคงของชาติ การบังคับใช้กฎหมาย และ การวิจัย

  • TikTok ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีจากจีน โดยมี ไบต์แดนซ์ (ByteDance) เป็นเจ้าของ ได้ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่รัฐบาลชาติตะวันตกเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ และความเป็นไปได้ที่แอปนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์แนวคิดสนับสนุนรัฐบาลจีนแต่ทาง ByteDance ปฏิเสธความกังวลดังกล่าวและเรียกการคว่ำบาตรแอปนี้ว่าเป็น "ละครทางการเมือง"

  • โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงในวันอังคารว่า "สหรัฐฯ พยายามขยายขอบเขตของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” มากจนเกินไป และใช้อำนาจของรัฐในทางที่ผิดเพื่อกดขี่บริษัทของประเทศอื่น"

  • คาดว่าในวันอังคารนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายที่ให้อำนาจประธานาธิบดีในการคว่ำบาตรแอป TikTok ทั่วประเทศ

  • ด้านระเทศแคนาดา นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กล่าวว่า การถอด TikTok ออกจากอุปกรณ์สื่อสารของรัฐบาลถือเป็นการส่งสัญญาณไปยังประชาชนทั่วประเทศให้ตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาเอง และอาจนำไปสู่การตัดสินใจแบบเดียวกัน

  • ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปและสภาสหภาพยุโรปสั่งถอดแอป TikTok ออกจากโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน

  • Statista บริษัทวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลด้านการตลาด เผย 10 ประเทศที่มีบัญชีผู้ใช้งาน ติ๊กต็อก (TikTok) มากที่สุดในโลก ปี 2022 (อัปเดต เมษายน 2022) ได้แก่
  1. สหรัฐอเมริกา บัญชีผู้ใช้งาน 136 ล้านคน
  2. อินโดนีเซีย บัญชีผู้ใช้งาน 99 ล้านคน
  3. บราซิล บัญชีผู้ใช้งาน 74 ล้านคน
  4. รัสเซีย บัญชีผู้ใช้งาน 51 ล้านคน
  5. เม็กซิโก บัญชีผู้ใช้งาน 51 ล้านคน
  6. เวียดนาม บัญชีผู้ใช้งาน 46 ล้านคน
  7. ฟิลิปปินส์ บัญชีผู้ใช้งาน 40 ล้านคน
  8. ไทย บัญชีผู้ใช้งาน 38 ล้านคน
  9. ตุรกี บัญชีผู้ใช้งาน 29 ล้านคน
  10. ปากีสถาน บัญชีผู้ใช้งาน 24 ล้านคน
  • โดย Tik Tok นับเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งาน (Monthly Active User) ทะลุ 1,000 ล้านคนทั่วโลก และเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงในไทย มียอดผู้ใช้เติบโตกว่า 85% ต่อปี รวมยอดผู้ใช้งาน 240 ล้านคนต่อเดือน

 

ข้อมูลบางส่วนจาก  เอพี เอฟพี รอยเตอร์ และ VOA


ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!