25 กุมภาพันธ์ 2566
1,856

6 ประเทศอาเซียน สร้างขยะทะเลมากสุดในโลก

6 ประเทศอาเซียน สร้างขยะทะเลมากสุดในโลก
Highlight

ในทุก ๆ ปี มีการผลิตพลาสติกหลายล้านเมตริกตันทั่วโลก โดยมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล เผา หรือทิ้งในหลุมฝังกลบ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขยะเหล่านั้นจะจบลงที่มหาสมุทรของเรานั่นเอง โดยเฉพาะประเทศที่มีชายฝั่งติดทะเล เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรเป็นจำนวนมากที่สุด ถึง 356,371 เมตริกตันต่อปี

20230225-b-01.jpg

ในทุก ๆ ปี มีการผลิตพลาสติกหลายล้านเมตริกตันทั่วโลก โดยมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล เผา หรือทิ้งในหลุมฝังกลบ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ขยะเหล่านั้นจะจบลงที่มหาสมุทรของเรานั่นเอง

  • ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่พบในทะเลและมหาสมุทรนั้นจริงๆ แล้วมาจากขยะในสวนสาธารณะ บนชายหาด หรือตามท่อระบายน้ำที่เรียงรายตามท้องถนน ซึ่งเศษขยะพลาสติกเหล่านี้ถูกพัดพาไปตามท่อระบายน้ำ ลำธาร และแม่น้ำ โดยลมและน้ำฝน

  • จากนั้นแม่น้ำจะกลายเป็นเหมือนทางด่วนที่ขนส่งพลาสติกไปยังมหาสมุทร นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่ถูกทิ้งลงในทะเลและมหาสมุทรโดยตรง เช่น อวนจับปลาที่เสียหายหรืออวนที่ใช้การไม่ได้แล้ว

  • บางคนอาจคิดว่าประเทศที่ผลิตหรือบริโภคพลาสติกมากที่สุดคือประเทศที่สร้างมลพิษให้กับมหาสมุทรมากที่สุด แต่นั่นไม่เป็นความจริง จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เล็กกว่า มีแนวชายฝั่งยาวกว่า มีฝนตกชุก และมีระบบจัดการขยะไม่ดี

  • มีแนวโน้มที่จะทิ้งพลาสติกลงทะเลมากกว่า เช่น จีนสร้างขยะพลาสติกมากกว่ามาเลเซียถึง 10 เท่า แต่ประมาณการว่า 9% ของขยะพลาสติกทั้งหมดของมาเลเซียจะไหลลงสู่มหาสมุทร เทียบกับ 0.6% ของจีน

  • ขณะที่ ฟิลิปปินส์ - หมู่เกาะที่มีมากกว่า 7,000 เกาะ มีแนวชายฝั่งยาว 36,289 กิโลเมตร และมีแม่น้ำที่พัดพาขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทรถึง 4,820 สาย อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรเป็นจำนวนมากที่สุด ถึง 356,371 เมตริกตันต่อปี

  • นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ากว่า 75% ของขยะพลาสติกสะสมในมหาสมุทร มาจากการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเกือบทั้งหมด ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม และไทย

  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า ขยะพลาสติกในทะเล มีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในทะเล เช่น แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะล ป่าชายเลน และการตายของสัตว์ทะเลหายาก(เต่า โลมา วาฬ และพะยูน)

  • ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว จากทัศนียภาพที่เสื่อมโทรม ปัญหาสุขภาพ และอาหารที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก เนื่องจากพลาสติกสามารถถูกย่อยเป็นขนาดเล็กลงได้โดยแสงแดด (photodegradation) ทำให้สารเคมีบางชนิดที่เป็นพิษละลายลงไปในน้ำทะเล

  • ขณะที่พลาสติกบางชนิดยังสามารถดูดซึมสารพิษ เช่น PCB ที่อยู่ในน้ำทะเลเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหารได้ เมื่อสัตว์น้ำกินก็สามารถส่งต่อมายังผู้บริโภคในลำดับที่สูงกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาถึงพวกเรานั่นเอง

 

ที่มา  : AEC Connect, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง



ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!