17 กุมภาพันธ์ 2566
1,139

รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มทั่วยูเครน จ่อบุกครั้งใหญ่หลังจากสงครามใกล้ครบรอบ 1 ปี

รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มทั่วยูเครน จ่อบุกครั้งใหญ่หลังจากสงครามใกล้ครบรอบ 1 ปี
Highlight

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงสู้รบกันยาวนาน ใกล้ครบ 1 ปียังไม่รู้ผลแพ้ชนะ รัสเซียฮึดขึ้นมาอีกรอบหลังจากได้ระดมกำลังพลครั้งใหม่ ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะเน้นการโจมตีทางอากาศ โดยการยิงขีปนาวุธทิ้งระเบิดทั่วยูเครนในช่วงเช้าวันที่ 16 ก.พ. ในขณะที่ยูเครนยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุสงครามครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะบานปลายกลายเป็น "สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น" จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

ทางการยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธโจมตีทั่วยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) และโรงกลั่นน้ำมันเครเมนชุกซึ่งเป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดถูกโจมตีไปด้วย แต่ยังไม่ทราบความเสียหาย ขณะที่หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างจากบริษัทวากเนอร์ของรัสเซียกล่าวว่า เมืองบัคมุตที่ถูกปิดล้อมมานานจะถูกตีแตกภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หรืออีกไม่กี่เดือน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทัพอากาศยูเครนได้เปิดเผยว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธ 36 ลูกถล่มยูเครนตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ซึ่งเป็นการยิงถล่มอย่างหนักหน่วงหลังจากยูเครนมีความได้เปรียบทั้งในการรบและทางการทูต โดยระบบไซเรนแจ้งเตือนการโจมตีทางอากาศและทางบกดังทั่วยูเครน

กองทัพอากาศยูเครนยิงสกัดขีปนาวุธรัสเซียได้ 16 ลูกซึ่งเป็นอัตราต่ำกว่าปกติ โดยขีปนาวุธที่รัสเซียยิงมาในครั้งนี้รวมถึงขีปนาวุธ KH-31 จำนวน 3 ลูก และขีปนาวุธต่อต้านเรือโอนิกส์ (Oniks) อีก 1 ลูกซึ่งระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนไม่สามารถยิงสกัดได้ นอกจากนี้รัสเซียยังได้ยิงปืนใหญ่ถล่มพื้นที่อยู่อาศัยทางตะวันออกและทางตอนใต้ของยูเครนมากกว่า 24 แห่งด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศมอลโดวาเปิดเผยว่า พบเศษซากขีปนาวุธใกล้กับชายแดนยูเครน โดยรัฐสภามอลโดวาเพิ่งอนุมัติการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งสนับสนุนฝ่ายตะวันตก

อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ ถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธและกระสุนปืนใหญ่ดังกล่าว และสำนักข่าวรอยเตอร์ก็ไม่สามารถยืนยันรายงานการโจมตีนั้น

ขณะที่ทางฝั่งประเทศเบลารุสระบุว่า เบลารุสจะร่วมรบกับรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตร ก็ต่อเมื่อเบลารุสถูกโจมตี โดยเบลารุสเปิดประเทศให้รัสเซียสามารถลำเลียงกำลังพลเข้าไปในยูเครนได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสงคราม

ทั้งนี้ รัสเซียได้รับแรงหนุนจากกองกำลังเสริมหลายหมื่นนายและได้เพิ่มการโจมตีภาคพื้นดินทั่วภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน ในขณะที่วันครบรอบ 1 ปีของการรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. นั้นใกล้เข้ามา และแผนการบุกโจมตีครั้งใหม่ดูเหมือนจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น

สงครามในยูเครนได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายหมื่นราย โดยหลายเมืองในยูเครนถูกถล่มยับเยิน และผู้คนหลายล้านชีวิตได้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย และยังทำให้เศรษฐกิจโลกสั่นคลอนด้วย


รัสเซียป่วนยูเครน ปล่อยบอลลูนให้ใช้อาวุธยิงเล่น

นอกจากจะถล่มยูเครนด้วยขีปนาวุธแล้ว รัสเซียยังป่วนด้วยการปล่อยบอลลูนเหนือน่านฟ้ายูเครนหลายลูก ระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนยิงทำลายบอลลูนรัสเซียที่ลอยเข้าสู่น่านฟ้ากรุงเคียฟ โดยกองทัพเชื่อว่าเป็นกลยุทธ์ของรัสเซียที่ต้องการหลอกยูเครนใช้อาวุธที่มีอยู่ให้ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ และอาจเป็นการใช้งานเพื่อสอดแนมแทนที่โดรน ซึ่งรัสเซียต้องการรักษาสต็อกอุปกรณ์ในส่วนนี้เอาไว้

สำนักงานกองทัพยูเครนประจำกรุงเคียฟของยูเครนเปิดเผยว่าบอลลูนรัสเซียที่ลอยเข้ามาในพื้นที่มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ลูก และถูกยิงทำลายเกือบทั้งหมด แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าบอลลูนเหล่านี้ลอยเข้ามาในกรุงเคียฟในเวลาใด 

เจ้าหน้าที่กองทัพยูเครนระบุว่าบอลลูลรัสเซียเหล่านี้อาจมีอุปกรณ์สะท้อนมุม ซึ่งจะปรากฎเป็นจุดสว่างที่เห็นได้ชัดเมื่อถูกตรวจจับโดยระบบเรดาร์ และน่าจะมีอุปกรณ์บันทึกข้อมูลรวมอยู่ด้วย 

เป็นได้ว่าบอลลูนเหล่านี้ถูกส่งเข้ามาเพื่อหาข้อมูล และกระตุ้นระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน ให้ใช้อาวุธที่มีอยู่ หมดไปเรื่อย ๆ  
 
เช่นเดียวกับ นาย  ยูริ อิห์นาท (Yuriy Ihnat) โฆษกองทัพอากาศยูเครน ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ระบุว่า บอลลูนที่ลอยเข้ามา ทำให้เกิดเสียงไซเรนแจ้งเตือนภัยทางอากาศดังไปทั่วกรุงเคียฟ 

อิห์นาท เชื่อว่าเหตุทีเกิดขึ้นเป็นแผนการของรัสเซียที่ต้องการให้ยูเครนใช้ยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่จนร่อยหรอลงไป รวมทั้งยังเป็นการรักษาจำนวนโดรนสอดแนมของรัสเซียด้วย

เมื่อวานนี้ นาย โอเล็กไซ เรซนิคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยูเครน ที่เข้าร่วมการประชุมกับชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติก หรือ นาโต ประเมินว่ารัสเซียจะหันมาใช้เครื่องบินรบมากขึ้นในการบุกโจตีรอบใหม่  จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับกองทัพยูเครนที่ต้องมีเครื่องบินรบเทคโนโลยีสูงไว้ใช้งานเพื่อหยุดยั้งฝ่ายรัสเซีย  และเสริมศักยภาพของระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน 

นาง เออร์ซูลา ฟอน เดอ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ระบุว่า มาตรการลงโทษชุดใหม่นี้ มุ่งเป้าห้ามส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีให้กับรัสเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้นำชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องไปใช้ในการผลิตอาวุธในการทำสงครามกับยูเครน

นอกจากนี้ ยังรวมถึงมาตรการลงโทษต่อกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติของอิหร่าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ผลิตโดรนที่รัสเซียใช้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน

ข้อเสนอที่ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเป็นผู้ผลักดันนี้ มุ่งเน้นไปที่ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ที่ใช้ในการผลิตอาวุธ เช่น โดรน ขีปนาวุธ เฮลิคอปเตอร์ และกล้องตรวจจับความร้อน รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ในสงคราม

โดยข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำเสนอ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอียูในวันจันทร์หน้า ก่อนที่จะส่งต่อให้ผู้นำ ชาติสมาชิกอนุมัติในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ รัสเซียบุกรุกยูเครน


IIF ประเมินสงครามไม่มีวันจบสิ้น

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มอ่อนแอลงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตการเงินโลก โดย IIF ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความเสี่ยงที่จะบานปลายกลายเป็น "สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น"

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ IIF ซึ่งนำโดยนายโรบิน บรูกส์ และนายโจนาธาน ฟอร์จูน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 1.2% ในปี 2566 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในปี 2552

"ความรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกนั้น จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มของสงครามในยูเครน สมมติฐานเบื้องต้นของเราก็คือ การสู้รบจะยืดเยื้อออกไปจนถึงปี 2567 เมื่อพิจารณาจากการที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียยังคงดึงดันที่จะเอาชนะในสงครามครั้งนี้" ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ IIF กล่าว

ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!