จีนไม่ปลื้มนานาชาติจับนักท่องเที่ยวตรวจโควิด เตรียมโต้กลับปฏิบัติไม่เป็นธรรม ไทยนัดประชุมรับมือทัวร์จีนวันพรุ่งนี้

จีนไม่ปลื้มนานาชาติจับนักท่องเที่ยวตรวจโควิด เตรียมโต้กลับปฏิบัติไม่เป็นธรรม ไทยนัดประชุมรับมือทัวร์จีนวันพรุ่งนี้
Highlight

จีนโวยนานาชาติพากันมีมาตรการตรวจหาโควิดจากนักท่องเที่ยวจากจีน ระบุขาดหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเตรียมการตอบโต้ ในขณะที่องค์การอนามัยโลก ขอให้จีนแบ่งปันข้อมูลลำดับพันธุกรรมเพิ่มเติม การรายงานข้อมูลการรักษาตัวในโรงพยาบาล การเสียชีวิต และการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ดร. คริส เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศูนย์วิจัยสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิล มองว่าเชื้อโควิดจากจีนไม่น่ากลัว เป็นเชื้อโอมิครอน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนคุ้มกันแล้ว ด้านรัฐบาลไทยประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อเตรียมแผนรับมือนักท่องเที่ยวจากจีน


จีนคัดค้านมาตรการการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาบังคับใช้ โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าว “ขาดหลักการทางวิทยาศาสตร์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันอังคารว่า จีนอาจกำหนด “มาตรการตอบโต้บนพื้นฐานของหลักการของมาตรการโต้กลับ”

จีนพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ระหว่างที่รัฐบาลชาติอื่น ๆ ต่างกล่าวหารัฐบาลจีนว่าไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ

ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ หรือ CDC ประกาศในสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้โดยสารทางอากาศที่เดินทางมาจากจีน จะต้องแสดงผลตรวจโควิดแบบ PCR ที่เป็นลบ หรือแสดงเอกสารยืนยันการหายป่วยจากโควิด-19 จึงจะสามารถเดินทางเข้าสหรัฐ ฯ ได้ 

โดยทาง CDC ระบุในแถลงการณ์ว่า “การขาดข้อมูลด้านการแพร่ระบาดและรายงานผลตรวจโควิดด้วยข้อมูลลำดับสารพันธุกรรมไวรัสที่เพียงพอและโปร่งใส” และว่า “ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการติดตามยอดติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและลดโอกาสของการเข้ามาของกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล” 

ทั้งนี้ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ แคนาดา เกาหลีใต้ สเปน กาตาร์ เป็นส่วนหนึ่งของหลายประเทศทั่วโลก ที่ประกาศมาตรการให้ผู้เดินทางจากจีนต้องแสดงผลตรวจโควิดแบบ PCR ที่เป็นลบก่อนเข้าประเทศ ในวันนี้ (4 ม.ค) สหภาพยุโรป เตรียมประชุมวาระฉุกเฉินว่าด้วยนโยบายควบคุมโควิดที่เกี่ยวเนื่องกับจีน

อย่างไรก็ตาม บทความที่เผยแพร่เมื่อ 3 ม.ค.ในพีเพิลเดลี หนังสือพิมพ์ทางการของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นได้อ้างผู้เชี่ยวชาญชาวจีนหลายคนระบุว่า ความเจ็บป่วยที่เกิดจากไวรัสนั้นค่อนข้างไม่รุนแรงสำหรับคนส่วนใหญ่ และระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตนับจากเกิดโควิดระบาดอยู่ที่ราว 5,200 คน

ถง จ้าวฮุย รองประธานโรงพยาบาลปักกิ่งเฉาหยางเปิดเผยกับพีเพิลเดลีว่า “การเจ็บป่วยที่รุนแรงและวิกฤตินั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3-4% ของผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่กำหนดในกรุงปักกิ่ง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์จีนให้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการหาลำดับพันธุกรรมไวรัสโดยละเอียดในการประชุมกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3 ม.ค. นอกจากนี้ ยังขอให้จีนแบ่งปันข้อมูลลำดับพันธุกรรมเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาตัวในโรงพยาบาล การเสียชีวิต และการฉีดวัคซีนด้วย

ดร. คริส เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิล แสดงความเห็นว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในจีนนั้นไม่น่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตราย 

ดร. เมอร์เรย์แสดงความเห็นดังกล่าวในรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่า อาจเกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ระบาดในประเทศจีน และว่าการที่จีนขาดความโปร่งใสอาจทำให้ตรวจจับความเสี่ยงด้านสาธารณสุขได้ยากขึ้น

ดร. เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบันตัวชี้วัดและการประเมินด้านสุขภาพ ชี้ว่าในปีนี้อาจมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนถึงหลายพันล้านคนทั่วโลก แต่ไม่มีเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น มีเพียงสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนเท่านั้น

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงมองว่า ความเสี่ยงที่จะมีสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายในจีนนั้นค่อนข้างต่ำ” ดร. เมอร์เรย์กล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นและมาแทนที่โอมิครอนได้ จะต้องมีคุณลักษณะพิเศษอย่างยิ่งเท่านั้น

ทั้งนี้ มีการค้นพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว โดยเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายกว่าแต่ทำให้เกิดอาการป่วยน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ปรากฏในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2562 ดร. เมอร์เรย์กล่าวว่าการห้ามเดินทางเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อนักท่องเที่ยวด้วย

“ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นคือ เราต้องการความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน” ดร. เมอร์เรย์กล่าว “สัญญาณแรกสุดว่ามีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว คือจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลหรืออัตราการเสียชีวิตด้วยโควิดมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อสูง เพราะเรารู้ว่านั่นมาจากโอมิครอน”

คาดจีนจะติดเชื้อหนักหลังตรุษจีน มากถึงวันละ 25,000 ราย

แอร์ฟินิตี้ (Airfinity) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยข้อมูลด้านสุขภาพของอังกฤษเปิดเผยคาดการณ์ว่า จีนอาจพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากถึงวันละ 25,000 รายในช่วงสิ้นเดือนม.ค. 2566 สร้างความกังวลให้กับเทศกาลตรุษจีนแรกในรอบหลายปีที่ไม่มีมาตรการควบคุมโรคโควิด 

แอร์ฟินิตี้คาดการณ์ว่า การเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 น่าจะแตะระดับสูงสุดประมาณวันที่ 23 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเทศกาลตรุษจีนของจีน ส่วนยอดติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดก่อนหน้านั้น 10 วัน โดยจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 3.7 ล้านราย จากประชากรทั้งประเทศ 1.4 พันล้านราย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนได้ยุตินโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid Zero policy) เมื่อเดือนที่แล้ว โดยยกเลิกการตรวจหาเชื้อที่เข้มงวดและมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจีนที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้เริ่มใช้ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน โดยการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นจะตรวจวัดได้ยากหากไม่มีการตรวจนับที่ถูกต้องแม่นยำ ทำให้ผู้สังเกตการณ์ต้องพึ่งพาการประมาณการจากภายนอกและอาศัยข้อมูลเพียงเล็กน้อย

นักวิจัยของแอร์ฟินิตี้ชี้อีกว่า ยอดผู้ติดเชื้อรายวันในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านรายต่อวัน ส่วนยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 9,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ 5,000 ราย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และเป็นตัวเลขที่ตรงกันข้ามกับรายงานของรัฐบาลที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดเพียงสิบกว่ารายนับตั้งแต่การยกเลิกมาตรการโควิดเมื่อต้นเดือนธ.ค. พร้อมคาดการณ์ว่า ภายในช่วงสิ้นเดือนเม.ย. 2566 จีนอาจพบผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดระลอกนี้ถึง 1.7 ล้านราย 

การประมาณการข้อมูลของแอร์ฟินิตี้ อ้างอิงจากข้อมูลจากมณฑลต่าง ๆ ในจีน ซึ่งชี้แจงตัวเลขสูงกว่าที่รัฐบาลจีนรายงานไว้มาก รวมกับแนวโน้มในฮ่องกง ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ หลังจากที่จีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ 

ไทยจะประชุมวันพรุ่งนี้ เตรียมรับมือนักท่องเที่ยวจีน

หลังจากหลายประเทศ มีมาตรการรับมือการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน สำหรับไทย วันที่ 5 ม.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคมจะประชุมร่วม เพื่อพิจารณาว่าจะมีการกำหนดมาตรการรับมือหรือไม่ 

เบื้องต้นประเมินว่า ช่วงแรก นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาไม่มากนักเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่อง เที่ยวบิน และจีนเพิ่งเริ่มกลับมาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ต่ออายุพาสปอร์ต ทำพาสปอร์ตใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 10 วัน จึงน่าจะเริ่มเดินทางได้หลัง 15 ม.ค.นี้ 

เดือนแรกคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีน ประมาณ 50,000 คน เนื่องจากเที่ยวบินที่จำกัด จึงเข้ามาจากด่านทางบกเพิ่มขึ้น เช่น ด่านเชียงแสน จ.เชียงราย เส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่ จ.หนองคาย หากเพิ่มเที่ยวบิน คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 1 แสนคน โดยไตรมาสแรกคาดว่า จะอยู่ที่ 3 แสนคน และทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน จากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด -19 ที่อยู่ที่ 11 ล้านคน 

สำหรับมาตรการที่รับมือที่จะเสนอให้พิจารณา เช่น การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 และกำหนดให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด - 19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย เตรียมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น มาตรการป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการ นักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิด -19 ครบ 4 เข็ม เป็นต้น

 

อ้างอิง : VOA,  รอยเตอร์, ThaiPBS

ติดต่อโฆษณา!