จับตา 5 เทรนด์เศรษฐกิจโลกปี 66 มีทั้งโอกาส และความเสี่ยง

จับตา 5 เทรนด์เศรษฐกิจโลกปี 66 มีทั้งโอกาส และความเสี่ยง
Highlight

ปี 2565 ที่ผ่านไป โลกโกลาหลไปกับนโยบายการเงินสหรัฐที่ต้องการดึงเงินเฟ้อลงมาให้ได้ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 จีนเปิดศักราชด้วยการประกาศเปิดประเทศตั้งแต่ 8 ม.ค. นี้ กำลังทำให้โลกหวาดผวาว่าจะทำให้เชื้อใหม่ๆแพร่กระจายไปทั่วโลกอีกครั้งหรือไม่ ด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ตึงเครียดมากขึ้นเป้าหมายยึดกรุงเคียฟ รวมทั้งคาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนแรงขึ้นจากการผลัดกันซ้อมยิงอาวุธนิวเคลียร์


จับตา 5 เทรนด์เศรษฐกิจโลกปี 66 ที่ประเมินกันว่าหนักหนาสาหัสกว่าปี 2565 ที่ผ่านไป เพราะผลพวงจากมาตรการสกัดเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้  เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญทั้งความเสี่ยงต่อไป จะรุนแรงมากขึ้นเมื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง สงครามที่อาจรุนแรงขึ้น และการเปิดประเทศของจีน เว็บไซต์อัลจาซีรารายงานว่า เมื่อผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิด-19  ประกอบกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์อันเข้มงวดของจีนกลายเป็นตัวสร้างความโกลาหลให้กับซัพพลายเชนโลก ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อในหลายประเทศทะลุระดับสูงสุดในรอบสี่สิบปี จึงทำให้ ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความผันผวน

เศรษฐกิจโลกในปี 2566 ก็กำลังมุ่งหน้าสู่ความปั่นป่วนอีกครั้ง ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะสร้างความเสียหายให้กับตลาดอาหารและพลังงานต่อไป และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สร้างความเสียหายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ด้านปัจจัยบวก การที่จีนเปิดประเทศอีกครั้งหลังปิดมา 3 ปีช่วยหนุนเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความกังวว่าโควิด-19 ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่พลเมืองจีน 1.4 พันล้านคนจะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม 

สำหรับเทรนด์เศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาในปี 2566 ประกอบด้วย 

เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

คาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงทั่วโลกในปี 2566 แต่ความเสียหายยังมีสูง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเงินเฟ้อโลกจะทะลุ 6.5% ในปี 2566 ลดลงจาก 8.8% ในปี 2565 เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาระดับเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ 8.1% ในปี 2566 

นายอเล็กซานเดอร์ ไซมาลิส ผู้บรรยายอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ แฮลแลม เปิดเผยกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า เงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับเป้าหมายที่ 2% ที่ธนาคารกลางชาติตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งเป้าไว้ต่อไป

ราคาพลังงานและวัตถุดิบยังคงแพงไปอีกระยะหนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับบางส่วนเท่ากับว่าสินค้านำเข้าแพงขึ้น การขาดแคลนแรงงานในประเทศตะวันตกหลายประเทศทำให้ผลผลิตแพงขึ้น และมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามร้ายแรงสุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ทั้งหมดนี้นำไปสู่เงินเฟ้อสูงขึ้น อย่างที่อดีตช่วงทศวรรษ 2010 

เศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอย 

ขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าอ่อนตัวลงในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วควบคู่กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวแค่ 2.7% ลดลงจาก 3.2% ในปี 2565 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประเมินไว้ต่ำกว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงเหลือ 2.2% จาก 3.1% ในปี 2565 ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 ขยายตัว 2.9% ส่วนปี 2566-2567 เติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกัน  นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองโลกในแง่ร้ายมากกว่า โดยเชื่อว่า ปี 2566 เศรษฐกิจโลกอาจถดถอยหลังเกิดความเสียหายจากโควิด-19 ระบาดเป็นเวลา 3 ปี 

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิค ซึ่งโดยนิยามหมายถึงการที่เศรษฐกิจโตติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน แต่นายปิแอร์ โอลิเวียร์ กูริงซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF เคยเตือนเมื่อเดือน ต.ค.ว่า หลายคนอาจรู้สึกเหมือนเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 เนื่องจากการผสมโรงกันระหว่างเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

“สามเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดทั้งสหรัฐ จีน และเขตยูโรจะชะงักงันต่อไป ในระยะสั้นความเลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และสำหรับหลายๆ คน ปี 2566 จะรู้สึกเหมือนเศรษฐกิจถดถอย” 

จีนเปิดประเทศ

หลังจากล็อกดาวน์เข้มงวด ตรวจโควิดจากประชาชนจำนวนมาก และปิดประเทศมาเกือบสามปี จีนได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เคยเข้มงวด ผลพวงจากการประท้วงของประชาชนในหลายพื้นที่อย่างไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก 

การที่จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ถือเป็นโมเมนตัมใหม่ให้กับการฟื้นตัวของโลก ความต้องการของผู้บริโภคจีนที่ฟื้นคืนมาจะสร้างแรงหนุนให้กับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ พร้อมกันนั้นการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ช่วยให้แบรนด์ดังระดับโลกตั้งแต่ Apple ไปจนถึง Tesla ต่อลมหายใจไปได้ จากที่เคยเสียหายเพราะความปั่นป่วนจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ในเวลาเดียวกันการเปลี่ยนนโยบายกะทันหันของจีนก็แบกรับความเสี่ยงมหาศาล ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งหยุดเผยแพร่สถิติโควิด โรงพยาบาลทั่วประเทศก็ล้นไปด้วยผู้ป่วย มีรายงานว่าศพกองเต็มห้องเก็บศพและฌาปนสถาน 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนหนึ่งประเมินว่า จีนจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิดมากถึง 2 ล้านคนภายในเวลาไม่กี่เดือน และเมื่อโควิดแพร่กระจายในหมู่ประชากรมหาศาลอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหวั่นเกรงมากว่าอาจเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม

นางสาวอลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียแปซิฟิก บริษัทจัดการการลงทุน Natixis มองว่าสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือจะมีการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่หรือใหม่ ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นได้ทั้งอันตรายน้อยลงหรืออันตรายมากขึ้น “และถ้าอย่างหลังเกิดขึ้น เราจะได้เห็นการปิดประเทศอีกครั้ง และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

บริษัทล้มละลาย 

แม้เศรษฐกิจเสียหายหนักจากโควิด-19 และการล็อกดาวน์ แต่ในความเป็นจริง ระหว่างปี 2563-2564 การล้มละลายลดลงในหลายประเทศ เนื่องจากการตกลงกันนอกศาลกับผู้ให้กู้และมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่ของรัฐบาล 

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐ ปี 2564 ธุรกิจ 16,140 แห่งยื่นขอล้มละลาย ปี 2563 จำนวน 22,391 รายเทียบกับ 22,910 รายในปี 2562 แต่เทรนด์นี้กำลังสวนทางในปี 2566 ท่ามกลางราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น บริษัทประกันสินเชื่อ Allianz Trade ประเมินว่าการล้มละลายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในปี 2565 และ 19% ในปี 2566 สูงกว่าระดับก่อนโควิดมาก

การระบาดของโควิดบีบให้หลายธุรกิจต้องพึ่งพาการกู้ยืมอย่างมาก สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่อการพึ่งพาเงินกู้ราคาถูกเพื่อชดเชยการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของโลกตะวันตกผลพวงโลกาภิวัตน์มีมากขึ้น ไซมาลิสกล่าวและว่า ธุรกิจหนี้สูงจะอยู่รอดได้อย่างไรในเมื่อพวกเขาถูกกระหน่ำซ้ำเติมทั้งจากดอกเบี้ยสูง ราคาพลังงานสูง วัตถุดิบแพง ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย รัฐบาลชาติตะวันตกก็ลดการช่วยเหลือภาคเอกชนโดยตรงหันไปให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคครัวเรือนก่อน 

โลกาภิวัตน์สั่นคลอน 

ความพยายามถอยห่างจากโลกาภิวัตน์เร่งตัวขึ้นในปี 2565 ส่อเค้าต่อเนื่องมาถึงปี 2566 สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปิดตัวภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ร้าวลึกยิ่งขึ้นในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน

เดือน ส.ค. ไบเดนลงนามกฎหมายชิพและวิทยาศาสตร์ สกัดการส่งออกชิพทันสมัยและอุปกรณ์การผลิตชิพไปยังจีน ความเคลื่อนไหวนี้พุ่งเป้าสกัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการส่งเสริมพึ่งตนเองในการผลิตชิพของจีน

การออกกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุดของการผันแปรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการค้าและเศรษฐกิจเสรีไปสู่การกีดกันทางการค้าและหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ

ในถ้อยแถลงเมื่อเดือน ธ.ค. นายมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้งไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์แมนูแฟคเจอริง (ทีเอสเอ็มซี) บริษัทผลิตชิพใหญ่สุดของโลกโศกสลดกับการที่โลกาภิวัตน์และการค้าเสรี เกือบตายแล้ว

“ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐถูกคุกคามด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจจีนมากขึ้นทุกที จึงตอบสนองด้วยการกดดันทางเศรษฐกิจและการทหารต่อมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นรายนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำสงครามกันเพราะไต้หวัน แต่ในอนาคตอันใกล้การนำเข้าจะแพงขึ้นและเศรษฐกิจจะชะลอลงในทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้านี้”

นายไซมาลิส กล่าว

 

 

ที่มา : https://www.aljazeera.com/economy/2022/12/28/inflation-to-china-economic-trends-to-watch-in-2023

ติดต่อโฆษณา!