ศูนย์การเปลี่ยนแปลงฯ และภัยพิบัติ เตือน! เตรียมรับมือสภาพอากาศสุดขั้วภัยแล้งรุนแรง ปี 68-69 และ น้ำท่วมใหญ่ปี 72-73

ศูนย์การเปลี่ยนแปลงฯ และภัยพิบัติ เตือน! เตรียมรับมือสภาพอากาศสุดขั้วภัยแล้งรุนแรง ปี 68-69 และ น้ำท่วมใหญ่ปี 72-73

Highlight

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต คาดการณ์ความแปรปรวนสภาพอากาศแบบสุดขั้ว กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ใน 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งภาวะภัยแล้งรุนแรง ปี 68-69 และ น้ำท่วมใหญ่ปี 72-73  Climate Change หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกิดจากภาวะเรือนกระจก ที่เราต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดลง 20-25% ภายในปี 2030 เพื่อลดภาวะภัยพิบัติที่ทวีรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าโลกจะร้อนขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียสใน 5 ปีข้างหน้า

เราผ่านปี 2565 ที่สภาพอากาศที่เลวร้ายต่อมวลมนุษยชาติ แต่สภาพอากาศอนาคตภัยแล้งรุนแรง 2568 ถึง 2569 และน้ำท่วมใหญ่ 2572 ถึง 2573 รอทุกคนอยู่

ผ่านไปแล้วกับสภาพอากาศ 3 ปีเปียกติดกัน (2563-2565) จากอิทธิพลของ La Niña ที่กำลังจะหมดไป โดยทำให้ประเทศไทยชุ่มฉ่ำจนน้ำท่วมใหญ่เกือบทั่วทุกภาค

โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยจะต่ำกว่าปกติ  (ตลอดทั้งเดือนธันวาคมจนถึงมีนาคมปี 2566) ร่องฝนยังคงมีอิทธิพลต่อภาคใต้ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมต่อไป

ประเทศไทยได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง แต่ถ้าเทียบกับผู้คนในอีกซีกโลกหนึ่งนั้น นับว่าไทยยังได้รับผลกระทบในสถานเบา

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า ในขณะนี้โลกได้มอบประสบการณ์อันเลวร้ายเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

พายุหิมะในสหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักในพื้นที่แถบตะวันออก เหตุการณ์ Snow bomb เช่นนี้จะเกิดบ่อยครั้งในฤดูหนาว เนื่องจาก Climate Change ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นในอ่าวเม็กซิโก เกิดการพัดพามวลความชื้นมาปะทะมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเป็นพายุหิมะ ซึ่งพัฒนาตัวเป็น Bomb cyclone (เนื่องจากความกดอากาศลดต่ำลงทันทีอย่างรวดเร็ว 24 mb ภายใน 24 ชั่วโมง)

ประกอบกับความไม่มีเสถียรภาพของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar vortex) และกระแสลมกรด (Jet stream) จากการละลายน้ำแข็งขั้วโลก เป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ทั่วทุกภูมิภาคตอนบน (ทั้งยุโรป และเอเชียตะวันออก) อย่างไรก็ตาม ต้องมีข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มากขึ้นเพื่อยืนยันเหตุผลดังกล่าวต่อไป


5 ปีข้างหน้า คาดว่าโลกจะร้อนขึ้นเป็น  1.5 องศาเซลเซียส

สภาพอากาศภายใน 5 ปีข้างหน้า (2566-2569) Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการคาดการณ์ว่ามีความเป็นได้เกือบ 50% ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นแตะ 1.5oC  (ปัจจุบันอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.15oC)

เราอาจจะเจอกับภัยแล้งที่รุนแรงในรอบ 10 ปี (ประมาณปี 2568-2569) และน้ำท่วมใหญ่จะกลับมาอีกประมาณปี 2572-2573

การใช้มาตรการ Mitigation (ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก) เพียงอย่างเดียวเพื่อให้บรรลุข้อตกลงปารีสไม่ให้อุณหภูมิเกิน 1.5oC ไม่ใช่คำตอบ และมีทางเดินที่แคบมาก แต่มาตรการปรับตัว (การป้องกัน และลดผลกระทบยึด Nature-based solutions) มีความจำเป็นสูงสุด

“ไม่ใช่หมอดูน่ะครับ แต่เป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่รับฟังไว้เพื่อการเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต” ดร.เสรี กล่าว

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงหนัก ! "Climate Change" เรื่องไม่เล็ก ที่เหล่าธุรกิจต้องให้ความสำคัญ

ด้าน Krungsri Finnovate กล่าวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่า ส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ทั้งในส่วนธุรกิจเกษตรกรรม ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอุตสาหกรรม ฯลฯ จนลามไปถึงปัญหาเศรษฐกิจระดับประเทศ และในระดับโลก

ซึ่งข้อมูลจาก German Watch รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2543 จนถึงปี 2562 ที่ผ่านมา ปัญหา Climate Change ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเสียหายเฉลี่ย 0.82% หรือประมาณ 9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และคาดการณ์ว่าเปอร์เซนต์ GDP ของประเทศจะสามารถลดลงถึง 4.9% - 43.6% ซึ่งหากจัดอันดับประเทศที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด พบว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโลกร้อนเป็นอันดับที่ 9 ของโลกเลยทีเดียว

เมื่อวิเคราะห์อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่าภาคธุรกิจปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันแล้วกว่า 95% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมด นำด้วยภาคพลังงาน 71% รองลงมาเป็นภาคเกษตรกรรม 15% และตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรม 9%

ซึ่งตัวเลขอันน่าตกใจนี้ส่งผลให้ไทย ต้องเร่งแก้ปัญหาโดยหยิบยกมาเป็นวาระเร่งด่วน พร้อมหาวิธีรับมือกับปัญหา โดยได้เข้าร่วมกับภาคีสมาชิกอนุสัญญาของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อปณิธานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยจะเริ่มต้นจากเฟสแรกที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 รวมถึงภาคส่วนธุรกิจ ภาคการเงิน และนโยบายของรัฐก็ต่างขับเคลื่อนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก  : ดร.เสรี ศุภราทิตย์,   Krungsri Finnovate
https://bit.ly/3hjACqy

ติดต่อโฆษณา!