แซม แบงก์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้ง FTX โดนรวบแล้วในบาฮามาส ด้านโด ควอน เจอกบดานในเซอร์เบีย

แซม แบงก์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้ง FTX โดนรวบแล้วในบาฮามาส  ด้านโด ควอน เจอกบดานในเซอร์เบีย
Highlight

อวสานของ 2 วัยรุ่นคริปโท ผู้โด่งดังแห่งปี แซม แบงก์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้ง FTX สร้างตำนานความร่ำรวยจากการเปิดแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโท วงเงินกว่าสองหมื่นล้านดอลลาร์ให้พังลงในเวลาอันรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อนักลงทุนทั่วโลก สุดท้ายโดนรวบได้แล้วที่ บาฮามาส ส่วนโด ควอน หนุ่มน้อยชาวเกาหลี เจ้าของแพลตฟอร์ม Terra Chain และ เหรียญยอดฮิตอย่าง LUNA อยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิด หลังทราบแหล่งกบดานในประเทศเซอร์เบีย ทั้งคู่กำลังถูกตรวจสอบว่ามีส่วนทำธุรกรรมเกี่ยวพันกันหรือไม่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายแซม แบงก์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ได้ถูกจับกุมตัวแล้วในบาฮามาสในวันจันทร์ (12 ธ.ค.)

อัยการสูงสุดของบาฮามาสออกแถลงการณ์ระบุว่า การจับกุมตัวนายแบงค์แมน-ฟรีดเกิดขึ้นหลังจากทางการสหรัฐฯ แจ้งว่าได้ยื่นฟ้องนายแบงก์แมน-ฟรีดในคดีอาญา โดยขณะนี้หน่วยงานสหรัฐฯ และบาฮามาสกำลังทำการตรวจสอบว่า นายแบงก์แมน-ฟรีดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ FTX หรือไม่

ทางด้านนายเดเมียน วิลเลียมส์ อัยการประจำศาลแขวงใต้ของรัฐนิวยอร์กในสหรัฐกล่าวว่า การจับกุมตัวนายแบงก์แมน-ฟรีดเป็นไปตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐฯ 

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา FTX ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสหรัฐฯ ตามมาตรา 11 เพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นาน หลังจากไบแนนซ์ (Binance) ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศยกเลิกข้อตกลงซื้อกิจการเอฟทีเอ็กซ์

ทั้งนี้ การล้มละลายดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง FTX และนายแบงก์แมน-ฟรีดเผชิญกับการสอบสวนจากทั้งหน่วยงานของสหรัฐฯ และบาฮามาสซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ FTX

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า FTX ได้ถูกเจ้าหน้าที่อัยการของเมืองแมนฮัตตันทำการตรวจสอบมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้วก่อนที่บริษัทจะประกาศล้มละลาย

แหล่งข่าวระบุว่า สำนักงานอัยการเขตใต้ของรัฐนิวยอร์กซึ่งนำโดยนายเดเมียน วิลเลียมส์ ได้ใช้เวลานานหลายเดือนในการตรวจสอบเอฟทีเอ็กซ์ซึ่งมีบริษัทลูกหลายแห่งที่ให้บริการซื้อขายคริปโทฯ ทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ โดยการตรวจสอบมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ว่า เอฟทีเอ็กซ์ดำเนินการตามข้อกฎหมาย Bank Secrecy Act ของสหรัฐฯ หรือไม่

ที่ผ่านมานั้น ทางการสหรัฐใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินใช้มาตรการป้องกันการฟอกเงินและการระดมเงินเพื่อการก่อการร้าย และเพื่อทำการตรวจสอบแพลตฟอร์มคริปโทฯ ที่กล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในสหรัฐฯ 

การล่มสลายของ FTX แพลตฟอร์มคู่แข่งของ Binance ที่ปัจจุบันได้ยื่นล้มละลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สถานการณ์นี้ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งซีอีโอ แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ บริษัทที่ลงทุนใน FTX สูญเสียความมั่งคั่งกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในชั่วข้ามคืน รวมถึงนักลงทุนคริปโททั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันแอปพลิเคชัน FTX นั้นได้กลายเป็นมัลแวร์เป็นที่เรียบร้อย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนเรียก แซม แบงก์แมน-ฟรีด ซีอีโอของ FTX ว่าเขาคือ ‘ปีศาจในคราบเด็กเนิร์ด’ เพราะเขาสร้างความเสียหายแก่ผู้คนจำนวนมาก

จากมหาเศรษฐีที่เคยถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินสูงถึง 26,000 ล้านดอลลาร์ ชั่ววันเดียวมูลค่าลดลงถึง 94% กลายเป็นสถิติใหม่เช่นกัน

ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่ที่ FTX แม้แต่บิตคอยน์ยังร่วงลงหนักนับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. เรื่อยมา พอถึง 14 พ.ย. ก็ลงไปอยู่ต่ำกว่า 16,000 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

สาเหตุหลักมาจากการที่ อลาเมดา รีเสิร์ช “ยืม” เงินลงทุนของนักลงทุนจาก FTX หลายพันล้านดอลลาร์มาเทรด แล้วนำโทเค็น FTT มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

รายงานข่าวบางกระแสระบุว่า เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลัง FTX ยื่นล้มละลาย มีอีกมากถึง 134 บริษัททยอยยื่นล้มละลายตามมา

กรณี FTX ถือเป็นบทเรียนที่มีค่ามากพอสำหรับนักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น เทมาเส็ก กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของสิงคโปร์ หรือซอฟต์แบงก์ ของญี่ปุ่น และกองทุนบำเหน็จบำนาญครูในแคนาดา ล้วนตกเป็นเหยื่อของ FTX ทั้งสิ้น และคงขยาดที่จะลงทุนในคริปโตต่อไป

นักวิเคราะห์บางคนไปไกลถึงขนาดว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาวางกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะ เพราะทั้ง ก.ล.ต. และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบกรณีนี้อยู่อย่างเข้มข้น

โด ควอน หนีกบดานในเซอร์เบีย รัฐบาลเกาหลีใต้เร่งประสานส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

นายโด ควอน ผู้ก่อตั้งบริษัทเทอร์ราฟอร์ม แลบส์ (Terraform Labs) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้มูลค่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีสูญหายไปกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ กำลังกบดานอยู่ในประเทศเซอร์เบีย ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังประสานงานกับรัฐบาลเซอร์เบีย เพื่อขอให้ส่งตัวนายควอนกลับมารับโทษ

อัยการเกาหลีใต้ได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า นายควอนและผู้ต้องหาอีก 5 รายได้กระทำความผิดในคดีอาญาหลายข้อหา ซึ่งรวมถึงการละเมิดกฎหมายตลาดทุน โดยก่อนหน้านี้นายควอนได้หลบหนีออกจากเกาหลีใต้ไปกบดานอยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานเทอร์ราฟอร์ม แลบส์ แต่ตำแหน่งที่อยู่ของนายควอนไม่มีความแน่นอน หลังจากสิงคโปร์เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ว่า นายควอนไม่ได้อยู่ในประเทศแล้ว ซึ่งทำให้อัยการเกาหลีใต้เร่งความพยายามในการติดตามตัวนายควอนมาลงโทษ

บริษัท เทอร์ราฟอร์ม แลบส์ของนายควอนเป็นผู้ก่อตั้งสเตเบิลคอยน์เทอร์รายูเอสดี (TerraUSD) และเหรียญลูนา (Luna) ซึ่งต่อมาเหรียญทั้งสองชนิดได้ทรุดตัวลงอย่างหนัก และส่งผลให้มูลค่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซีได้รับความเสียหายอย่างมาก จนเป็นเหตุให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกต้องดำเนินการตรวจสอบสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่องค์การตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ได้ออกหมายแดง (Red Notice) เพื่อให้หน่วยงานบังคับกฎหมายทั่วโลกสืบหาและจับกุมตัวนายควอน

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มเทอร์ราในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งการล่มสลายของสเตเบิลคอยน์เทอร์รายูเอสดีได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล กระทั่งล่าสุดอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล้มละลายของบริษัท FTX ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี

หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์สรายงานว่า ขณะนี้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบว่า นายแซม แบงก์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้ง FTX มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของสเตเบิลคอยน์เทอร์รายูเอสดีและเหรียญลูนาด้วยหรือไม่

จุดจบที่ไม่สวยของ 2 วัยรุ่นคริปโท แม้จะมีความสามารถสร้างอาณาจักรการเงินมูลค่านับแสนล้านบาท แต่รักษาไว้ไม่ได้ และทำวงการปั่นป่วน ทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุนในคริปโทจนยากจะฟื้นตัว

 

ติดต่อโฆษณา!