Moody’s คาด 'ฟิลิปปินส์-เวียดนาม' โตเร็วสุดในอาเซียนปี 2566

Highlight
อาเซียนถูกจับตาในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวและการลงทุนไปแล้วในเวลานี้ เพราะภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่ในเขตที่ห่างไกลจากความขัดแย้งทางการเมืองโลก ผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจึงน้อยกว่าภูมิภาคอื่น เราจึงเห็นการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวมายังภูมิภาคนี้อย่างไม่ขาดสาย ด้านเศรษฐกิจก็เป็นแรงดึงดูดมหาศาล เพราะคาดว่าจะเป็นเขตที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดย Moody’s Analytics สถาบันวิจัยชื่อดัง ยกให้เวียดนามและฟิลิปปินส์ เด่นสุด
บริษัทวิจัย Moody’s Analytics คาดว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีหน้า (2566) ถึงแม้ว่าการขยายตัวของกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม
บริษัทวิจัยดังกล่าวระบุในรายงานว่า เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกกำลังชะลอตัว เนื่องจากการค้าที่ชะลอตัวลงและจีนเจออุปสรรคท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะยังไม่เกิดขึ้นในปี 2566 นี้ ถึงแม้ว่าการเติบโตที่ชะลอตัวลงในยุโรปและอเมริกาเหนือจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคก็ตาม
เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญหน้ากับความเติบโตต่ำและเงินเฟ้อสูงที่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) กลับมีทิศทางบวก จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง การเติบโตอย่างรวดเร็ว และอนาคตที่ส่องสว่าง
นอกจากนี้ Moody’s ยังระบุว่า ฟิลิปปินส์จะสัมผัสได้ถึงผลกระทบจากการกลับมาเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดได้ช้า เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ด้วยเหตุนี้ อุปสงค์สินค้าและบริการที่ถูกยับยั้งไว้ทั้งจากในภาคธุรกิจและครัวเรือนจะผลักดันให้เกิดการเติบโตในปีหน้า ขณะที่นโยบายการคลังของรัฐบาลก็ส่งเสริมเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข และการกลับไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน
“อาเซียน” เนื้อหอมไม่หยุดจนทั่วโลกต้องจับตา
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงศักยภาพให้เห็นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านไป กับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G20 ที่อินโดนีเซีย และเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ที่ไทย
โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP ของภูมิภาคนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา จาก 4.9% ขึ้นเป็น 5.1% และ HSBC คาดว่าไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม จะเติบโตที่ 3.2%-7.6% ในปีนี้ท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
สากลนิยม คือกุญแจสำคัญ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ฝังตัวเองลงไปกับบรรดาข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์ทั้งภายในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งอาเซียนเป็นกลุ่มการค้าระหว่างประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันกินสัดส่วนเกือบ 8% ของการส่งออกทั่วโลก
ปัจจัยที่ขับเคลื่อนความน่าสนใจระหว่างประเทศได้มี 3 ข้อ คือ 1) ข้อมูลประชากร 2) ดิจิทัล และ 3) พลวัตนิยม ซึ่งอาเซียนมีจำนวนประชากรถึง 680 ล้านคน และกำลังมีความมั่งคั่งและมีการศึกษามากขึ้น ทำให้ได้แรงงานที่มีทักษะและค่าแรงยังสามารถแข่งขันได้ ประกอบกับประชากรวัยหนุ่มสาวก็กำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่จะได้รับอำนาจและถูกเชื่อมต่อด้วยโอกาสทางดิจิทัลที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำนักงานสถิติทั่วไปของเวียดนาม รายงานตัวเลขคาดการณ์มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. อยู่ที่ 2.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5% เมื่อเทียบรายปี
รายงานระบุว่า เวียดนามออกใบอนุญาตโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ จำนวน 1,812 โครงการ ซึ่งมีทุนจดทะเบียนรวมกว่า 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.9% ในเชิงปริมาณ แต่ลดลง 18% ในเชิงเงินทุน เมื่อเทียบรายปี
ขณะเดียวกัน เวียดนามมีโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน 994 โครงการ มีมูลค่าเกือบ 9.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 11 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบรายปี
รายงานเสริมว่า มูลค่าการเบิกจ่ายเงินทุนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรก รวมอยู่ที่ประมาณ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อเทียบรายปี
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุดคือญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าการลงทุน 3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยมูลค่าการลงทุนจากสิงคโปร์ 1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวยอดนิยม

ค้างค่างวด แต่ไม่อยากให้รถ “โดนยึด” มีวิธีไหนช่วยได้บ้าง?

ส่องประวัติ “อแมนด้า ออบดัม” นางงาม “ไทย” ไปเวที “จักรวาล”

ครม. เคาะ! ต่ออายุ “เราชนะ” ถึง 30 มิ.ย.64

ทำไมคนไทยมีลูกลดลงอย่างน่าใจหาย 20 ปีข้างหน้าอาจเหลือเพียง 36 ล้านคน
