25 พฤศจิกายน 2565
4,189

รู้จักกับ Ring of Fire หรือวงแหวนแห่งไฟ ทำไมเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศในช่วงนี้

รู้จักกับ Ring of Fire หรือวงแหวนแห่งไฟ ทำไมเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศในช่วงนี้
Highlight

แผ่นดินไหว เป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติที่น่ากลัวและสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของมวลมนุษย์ชาติ ในช่วงนี้มีหลายประเทศประสบภัยบ่อยขึ้น  โดยส่วนใหญ่จะเป็นเขตที่ตั้งอยู่ในโซนวงแหวนแห่งไฟ หรือ “Ring of Fire” อย่างเช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น แม้ไทยจะไม่อยู่ในโซนอันตราย แต่เคยประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิมาแล้ว อีกทั้งยังมีการเดินทางท่องเที่ยวไปยังดินแดนต่างๆ ที่อยู่ในโซนอันตรายเหล่านี้ ภัยแผ่นดินไหวจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ในอดีตเคยมีแผ่นดินไหวสูงถึง 9.5 ที่ชิลี


สถานการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน และไหวค่อนข้างรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดในประเทศในพื้นที่ วงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire

20221125-a-01.jpg

แผ่นดินไหว อินโดนีเซีย 5.6 แมกนิจูด เสียชีวิตกว่า 270 ราย

รายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว 5.6 แมกนิจูดในจังหวัดชวาตะวันตกของอินโดนีเซียมี เมื่อ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เสื่อ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซียเปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ระดับ 271 ราย ขณะที่บาดเจ็บมากกว่า 1,000 ราย และสูญหาย 40 รายและมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 7,000 ราย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ที่มีความรุนแรงเพียง 5.6 แมกนิจูด มีสาเหตุหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่แผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นในจังหวัดชวาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากที่สุดของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ แผ่นดินไหวได้เกิดใกล้กับบริเวณรอยเลื่อน ขณะที่จุดศูนย์กลางอยู่ที่ระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร รวมทั้งการที่อาคารในพื้นที่ไม่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว จึงทำให้เกิดการถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่พบร่างผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหลายคนที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารของโรงเรียนสอนศาสนาที่พังถล่มลงมา

แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ไกลถึงกรุงจาการ์ตา ซึ่งห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึง 70 กิโลเมตร และทำให้ประชาชนต้องพากันอพยพออกจากบ้านเรือนและอาคารต่างๆ

แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ที่หมู่เกาะโซโลมอน เสียชีวิตกว่า 160 ราย

เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.0 เขย่าหมู่เกาะโซโลมอน เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา  แจ้งเตือนสึนามิ นายกฯเรียกร้องให้ประชาชนรีบอพยพขึ้นที่สูง ไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 5.6 ที่อินโดนีเซีย เสียชีวิตกว่า 270 ราย

การเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่หมู่เกาะโซโลมอน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้แก่ประชาชนอย่างมาก เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ที่จังหวัดชวาตะวันตก บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา

ระบบเตือนภัยสึนามิในสหรัฐฯ ได้ออกคำเตือนให้ประชาชนริมชายฝั่งหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งอาศัยอยู่ในรัศมีห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 300 กิโลเมตร ต้องระวังคลื่นยักษ์ หรือสึนามิ เพราะคาดว่าจะเกิดคลื่นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และอาจถึง 1 เมตร ซัดชายฝั่งในบางพื้นที่ของหมู่เกาะโซโลมอน  ขณะที่นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะโซโลมอนได้แจ้งเตือนเรียกร้องให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลรีบอพยพขึ้นที่สูง

ซึ่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่ง และห่างจากกรุงโฮนีอารา เมืองหลวงของหมู่เกาะโซโลมอน ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 56 กิโลเมตร จากนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 รุนแรงขนาด 6.0 ในอีกประมาณ 30 นาทีต่อมา และยังได้เกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้อีก 5 ครั้ง ในช่วง 90 นาที

แผ่นดินไหวที่ตุรกี 5.9 แมกนิจูด บาดเจ็บอย่างน้อย 50 ราย

เกิดเหตุแผ่นดินไหว 5.9 แมกนิจูดในเมืองแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศตุรกีในช่วงเช้าวันนี้ (23 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนบางส่วนพังเสียหายและมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 50 ราย โดยส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บในช่วงที่พยายามหนีออกจากบ้าน

เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโกลยากา ในจังหวัดดุซเจ (Düzce) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากอิสตันบูลไปประมาณ 200 กิโลเมตร

เหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 4.08 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ไกลถึงนครอิสตันบูล, กรุงอังการา และพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาค และมีรายงานว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายสิบครั้ง โดยมีครั้งหนึ่งมีความรุนแรงถึง 4.3 แมกนิจูด

บันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงของโลกในประวัติศาสตร์

สำนักข่าวเอเอฟพีได้นำข้อมูลของสำนักสำรวจทางภูมิศาสตร์ สหรัฐอเมริกา (US Geological Survey) ที่บันทึกสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดของโลก ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินสะเทือนครั้งใหญ่ๆ 10 อันดับแรก ที่ไหน เมื่อใดกันบ้าง

อันดับที่ 1

แผ่นดินไหวขนาด 9.5 เมื่อวันที่ 5 พ.ค.1960 ที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของชิลี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,600 คน และอีก 2 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

อันดับที่ 2

แผ่นดินไหวขนาด 9.2 เมื่อวันที่ 27 มี.ค.1964 ที่มลรัฐอะแลสกา สหรัฐฯ เกิดสึนามิคร่าไป 128 ชีวิต และทำลาย "แองคอเรจ" (Anchorage) เมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐ

อันดับที่ 3

แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่เราทุกคนจำได้ดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2004 ใต้ทะเลบริเวณประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดสึนามิเป็นวงกว้างตามชายฝั่งทะเลของหลายประเทศในแถบทะเลอินเดีย สูญเสียชีวิตไปมากกว่า 220,000 คน

อันดับที่ 4

แผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.1952 ที่รัสเซีย เหตุเกิดที่บริเวณชายฝั่งของคาบสมุทรคัมซัตคา (Kamchatka) ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ส่งผลให้เกิดสึนามิกว้างขวางในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ไม่มีรายงานบันทึกความเสียหาย

อันดับที่ 5

แผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.1868 บริเวณท่าเรือเมืองเอริกา ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเปรู แต่ปัจจุบันเป็นของชิลีเมื่อเกิดแผ่นดินไหว รู้สึกสะเทือนไปไกลถึง 1,400 กิโลเมตร

อันดับที่ 6

แผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.1700 ที่ทวีปอเมริกาเหนือ ตามแนวชายฝั่งตะวันตก เกิดสึนามิข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ทำลายหมู่บ้านตามชายฝั่งของญี่ปุ่น

อันดับที่ 7

แผ่นดินไหวขนาด 8.9  เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2011 แผ่นดินไหวใต้ทะเลที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิสูง 10 เมตร กวาดทะลักเข้าแผ่นดิน

อันดับที่ 8

แผ่นดินไหวขนาด 8.8 เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2010 ที่บริเวณชายฝั่งประเทศชิลี แผ่นดินไหวตามแนวชายทะเลเมืองมาอูเล (Maule) ห่างจากเมืองหลวงซานติเอโกไปเพียง 500 ก.ม. เกิดสึนามิทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 ราย

อันดับ 9

แผ่นดินไหวขนาด 8.8 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.1906 ที่เอกวาดอร์ แผ่นดินสะเทือนที่ชายฝั่งอเมริกาใต้ศูนย์กลางที่เอกวาดอร์และโคลัมเบีย แต่รู้สึกไปไกลถึงเกือบสุดทวีปอเมริกาเหนือที่ซานฟรานซิสโก

อันดับที่ 10

แผ่นดินไหวขนาด 8.7 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.1965 ที่เกาะแรต (Rat Islands) ห่างออกไปไกลจากมลรัฐอะแลสกา ทำให้เกิดสึนามิคลื่นสูงประมาณ 10 เมตร



การเกิดแผ่นดินไหวเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายหรือไม่

แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมาย หากมองตามแนววงแหวนไฟที่พาดผ่านลอมบอก เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวนั้นจะเกิดบริเวณวงแหวนไฟอยู่แล้ว  เมื่อเกิดแผ่นดินไหว แรงดันของแมกม่าจะไปดันรอยต่อต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้น แรงสั่นสะเทือนก็ทำให้เกิดการสไลด์ของหินและดินบนภูเขา เนื่องจากความแข็งแรงในดินหลวม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยภูเขาไฟทำให้เกิดแผ่นดินไหว ในขณะเดียวกันแผ่นดินไหวอาจจะเกิดพร้อมกับภูเขาไฟลูกใหม่ก็ได้ เพราะปะทุอยู่แล้ว ก็อาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเรื่อยๆ เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมา

Ring of fire หรือ วงแหวนไฟ คืออะไร

วงแหวนไฟ คือ จุดที่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ชนกันอยู่ ซึ่งจะเกิดแผ่นดินไหว มีภูเขาไฟอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นความเสี่ยงของประเทศที่อยู่บริเวณแนววงแหวนไฟที่จะเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟปะทุเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ห่าง ดังนั้นแผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติจึงไม่มีแผนเตรียมพร้อมภูเขาไฟ ส่วนสึนามิที่ไทยได้รับผลกระทบเมื่อปี 2547 มีผลจากวงแหวนไฟ เนื่องจากจุดกำเนิดอยู่ใกล้บริเวณแนวรอยเลื่อนที่พาดผ่านไปทางเมียนมา ขณะที่สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ก็มีจุดกำเนิดที่วงแหวนไฟ

ประเทศที่ตั้งหรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนววงแหวนไฟ

ได้แก่ ประเทศเบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์-เลสเต เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาส เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองงา ตูวาลู และสหรัฐอเมริกา

ความกังวลเรื่องภูเขาไฟในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จำนวนภูเขาไฟมีประมาณ 750 ลูก ในบริเวณพื้นที่ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนภูเขาไฟที่ยังมีพลังและเชื่อว่าในรอบ 100 ปี ยังมีการระเบิดอยู่มีประมาณ 70 ลูก สิ่งนี้ทำให้ต้องจับตามองเป็นพิเศษ สำหรับภูเขาไฟรินจานีที่ลอมบอกนี้ มีดัชนีความรุนแรงแผ่นดินไหวอยู่ที่ระดับ 3 คือ ไม่เกิน 10 ปี จะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วภูเขาไฟลูกนี้เคยระเบิดแล้วครั้งหนึ่ง

ทำอย่างไร เมื่อเกิดแผ่นดินไหว-ภูเขาไฟปะทุ

เมื่อแผ่นดินไหว นักท่องเที่ยวต้องหลบเข้าไปในอาคารที่ปลอดภัย เนื่องจากควัน ฝุ่นเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก ต้องสวมหน้ากากอนามัย โดยอาคารห้ามอยู่ในที่ต่ำเพราะลาวาจะไหลไปในที่ต่ำ จึงต้องอยู่ในที่ๆ โคลนหรือลาวาไหลไปไม่ถึง แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีอาคารนักท่องเที่ยวจะต้องอพยพไปยังจุดที่คาดว่าปลอดภัย

ความเสี่ยงของไทยกับภัยพิบัติในอนาคต

ข้อมูลในประเทศไทยบ่งชี้ว่าในฤดูฝน ฝนจะหนักมากขึ้นร้อยละ 30 สิ่งใดที่ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานไว้ไม่เพียงพอ เช่น ท่อระบายน้ำใน กทม.ก็จำเป็นต้องปรับปรุง เขื่อนออกแบบไว้สำหรับรับน้ำได้ขนาดนี้ ต้องเพิ่มไปอีก 1.3 เท่า ภัยพิบัติเหล่านี้ เกิดจากสภาพอากาศ หรือ climate change ทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ที่ฝนตกหนัก ถึงวันละ 300 มิลลิเมตร เนื่องจากแนวปะทะอากาศเคลื่อนขึ้นมาบริเวณนั้นพอดี

ในอนาคตข้างหน้าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจเราว่าภัยเป็นของทั่วโลก แต่ในอดีต ร้อยละ 40 ภัยเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย มีคนเสียชีวิตมากที่สุดในทวีปเอเชีย ถึงร้อยละ 50 ระยะหลังเอเชียเติบโตมากขึ้น คนย้ายไปอยู่ในพื้นที่มีผลกระทบมากขึ้น อนาคตเรารู้ว่าภัยมาถึงตัว คงต้องกลับมาดูตัวเองว่าเราพร้อมจะรับมือกับมันหรือยัง

อ้างอิง :  ThaiPBS, Wikipedia, scimath.org. เอเอฟพี

ติดต่อโฆษณา!