21 พฤศจิกายน 2565
866

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลด SP หุ้น MORE ร่วงติดฟลอร์ทันที ด้านสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แจ้งอายัดทรัพย์ 34 รายการ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลด SP หุ้น MORE ร่วงติดฟลอร์ทันที ด้านสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แจ้งอายัดทรัพย์ 34 รายการ
Highlight

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ปลดเครื่องหมาย SP หรือหยุดการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) หลังได้ตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้วและส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ปปง. มั่นใจไม่กระทบฐานะโบรกเกอร์ที่ถือหุ้น MORE แม้ราคาจะร่วงติดฟลอร์ สัปดาห์นี้ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมปรับเกณฑ์ มูลค่าหลักประกัน การมีหน่วยงานกลางคล้าย เครดิต บูโร เพื่อเป็นข้อมูลด้านสินเชื่อกับบริษัทหลักทรัพย์ในการพิจารณาให้มาร์จิน กับลูกค้า ด้าน CEO บล.เอเชีย เวลท์ ลาออก หลังบริษัทถูกระงับการประกอบธุรกิจ เนื่องจากนำเงินลูกค้าไปชำระค่าหุ้นโดยไม่ได้รับความยินยอม


หุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด(มหาชน) หรือ MORE ราคาเปิดอยู่ที่ 0.96 บาท ลบ 0.41 บาท หรือ 29.93%  โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 3.17  ล้านบาท โดยวันนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.ได้ปลดเครื่องหมายห้ามการซื้อขายหรือ SP ในหุ้น MORE เป็นวันแรก นับตั้งแต่ถูกขึ้นเครื่องหมายเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 

20221121-b-01.jpg

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ ตลท.ได้ปลดเครื่องหมาย SP หรือหยุดการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) หลังได้ตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้วและส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว

“ตลาดหลักทรัพย์ประเมินผลกระทบจากการที่จะปลด SP หุ้น MORE เราได้คำนวณและดูผลกระทบต่าง ๆ แล้ว คิดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อระบบ จึงค่อนข้างมั่นใจในการที่จะเปิดให้ซื้อขายได้ ทั้งนี้ เราค่อนข้างพอใจกับความสำเร็จในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ว่าได้ส่งข้อมูลให้กับทางตำรวจอย่างครบถ้วน รวมถึงการส่งข้อมูลให้กับผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องแล้ว” นายภากรกล่าว

นายภากรกล่าวอีกว่า การซื้อขายหุ้น MORE ขอให้นักลงทุนใช้ข้อมูลและพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างรอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจลงทุน รวมทั้งโบรกเกอร์ทุกรายสามารถรองรับสถานการณ์ได้แม้ว่ามูลค่าหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันอาจจะต่ำลงไปมาก

นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งไปยังหน่วยงานกำกับดูแล คือ ก.ล.ต. และส่งทางตำรวจ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาในระยะยาว ตลาดหลักทรัพย์กำลังดำเนินการ 2 เรื่อง   เรื่องแรก คือการประเมินร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต.ในปรับปรุงกฏเกณฑ์ เรื่องที่สองคือการพิจารณา ออกรายชื่อ list , การปรับหลักประกัน หรือ collateral asset, เกณฑ์ การ haircut เป็นต้น

ขณะที่ ปปง.ได้แจ้งไปยังโบรกเกอร์เพื่ออายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MORE ผิดปกติจำนวน 34 รายการ เป็นเวลา 90 วัน

นายพิเซษฐ์ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในการดำเนินคดีฟ้องร้อง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน  ในส่วนที่เป็นการฟ้องคดีฉ้อโกงซึ่งเป็นคดีอาญา ผู้ฟ้องคือบริษัทหลักทรัพย์ และในส่วนที่เป็นการฟ้องในกรณีการสร้างราคา หรือปั่นหุ้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้คือ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ลำดับต่อไปในการดำเนินการของสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอนาคต คือ เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของหลักประกันในบัญชีซื้อขายหุ้น  วงเงินที่โบรกเกอร์จะพิจารณาให้ลูกค้า และการประเมินลูกค้าจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ยังเห็นด้วยว่า จะต้องมีหน่วยงานส่วนกลางคล้ายเป็น เครดิต บูโร เพื่อรวบรวมยอดการปล่อยสินเชื่อรวมของลูกค้า เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินความเสี่ยง

สำหรับกรณีหุ้น MORE นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการซื้อขายหุ้น MORE ด้วยมูลค่าที่สูงผิดปกติจากประมาณ 300 ล้านบาทต่อวัน พุ่งขึ้นกว่า 7 พันล้านบาท จนทำให้ราคาวันที่ 10 พ.ย. พุ่งกว่า 4.3% ช่วงเปิดตลาด มีปริมาณซื้อขาย 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 4.5 พันล้านบาท ก่อนจะถูกเทขายอย่างหนักจนร่วงติดฟลอร์จาก 2.90 บาทลงมาปิดที่ 1.37 บาท เมื่อวันที่ 11 พ.ย.

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต.ตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าวว่า มีการสร้างราคา ปั่นหุ้นระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อหรือไม่ และมีพฤติกรรมฉ้อโกงในการสั่งซื้อหรือไม่ เพราะถึงตอนนี้ผู้รับซื้อคือ นายอภิมุข รักษาวงษ์ หรือปิงปอง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท ไม่ชำระเงินค่าหุ้นเมื่อถึงกำหนด ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้บริการบัญชีมาร์จิ้นกว่า 10 รายต้องรับภาระแทน  ซึ่งคาดว่าเมื่อรวมกับความเสียหายของนักลงทุนรายย่อย อาจมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 7.5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย เวลท์ แจ้ง ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบบริษัทซึ่งพบว่ามีการนำเงินของลูกค้าจำนวนเงินราว 157 ล้านบาท ไปชำระราคาหุ้น ซึ่งเป็นการกระทำโดยที่ลูกค้าไม่ยินยอม คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) จึงสั่งระงับการประกอบธุรกิจชั่วคราวตั้งแต่ 16 พ.ย. และให้นำเงินคืนลูกค้าภายใน 20 พ.ย.

สื่อ Infoquest รายงานว่า แหล่งข่าวในวงการบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ย. 65 นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเชีย เวลท์ หลังบริษัทได้รับผลกระทบจากการซื้อขายผิดปกติหุ้น MORE

จนต้องนำเงินในบัญชีลูกค้าไปใช้ชำระราคาหุ้น MORE ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้นำเงินมาคืนลูกค้าภายในวันที่ 20 พ.ย.และสั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ ยุติการดำเนินธุรกิจชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.65 และในวันนี้ก็ยังไม่ได้เปิดดำเนินการ

ติดต่อโฆษณา!