10 พฤศจิกายน 2565
1,678

จับตาวาระร้อนในการประชุมสุดยอดผู้นำ “อาเซียน ซัมมิท” ที่พนมเปญ 12-13 พ.ย. โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ เข้าร่วม

จับตาวาระร้อนในการประชุมสุดยอดผู้นำ “อาเซียน ซัมมิท” ที่พนมเปญ 12-13 พ.ย. โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ เข้าร่วม
Highlight

สื่อต่างประเทศระบุ “สถานการณ์เมียนมา” กำลังกุมทิศทางเวที “อาเซียนซัมมิต” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในกรุงพนมเปญ โดยในวันที่  12-13 พ.ย.ผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมสุดยอด รวมทั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน ที่จะเข้าร่วมด้วย ซึ่งคาดว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคทั้ง เมียนมา และ ทะเลจีนใต้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา รวมทั้งการฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของโควิด-19 การค้าในภูมิภาค และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติจะเป็นวาระหลักในการพิจารณา


การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะเริ่มต้นในวันนี้ คาดว่าจะมุ่งเน้นการหารือในประเด็นสถานการณ์เมียนมา ในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีทีท่าว่าจะปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ทำไว้กับอาเซียนแต่อย่างใด รวมทั้งประเด็นร้อนอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของโควิด-19 การค้าในภูมิภาค และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย จะมีนัยยะสำคัญอย่างไร

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งรุกขยายอิทธิพลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก สหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินทางเข้าร่วมเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ก่อนมุ่งหน้าไปบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม จี-20 ในวันที่ 13-16 พฤศจิกายน

โดยในเวทีจี-20 นั้นคาดกันว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย อาจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ร่วมประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และให้รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส เข้าร่วมแทน

 

ทั้งนี้ คาดว่าประธานาธิบดีสี และประธานาธิบดีปูติน จะไม่ได้เข้าร่วมเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือการหารือคู่ขนานในเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมแทน

นอกจากนี้ ทางกัมพูชา ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียน ได้เทียบเชิญยูเครนให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีนี้ และรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนได้พบกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อวันพุธ ก่อนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะเริ่มต้นขึ้น และว่าประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี จะขึ้นกล่าวในเวทีนี้ผ่านออนไลน์ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันเพิ่มเติมในเรื่องนี้จากทางการกัมพูชา

ที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เข้าร่วมเวทีอาเซียนซัมมิตมาตั้งแต่ปี 2017 และยังออกจากการประชุมในปีนั้นไปก่อนเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วย และให้เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยนั้นรับหน้าที่ต่อ

ในเรื่องนี้ โธมัส แดเนียล ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Malaysia's Institute of Strategic and International Studies ให้ทัศนะกับเอพีว่า การเข้าร่วมเวทีอาเซียนซัมมิตด้วยตัวเองของปธน. ไบเดน จะสามารถผลักดันผลประโยชน์ของอเมริกา และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

ปีนี้อาเซียน ยกระดับสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไปสู่สถานะ "การเป็นหุ้นส่วนกันเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม" หรือ comprehensive strategic partnership เทียบเท่ากับจีนที่ได้รับสถานะดังกล่าวไปเมื่อปีก่อน

เมื่อเดือนตุลาคม แดเนียล คริเทนบริงค์ (Daniel Kritenbrink) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุว่า การประชุมสุดยอดในเวทีต่าง ๆ นี้ จะเป็นโอกาสในการ “สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตในภูมิภาคในหลายระดับ” และสหรัฐฯ จะมุ่งเน้น “สานต่อโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ มากกว่าการเสนอโครงการริเริ่มใหม่ ๆ อีกมากมายเข้ามา”

การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ในเวทีเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งและยืนยงกับภูมิภาคนี้ พร้อมบอกด้วยว่า “ตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี รัฐมนตรีต่างประเทศ ไปจนถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างรู้ว่า อนาคตด้านความมั่นคงและมั่งคั่งของอเมริกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คริเทนบริงค์ เพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ จะหารือกับสมาชิกอาเซียน เกี่ยวกับการเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมาให้ยุติการใช้ความรุนแรงและเดินหน้ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง และว่า “เราจะไม่นั่งอยู่เฉย ๆ ในระหว่างที่ความรุนแรงยังดำเนินต่อไป”

ที่ผ่านมา อาเซียนที่เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก เป็นแกนนำในความพยายามสร้างสันติภาพในเมียนมา หลังจากเมียนมาติดอยู่ในสภาวะความขัดแย้งและความรุนแรง หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร โค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของออง ซาน ซู จี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 จับกุมคุมขังออง ซาน ซู จี นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก รวมทั้งเดินหน้าปราบปรามผู้ประท้วงและผู้เห็นต่างมาตลอด

ขณะที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนหลายวาระในช่วงที่ผ่านมา มีเพียงการออกแถลงการณ์ร่วมวิจารณ์เมียนมาว่าไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ทำไว้กับอาเซียน และได้โยนประเด็นนี้เข้าสู่การหารือระดับผู้นำในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะมีขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้แทน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ คาดว่าบรรดาผู้นำอาเซียนอาจรอจนกระทั่งอินโดนีเซีย ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนท่าทีแข็งกร้าวกับเมียนมา จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานหมุนเวียนของประชาคมอาเซียนในปีหน้า ก่อนที่อาเซียนจะเดินหน้ามาตรการอื่น เพิ่มเติม

อ้างอิง  : เอพี,   VOA

ติดต่อโฆษณา!