จับตาค่าเงิน “เยน” ขาลง อนาคตและทางออกของสกุลเงินเยน

จับตาค่าเงิน “เยน” ขาลง อนาคตและทางออกของสกุลเงินเยน
Highlight

เงินเยนญี่ปุ่น เป็นสกุลเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก ดอลลาร์สหรัฐ และยูโร อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 32 ปี ที่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินโดยไม่ขึ้นดอกเบี้ย แม้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแทรกแซงมา 3 ครั้งแต่ก็ทำให้แข็งค่าในระยะสั้นเท่านั้น แต่เงินเยนอ่อนค่ามีทั้งผลดีคือบริษัทญี่ปุ่นระดับโลกมีกำไีรจากอัตราแลกเปลี่ยน และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนผลเสียคือราคาสินค้าและพลังงานแพงขึ้น แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ในขณะที่สหรัฐฯ ก็จะขึ้นดอกเบี้ย จึงคาดเดาได้ยากในอนาคตเยนจะอ่อนค่าไปเรื่อยๆ หรือไม่


“เยน” สกุลเงินของญี่ปุ่น เป็นสกุลเงินที่ถูกใช้โดยทั่วไปมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ตามหลังดอลลาร์สหรัฐและยูโร โดยเป็นเวลาหลายทศวรรษที่สกุลเงินเยนถูกมองเป็น “ตัวแทน” ของเอเชีย มาวันนี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าในรอบ 32 ปี ญี่ปุ่นจะแก้ปัญหาอย่างไร

รัฐมนตรีที่ดูแลการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคนใหม่ให้คำมั่นเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายโกโต ชิเงยูกิ รัฐมนตรีที่ดูแลการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคนใหม่กล่าวว่า รัฐบาลจะออกชุดมาตรการทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยมุ่งเน้นแนวทางเพื่อรับมือราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินเยนที่อ่อนค่าลง และเพื่อทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในเชิงโครงสร้างประสบความสำเร็จ

นายโกโตกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 26 ตุลาคมหลังเข้ารับตำแหน่งในวันก่อนหน้า โดยเขาเข้ารับตำแหน่งนี้แทนนายยามางิวะ ไดชิโรซึ่งได้ลาออกไปหลังมีข่าวพัวพันกลุ่มศาสนาที่มีชื่อเดิมว่าโบสถ์แห่งความสามัคคี

การแต่งตั้งนายโกโตมีขึ้นในช่วงที่รัฐบาลกำลังเตรียมการเพื่อสรุปชุดมาตรการทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม

นายโกโตได้ให้คำมั่นที่จะพยายามอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่และทำให้ความรับผิดชอบในฐานะรัฐมนตรีสำเร็จลุล่วง

นายโกโตรับผิดชอบเรื่องการรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ด้วย เขากล่าวว่าเขาจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างแน่วแน่ต่อไปเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการติดเชื้อระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกให้หลังในปีนี้

ศิริอาภา คำจันทร์ ASEAN Specialist AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ มีมุมมองว่า เงินเยนของญี่ปุ่น เป็นสกุลเงินที่ถูกใช้โดยทั่วไปมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ตามหลังดอลลาร์สหรัฐและยูโร โดยเป็นเวลาหลายทศวรรษที่สกุลเงินเยนถูกมองเป็น “ตัวแทน” ของเอเชีย ซึ่งถึงแม้ว่าสกุลเงิน “หยวน” ของประเทศจีนจะค่อยๆ เพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความยืดหยุ่นอาจยังมีไม่เพียงพอ ทำให้สกุลเงินเยนยังคงเป็นเงินตราของเอเชียที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่ดีกว่าสกุลเงินหยวน

นอกจากนี้ สกุลเงินเยนยังเป็นเงินตราต่างประเทศที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่นิยมมากเป็นอันดับที่ 4 โดยเป็นรองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ, ยูโร และปอนด์สเตอร์ลิง ดังนั้น สกุลเงินเยนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใดที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชีย นักลงทุนจะแสดงความคิดเห็นผ่านทางสกุลเงินเยน ซึ่งจะไม่น่าแปลกใจนักหากมีการนำเสนอข่าวด่วนที่ก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ก็จะสั่นสะเทือนถึงสกุลเงินเยนอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าปัญหาเหล่านั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็ตามที

อีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจคือ สกุลเงินเยนนั้นเป็นสกุลเงินที่รองรับการระดมทุน ดังนั้น สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในเอเชียหรือตลาดต่างๆ มีแนวโน้มจะผลักดันให้สกุลเงินเยนไต่ระดับสูงขึ้น

ยกตัวอย่าง ความสัมพันธ์อันดีทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มจะทำให้สกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ในทางกลับกันถ้าหากความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่าย เลวร้ายลง สกุลเงินเยนก็จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ส่วนในมุมของการลงทุน เมื่อบรรดานักลงทุนมีมุมมองไปในทิศทางที่ดีและหุ้นก็ฟื้นตัวจะส่งผลให้สกุลเงินเยนนั้นอ่อนค่ากว่าสกุลเงินนั้นๆ แต่ถ้าตลาดหุ้นพังยับ สกุลเงินเยนก็จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของสกุลเงินเยนที่นับเป็นเครื่องชี้วัดความทนทานต่อความเสี่ยงของตลาดด้วย

ทำไมสกุลเงินเยนอ่อนค่า

สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนทะลุ 150 เยนต่อดอลลาร์ เมือ่วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบ 32 ปี โดยสาเหตุหลักๆ เพราะธนาคารกลางของญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาก (ultra-easy monetary policy) โดยรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำสุดที่ -0.1% สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ที่ใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินโดยกำลังปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

เมื่อโฟกัสไปเฉพาะที่สหรัฐฯ ที่มุ่งปรับดอกเบี้ยขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บรรดานักลงทุนมองว่าสินทรัพย์การเงินที่เป็นดอลลาร์สหรัฐนั้นน่าดึงดูดใจยิ่งขึ้น ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรต่างๆ นั้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มเทรดเดอร์คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงต่อไป

ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น จะยังคงรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ราว 0% เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และอีกปัจจัยที่มีส่วนกดดันสกุลเงินเยน คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งยังไม่ฟื้นกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการขาดดุลการค้า

สกุลเงินเยนอ่อนค่าส่งผลอย่างไรต่อญี่ปุ่น

สกุลเงินเยนที่อ่อนตัวลงเป็นประวัติการณ์ได้สร้างทั้งประโยชน์และโทษต่อเศรษฐกิจ, ธุรกิจ และผู้บริโภค โดยการที่สกุลเงินเยนอ่อนค่าช่วยบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินการในระดับโลก เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าของกำไรในต่างประเทศที่ส่งคืนกลับมา และในส่วนหนึ่งเป็นเพราะสกุลเงินเยนตก จึงทำให้กำไรของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2497 ด้วย และการอ่อนค่าของเงินเยนยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในแง่ที่สินค้าส่งออกของอุตสาหกรรมการผลิตจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

นอกจากนั้น ค่าเงินที่อ่อนตัวยังสามารถช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และล่าสุด ผู้นำญี่ปุ่นได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดน โดยจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและใช้การอ่อนค่าของสกุลเงินเยนให้เป็นประโยชน์

อย่างไรก็ตาม แม้ค่าเงินอ่อนตัวจะสร้างประโยชน์ แต่ก็ให้ผลร้ายเช่นกันคือ การนำเข้าพลังงานและอาหารมีราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบหนักต่อผู้บริโภคที่รายได้ยังตามไม่ทันค่าครองชีพที่พุ่งสูง

อนาคตและทางออกของสกุลเงินเยน

หากถามต่อว่า อนาคตของสกุลเงินเยนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปที่สาเหตุหลักที่ทำให้สกุลเงินเยนอ่อนค่าคือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะปรับเพิ่มสูงอีกแค่ไหน และทางออกของการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนอาจมีอยู่ 4 ทางคือ

  1. ลดการขาดดุลการค้าโดยส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตกลับมาที่ญี่ปุ่น
  2. ต้องรอให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
  3. วิธีการแทรกแซงโดยตรงในตลาดเงินตราต่างประเทศ โดยการขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการซื้อสกุลเงินเยน ซึ่งหากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจใช้วิธีนี้ เพื่อทำให้สกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นก็จะนับเป็นการแทรกแซงค่าเงินครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541
  4. “การเตือนด้วยวาจา” (Verbal Warnings) ที่ทางการญี่ปุ่นใช้อยู่บ่อยครั้งแทนที่จะเข้าแทรกแซงจริงๆ ซึ่งเบื้องต้นทางการญี่ปุ่นเองก็มองว่าวิธีนี้น่าจะเพียงพอที่จะขวางกั้นทิศทางขาลงของสกุลเงินเยนได้

อย่างไรก็ดี สกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่ำมากเช่นนี้และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาว่าผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายควรเข้าควบคุมผ่านการแทรกแซงค่าเงินหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่งผลให้ล่าสุดญี่ปุ่นได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินเยนแล้ว 3 ครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะกอบกู้การแข็งค่าเงินเยนไว้ได้ในช่วงสั้นๆ เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายและคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป

ทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่เคยมีอยู่ราว 1.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในโลกรองจากประเทศจีน และส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถึงแม้ดูเหมือนปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศจะมีมาก แต่ก็อาจลดลงอย่างรวดเร็วหากจำเป็นต้องใช้เงินปริมาณมากเพื่อเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนในแต่ละครั้ง

ที่มา : NHK World Japan, AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ติดต่อโฆษณา!