รู้จัก ริชี ซูนัค นายกฯ อังกฤษเชื้อสายเอเชียคนแรก กับเกมท้าทายทางการเงินที่รออยู่ข้างหน้า

รู้จัก ริชี ซูนัค นายกฯ อังกฤษเชื้อสายเอเชียคนแรก กับเกมท้าทายทางการเงินที่รออยู่ข้างหน้า
Highlight

นายริชี ซูนัค ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟท่วมท้น หนุนขึ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีต่อจากนางลิซ ทรัสส์ หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 44 วัน ทำให้เขากลายเป็น นายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของสหราชอาณาจักร โดยในการลงแข่งขันเลือกตั้งก่อนหน้านี้ เขาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหราชอาณาจักร พร้อมนำเสนอนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจ


เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายริชี ซูนัค พ่ายแพ้ในการชิงชัยตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟและนายกรัฐมนตรีให้กับนางลิซ ทรัสส์ ทำให้เขาพลาดตำแหน่งสำคัญไป และในคราวนี้ หลังนางทรัสส์ลาออกไปเมื่อ 20 ต.ค. มีผู้สมัครชิงตำแหน่ง 3 คน คือ นายบอริส จอห์นสัน นายซูนัค และ นางเพนนี มอร์เดินท์ ซึ่งตามระเบียบพรรค ผู้สมัครต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อย่างน้อย 100 เสียง

เมื่อคืน 23 ต.ค. นายจอห์นสันบอกว่าเขามีเสียง ส.ส. สนับสนุนเกินร้อย แต่ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันครั้งนี้ ส่วนนางมอร์เดินท์ ยังสู้จนกว่าจะถึงเวลาหมดเขต คือ 14.00 น. ของ 24 ต.ค. ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของผู้บริหารพรรคคนสำคัญที่ขอให้นางมอร์เดินท์ ถอนตัว

จนถึงเวลา 13.20 น นายซูนัคได้คะแนนเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 193 คน ขณะที่ นางมอร์เดินท์ ได้เพียง 26 เสียง และไม่ถึง 5 นาทีก่อนเส้นตาย 14.00 น. นางมอร์เดินท์ ประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน

"ดิฉันภาคภูมิใจในการแข่งขันครั้งนี้ และขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกฝ่ายในพรรค เราล้วนแต่เป็นหนี้ประเทศ ต่อกันและกัน และต่อริชี เราต้องสามัคคีกันเพื่อประโยชน์ของชาติ มีงานมากมายรอให้จัดการอยู่

แพ้ก่อนชนะ

ในการแข่งขันเมื่อช่วงฤดูร้อน นายสุนัคได้รับการสนับสนุนเสียงข้างมากจาก ส.ส.ของพรรค ทว่าเขาล้มเหลวในการจูงใจให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศที่มีกว่า 1.61 แสนคน โหวตเลือกเขา ส่งผลให้นางทรัสส์ คู่ท้าชิง ได้เข้าไปนั่งทำงานที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา

ในช่วงการหาเสียง นายซูนัคให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหราชอาณาจักร พร้อมนำเสนอนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เขากล่าวกับบีบีซีว่า ยินดีพ่ายแพ้ในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ดีกว่า “ชนะด้วยการให้คำมั่นสัญญาจอมปลอม” ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการโจมตีคำประกาศยกเลิกแผนปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลของนางทรัสส์

ต่อมารัฐบาลของนางทรัสส์ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า "งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ" มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะนำเงินจากไหนเพื่อใช้ขับเคลื่อนแผน ทำให้ค่าเงินปอนด์ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวดพราด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง

ผลที่ตามมาคือ นางทรัสส์เลือกที่จะปลด “เพื่อนคู่คิดการเมือง” ที่คบหากันมากกว่า 10 ปีอย่างนายกวาซี กวาร์เทง พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วแต่งตั้งนายเจเรมี ฮันต์ เป็นรัฐมนตรีคนใหม่

ทว่าสถานการณ์ของนายกฯ หญิงเลวร้ายลง เมื่อนายฮันต์ประกาศกลางสภาผู้แทนราษฎรว่าจะยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟให้นางทรัสส์ลาออก

อย่างไรก็ตามนายซูนัคไม่ได้ให้ความเห็นต่อความโกลาหลที่เกิดขึ้น ซ้ำยังประกาศยืนเคียงข้างนายกฯ เพื่อแก้ไข “วิกฤตเศรษฐกิจดิ่งเหว” พร้อมรวมพรรคให้เป็นหนึ่งเดียว

23 ต.ค. นายฮันต์ รัฐมนตรีคลังคนล่าสุดของสหราชอาณาจักร ประกาศสนับสนุนนายสุนัคเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ โดยกล่าวว่าเขาจะเลือก “ตัวเลือกที่จำเป็นสำหรับความรุ่งเรืองในระยะยาวของเรา”

ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาประกาศถอนตัวเมื่อช่วงค่ำของ 23 ต.ค.

คะแนนนิยมพุ่งสูง ก่อนตกลง

ในระหว่างทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลนายจอห์นสัน นายซูนัคต้องบริหารจัดการเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยใช้งบประมาณมหาศาลถึง 350,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 15.5 ล้านล้านบาท) ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้คะแนนนิยมในตัวเขาพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของเขาเริ่มเสียหาย จากการถูกตำรวจปรับฐานละเมิดกฎล็อกดาวน์ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อ มิ.ย. 2020

เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ไม่เห็นด้วยกับพรรคคอนเซอร์เวทีฟบางส่วนตั้งคำถามว่า นักการเมืองมหาเศรษฐีผู้นี้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาค่าครองชีพที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่หรือไม่

ในเดือนเดียวกันนั้น นายซูนัคและครอบครัวต้องเผชิญกับการตรวจสอบทางการเงินอย่างเข้มข้น ทำให้เรื่องภาษีของ อัคชาตา มูรตี ทายาทมหาเศรษฐี ผู้เป็นภรรยาของเขา ถูกเปิดเผย

ในเวลาต่อมา เธอประกาศว่าจะเริ่มจ่ายภาษีให้แก่สหราชอาณาจักรจากรายได้ที่มาจากต่างประเทศเพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อสามี

ด้านพรรคเลเบอร์ได้ตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของนายซูนัค รวมถึงกรณีที่เคยได้รับประโยชน์จากการใช้ประเทศหรือดินแดนที่ไม่มีการเก็บภาษีหรือเก็บภาษีต่ำหรือไม่

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ระบุว่า เขาได้รับประโยชน์ โดยมีรายงานที่อ้างว่า เขาเป็นผู้รับผลประโยชน์จากทรัสต์ที่อยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และหมู่เกาะเคย์แมน ในปี 2020 แต่โฆษกของนายซูนัคระบุว่า พวกเขา "ไม่ยอมรับ" ข้อกล่าวอ้างเหล่านี้

พื้นฐานครอบครัว

นายซูนัคเกิดที่เมืองเซาแธมป์ตัน สหราชอาณาจักร ในปี 1980 โดยพ่อแม่ของเขาซึ่งเป็นคนเชื้อสายอินเดีย อพยพมาจากแอฟริกาตะวันออก

พ่อของเขาเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ส่วนแม่มีร้านขายยาเป็นของตัวเอง เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester College) โรงเรียนเอกชนอายุกว่า 600 ปี และทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเซาแธมป์ตันช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

ในช่วงที่เขาเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาได้พบกับ อัคชาตา มูรตี บุตรสาวของนารายณ์ มูรตี เศรษฐีพันล้านชาวอินเดีย และผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านให้บริการไอที ซึ่งกลายเป็นศรีภรรยาของเขาในเวลาต่อมา โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน

ปี 2001-2004 นายซูนัคเป็นนักวิเคราะห์ในวานิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ และต่อมาได้ตำรงตำแหน่ง หุ้นส่วนในเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง

เมื่อเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่โลกการเมือง จึงมีการคาดการณ์กันว่านายซูนัคน่าจะเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่รวยที่สุด แต่เขาไม่เคยพูดถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างเปิดเผย

ในระหว่างให้สัมภาษณ์บีบีซีเมื่อปี 2019 นายซูนัคเล่าถึงภูมิหลังของตัวเองไว้ว่า "พ่อแม่ของผมอพยพมาที่นี่ คุณมีคนรุ่นที่เกิดที่นี่ พ่อแม่ของพวกเขาไม่ได้เกิดที่นี่ พวกเขามาประเทศนี้เพื่อมาสร้างชีวิต"

นักการเมืองรายนี้นับถือศาสนาฮินดู ไม่ดื่มเหล้า และไปวัดทุกสุดสัปดาห์

เขากล่าวว่า เขาโชคดีที่ไม่ได้เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติมากนักในช่วงที่เติบโต แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาจำได้ไม่เคยลืม

"ผมออกไปข้างนอกกับน้องสาวและน้องชาย ผมน่าจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นกลาง ๆ เราไปที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง และผมก็กำลังดูแลน้อง ๆ อยู่ มีคนที่นั่งอยู่ไม่ไกลพูดคำที่หยาบคายออกมาคือ คำที่ขึ้นต้นด้วยตัวพี (ตัว P มาจากคำว่า Paki ซึ่งในอังกฤษเป็นคำที่ใช้เหยียดคนที่มาจากเอเชียใต้) นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเจอเหตุการณ์เช่นนี้" นายสุนัคกล่าวกับบีบีซีเมื่อปี 2019

อย่างไรก็ตาม จากนี้จะได้เห็นฝีมือผู้นำอังกฤษคนใหม่ที่มีเชื้อสายอินเดีย โดยมีภารกิจยิ่งใหญ่รออยู่ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เงินปอนด์อ่อนค่า ปัญหาพลังงานที่อังกฤษจะผ่านฤดูหนาวนี้ไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ และท่าทีต่อรัสเซียในฐานะสมาชิกนาโตที่อังกฤษอยู่เคียงข้างยูเครนมาตลอดก่อนหน้านี้

ที่มา : BBC

ติดต่อโฆษณา!