5 คำเตือนจาก IMF ระวังเกิดวิกฤตหนี้และเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า

5 คำเตือนจาก IMF ระวังเกิดวิกฤตหนี้และเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า
Highlight

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF บอกว่า 33% ของเศรษฐกิจโลก จะเข้าสู่ภาวะ Recession ภายในปีหน้า ยิ่งไปกว่านั้น 25% ของ Emerging Markets เริ่มผิดนัดชำระหนี้ หรือ ตลาดพันธบัตรเริ่มปิด เป็นสัญญาณว่า วิกฤตหนี้ (Debt Crisis) รอบใหม่ กำลังเริ่มก่อตัว และเตือนธนาคารกลางในการกำหนดนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง และควรเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Fetco) กล่าวถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของ กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศไทย หรือ IMF เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีของ ผู้ว่าแบงก์ชาติและรัฐมนตรีคลังประเทศต่างๆ ที่ DC ว่ามีคำเตือนที่น่าสนใจอยู่ 5 เรื่อง

คำเตือนที่ 1 - เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดตัวอย่างน่ากังวลใจ

โอกาสของ Global Recessions กำลังเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์หน้า IMF จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเป็นครั้งที่ 4 สำหรับปี 2023 ที่สำคัญ 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่การหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสต่อกัน ภายในปีนี้และปีหน้า

ความเสียหายจาก Output Loss หรือเศรษฐกิจที่ควรโตแต่ไม่โต อยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณเท่ากับเศรษฐกิจเยอรมันทั้งประเทศ !!!!

คำเตือนที่ 2 - ประเทศต่างๆ ต้องระวังการ "เดินนโยบายผิดพลาด"

เงินเฟ้อยังดื้อแพ่ง ไม่ยอมลง นโยบายการเงินยังต้องเดินหน้าต่อไป ต้องไม่ใจอ่อน ต้องไม่หยุด ก่อนเวลาอันควร การตัดสินใจต้องเด็ดเดี่ยว แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลง ไม่เช่นนั้น การใจอ่อน จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ในอนาคต

คำเตือนที่ 3 - ประเทศต่างๆ ระวังการออกนโยบายการคลังที่ "ไม่เหมาะสม" 

นโนบายการเงินและการคลังต้องไปด้วยกัน อย่าไปคนละทาง อย่างอังกฤษเสนอ ต้องไม่ควรช่วยเป็นการทั่วไป เพราะถ้าช่วยทุกคน จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ บ่อนทำลายการสู้ศึกเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ สิ่งที่ควรทำ คือ ช่วยเป็นจุดจุด เน้นกลุ่มเปราะบาง เป็นสำคัญเป็นการชั่วคราว

คำเตือนที่ 4 - มรสุม Emerging Markets Debt Crisis กำลังก่อตัว

ดอลลาร์แข็ง ดอกเบี้ยกู้ที่เพิ่ม เงินที่กำลังไหลออกจาก Emerging Markets กำลังทำให้ประเทศเกิดใหม่เริ่มเซ  โอกาสที่เงินจะไหลออกจากกลุ่ม Emerging Markets ในช่วง 3 ข้างหน้า ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40% โดยมากกว่า 25% ของประเทศ Emerging Markets ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือราคาพันธบัตรรัฐบาลตกแรงมาอยู่ระดับ "Distressed Level" ที่จะทำให้กู้ยากต่อไป

และถ้าเจาะลึกลงไปที่ประเทศในกลุ่ม Low-income Countries พบว่า เกินครึ่ง หรือ 60% กำลังมีหรือจะมีปัญหา Debt Distress ที่ราคาพันธบัตรตก ดอกเบี้ยพุ่งสูง มีปัญหาในการกู้ยืมจากตลาด!

คำเตือนที่ 5 - ต้อง Work together 

จะรอดจากปัญหานี้ได้ จะลดความเสียหายให้น้อยได้ ทุกประเทศต้องทำงานร่วมกัน ไม่ไปคนละทิศคนละทางเหมือนช่วงที่สู้ศึกโควิด

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ เป็นคำเตือนก่อนประชุมใหญ่ ให้การบ้านทุกคนทำ ทุกคนคิด ก่อนที่จะมาเจอกันสัปดาห์นี้ (10-16 ตุลาคม) ซึ่งปกติแล้ว IMF ก็จะระมัดระวังเรื่องการพูด พยายามที่จะปลอบตลาดให้สบายใจ ไม่ตกใจ การที่ออกมาเช่นนี้ ชี้ว่า สถานการณ์คงมีปัญหา จนต้องยอมพูด ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์จริงในปีหน้า 2023 คงแย่กว่าที่ท่าน MD ออกมาเตือน !

เพราะปกติแล้ว การประมาณการเศรษฐกิจจะวิ่งตามสิ่งที่เกิดขึ้น โดยช่วงวิกฤต ตัวเลขจะออกมาพลาด สูงกว่าจริงอยู่ระยะหนึ่ง และในส่วนของวิกฤต Emerging Markets นั้น IMF จะเห็นมากที่สุด เพราะเป็นห้องฉุกเฉินที่คอยดูแลประเทศที่เกิดปัญหา แต่คุณหมอก็คงไม่บอกทั้งหมด ที่คุณหมอรู้

การที่ยอมบอกว่า 1/4 ของ Emerging Markets เริ่มมีปัญหา และมากกว่าครึ่งของ Low-income Countries กำลังมีปัญหา เป็นระฆังเตือนภัย ครั้งใหญ่ ที่มีนัยยะต่อไปว่า "วิกฤตได้อยู่ข้างหน้าเรียบร้อย"

ประเทศไทยและเราทุกคนต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้นซึ่งหากเราใช้เวลาที่เหลือ เตรียมให้ดี ก็จะสามารถ "ผ่อนหนักเป็นเบา พอผ่านไปได้"


ติดต่อโฆษณา!