UN คาดว่าวิกฤตอาหารจะเกิดใน 2-3 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะอดอยากถึง 440 ล้านคน ครัวไทยสู่โลกพร้อมไหม..?

UN คาดว่าวิกฤตอาหารจะเกิดใน 2-3 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะอดอยากถึง 440 ล้านคน ครัวไทยสู่โลกพร้อมไหม..?
Highlight 
UN คาดการณ์ว่าจะมีผู้คนที่อดอยากมากกว่า 440 ล้านคนทั่วโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งคาดกันว่าโลกอาจต้องเผชิญกับภัยพิบัติมากกว่า 500 ครั้งต่อปี หรือตกวันละ 1.5 ครั้ง ไปจนถึงปี 2030 ภาวะอาหารขาดแคลนจะเกิดขึ้น ในขณะนี้ 30 ประเทศทั่วโลกจึงระงับการส่งออกอาหารแล้ว การส่งออกอาหารของไทยปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 28% ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจและ การนำเสนออาหารไทยในตลาดโลก ซึ่งเป็น Soft Power ที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย


TAT Review สื่อของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลด้านการขาดแคลนอาหารของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า และโอกาสการส่งออกของไทยในฐานะ “ครัวของโลก” โดยกล่าวถึงรายงานขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้คนที่อดอยากมากกว่า 440 ล้านคนทั่วโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และแม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน จบก็จะใช้เวลาในการกลับมาพลิกฟื้นราว 1-2 ปี

“ไม่มีสงครามใดที่ทำให้คนเสียชีวิตทุกวัน ทุกวินาที ได้มากเท่านี้”  เจ้าหน้าที่จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติกล่าวถ้อยคำนี้

ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อบทสนทนาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดของคนในทุกบทบาทในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่หากมองย้อนกลับไปก็เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนว่าวันหนึ่งโลกเราจะก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศ ‘สุดขั้ว’ ในระดับที่คาดไม่ถึง และนักวิเคราะห์หลายคนก็คาดการณ์ว่าโลกอาจต้องเผชิญกับภัยพิบัติมากกว่า 500 ครั้งต่อปี หรือตกวันละ 1.5 ครั้ง ไปจนถึงปี 2030

แต่เชื่อหรือไม่ว่าทั้งหมดนี้ คือผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศา แล้วถ้าโลกร้อนขึ้นไปแตะ 1.5 องศาจริง ๆ สถานการณ์จะสาหัสมากขึ้นขนาดไหน

Welcome to era of “Climate change”

หนึ่งในปัญหาเบสิกของสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่ส่งสัญญาณชัดเจนที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจคือปัญหาในการเพาะปลูกพืช ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ระบบการผลิตอาหารโลกตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงขั้นรุนแรง เห็นได้จากดัชนีราคาอาหารที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลการศึกษาจาก World Bank ระบุว่าเราจะได้เห็นราคาสินค้าอาหารโลกสูงขึ้นราว 37% ซึ่งแพงที่สุดในรอบ 60 ปี 
 
แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านอาหารซึ่งกลุ่มนี้มีผลต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจโดยตรง ตามมาซึ่งการสูญเสีย GDP และเม็ดเงินที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจโลก 
 
“Global food crisis” ขีดเส้นอนาคตอาหารโลก

นอกจาก COVID-19 จะเป็นตัวแปรต้น ๆ ที่สร้างความกังวลให้กับตลาดอาหารของโลกแล้ว ปฏิบัติการทางการทหารในยูเครนซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่คอยลำเลียงอาหารให้กับยุโรป และล่าสุดสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างมากก็เป็นคลื่นระลอกใหญ่ที่เร่งให้ปัญหาของโลกยิ่งอีรุงตุงนัง 

ข้อมูลจาก The Economist ระบุว่าตัวเลขปริมาณพืชผลทางการเกษตรของยูเครนราว 39 ล้านตัน คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของทั้งตลาดโลกกำลังจะถูกดิสรัปไป โดยธัญพืชต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ในยูเครนนั้นเทียบเท่ากับอาหารที่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกสามารถบริโภคได้ทั้งปี และยิ่งของขาดราคาก็ยิ่งขยับตามกลไกระบบเศรษฐกิจ 

UN จึงคาดการณ์ว่าจะมีผู้คนที่อดอยากมากกว่า 440 ล้านคนทั่วโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และแม้สงครามจบก็จะใช้เวลาให้การกลับมาพลิกฟื้นราว 1-2 ปี 
 
ด้วยเหตุนี้ “Food protectionism” จึงกลายเป็นมาตรการที่ราว 30 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย รัสเซีย ฯลฯ ประกาศใช้เพื่อระงับการส่งออกและเก็บอาหารสำคัญไว้ใช้เองภายในประเทศก่อน 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปลดล็อคให้ปัญหานี้เข้าที่เข้าทางคือการเปิดทางให้ยูเครนกลับมาส่งอาหารเข้าตลาดโลกอีกครั้ง เรื่องนี้ทำให้ International Negotiations พยายามเจรจาต่อรองให้ยูเครนกลับมาส่งออกธัญพืชเข้าระบบอาหารโลก จนสามารถปิดดีลปล่อยธัญพืชจำนวน 20 ล้านตันที่ค้างเติ่งอยู่ในน่านน้ำทะเลดำได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ช่วยลดความตึงเครียดให้กับตลาดโลกได้บางส่วน และส่งผลบวกต่ออาหารประเภทซีเรียลที่ราคาดีดกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนการเกิดวิกฤตแบบทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาธัญพืชสำคัญ ๆ กลับมาสู่สภาวะปกติ แต่หากราคาปุ๋ยยังสูงลิบอยู่แบบนี้ เกษตรกรก็ต้องใส่ปุ๋ยอย่างประหยัด พืชผลทางการเกษตรก็จะลดน้อยลง ท้ายที่สุดลมก็จะพัดหวนให้ราคาอาหารโลกกลับขึ้นไปสูงอีกครั้งตามกลไกตลาด World Bank ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับวิกฤตนี้ โดยออกมาอนุมัติเงินทุนจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อแก้ไขวิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลกในครั้งนี้
 
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าวิกฤตอาหารโลกนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นแบบประเดี๋ยวประด๋าว ตราบใดที่ปัญหาความแห้งแล้งไม่ได้ถูกแก้ไขแบบเป็นจริงเป็นจัง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนออกมาให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะที่ผ่านมาโลกพึ่งพาการผลิตจากแหล่งต่าง ๆ น้อยเกินไป ซึ่งในปัจจุบันมีไม่ถึง 10 ประเทศ แต่กลับเป็นจำนวนผลผลิตกว่า 90% ของการส่งออกอาหารโภคภัณฑ์สำคัญ ๆ ของโลกอย่างข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง
 
“โอกาส” ที่ไทยจะเติมช่องว่างทางการตลาดอาหารโลก 

สำหรับ 3 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารมากกว่า 280,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 28.8% และคาดว่าปีนี้น่าจะมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้ไทยมีโอกาสขยับไปอยู่ใน Top 10 ผู้ส่งออกอาหารโลกซึ่งจะช่วยให้ GDP เติบโตได้ราว 20% ในมุมธุรกิจไทยก็สามารถเยียวยาโลกในยามที่เกิดวิกฤตได้ไม่มากก็น้อย
 
หากจะพูดว่านี่คือยุคการสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวเชิงอาหารก็คงไม่แปลก เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลจากรายงาน Global Culinary Tourism Market 2020-2027 จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลกกำลังเติบโตอย่างสดใสที่เฉลี่ยปีละ 16.6% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 5.4 พันล้านคนต่อปีที่เดินทางแบบ ‘บินไปกิน’ ทำให้คาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารของโลก จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงราว 4.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์ภายในปี 2032

“อาหารไทย” Soft power ของการท่องเที่ยว

อาหารกับการท่องเที่ยวมีแรงดึงดูดซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งมีผลต่อความประทับใจและมีอิทธิพลต่อการแบ่งปันประสบการณ์ในการเดินทาง ข้อมูลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 2565 ชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวสนใจกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมากถึง 87% ที่มองว่าอาหารคือ Soft power สำคัญของไทย เพราะอาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลก
 
ยิ่งไปกว่านั้น อาหารคือแรงจูงใจต้น ๆ ในการเลือกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มักรวบรวมข้อมูลด้านอาหารการกินก่อนออกเดินทาง และยังมีตัวเลขสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสร้างประสบการณ์ในการท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแหล่งท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้ราว 25% ขณะที่ในมุมธุรกิจจะเห็นแนวโน้มการเติบโตของบริษัทนำเที่ยวที่นำอาหารมาเป็นปัจจัยตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ
 
หากเรื่องราวนี้จะสอนอะไรบางอย่างให้แก่เราทุกคน คงจะเป็นบทเรียนเกี่ยวกับเรื่อง ‘Climate resilience’ หรือภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โดยมีงานวิจัยในหลายประเทศที่ยืนยันว่าการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรม ร่วมกับการหาจุดกึ่งกลางในการผลิตอาหารแบบเก่าและใหม่ 

ในเมื่ออดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็หยิบวิกฤตนี้สร้างโอกาสทำให้โลกรู้จักกับความมั่นคงทางอาหารในกรอบของความยั่งยืนเสียใหม่ จึงพอจะทำให้มีความหวังว่าการสร้างหลักประกันให้ทุกคนบนโลกมีโภชนาการที่ดีและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือฝันที่เป็นจริงได้และอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ทุกวันนี้ วิกฤตเรื่องความแห้งแล้งจากโลกร้อนได้เข้ามาเติมเชื้อไฟให้ปัญหานี้เข้าสู่โหมดวิกฤตและสลับซับซ้อนมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขของ UN ที่บ่งชี้ว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้ผู้คนกว่า 276 ล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร”

 
ที่มา:

https://www.youtube.com/watch?v=HHH1Gl0szO8
https://worldfoodtravel.org/what-is-food-tourism/
https://www.mckinsey.com/industries/agriculture/our-insights/a-reflection-on-global-food-security-challenges-amid-the-war-in-ukraine-and-the-early-impact-of-climate-change
https://www.alliedmarketresearch.com/culinary-tourism-market-A06
TAT Review
ติดต่อโฆษณา!