ผู้ส่งออกครวญ เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป ใกล้แตะ 40 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอกเบี้ยขึ้นแค่ 0.25%

ผู้ส่งออกครวญ เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป ใกล้แตะ 40 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอกเบี้ยขึ้นแค่ 0.25%
Highlight

เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ใกล้แตะ 40 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากวันนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% คาดว่าจะทำให้เงินทุนไหลออกต่อเนื่องและเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ผู้ส่งออกกังวลต่อการอ่อนค่าที่เร็วและแรงเกินไป ทำให้การบริหารต้นทุนทำได้ยาก อย่างไรก็ตามแม้ค่าเงินไทยจะอ่อนลงแต่ก็ไม่ได้เปรียบ เนื่องจากค่าเงินประเทศอื่นก็อ่อนลงมากเช่นกัน เช่น จีน และ อินเดีย จะทำให้ดุลย์การค้าไทยจะติดลบเพิ่มขึ้น



การอ่อนค่าของเงินบาทแม้จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่การที่ค่าเงินอ่อนเร็วเกินไปย่อมมีผลต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการ เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิต ซึ่งกระทบต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในวันนี้หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% สู่ระดับ 1% ปรากฏว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าจาก 37.15 บาทต่อดอลลาร์ไปที่ 37.50 ทันที

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าเร็วและแรงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อดุลการค้าของไทยเพราะจะทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออก

"การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สหภาพยุโรป แต่ขอให้รัฐบาลดูแลให้มีเสถียรภาพ เพราะอ่อนค่าเร็วและแรงเกินไปแม้ดีต่อการส่งออก แต่ต้องไม่ลืมว่าค่าเงินของคู่แข่งไทยอ่อนค่าด้วย เช่น อินเดียและจีน"

รวมทั้งการที่เงินอ่อนค่ามากจะมีผลต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการที่นำเข้าพลังงาน น้ำมัน ปุ๋ยและอาหารสัตว์ ที่ต้องนำเข้ามาทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ซึ่งกระทบห่วงโซ่อุปทานได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและการผลิต ส่วนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศอาจต้องขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น และจะเห็นเร็วๆนี้ ซึ่งจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นตามราคาขึ้น

ส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบนั้นต้องคำนวณต้นทุนการผลิตให้ถูกต้องตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และรักษาสภาพคล่องการเงินไว้ รวมทั้งการสต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบไว้ด้วยเช่นกัน และต้องหาทางลดต้นทุนด้านอื่น เช่น การประหยัดพลังงานผ่านโครงการอนุรักษ์พลังงานของรัฐ ซึ่งการตรึงราคาดีเซลยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง และรัฐต้องดูค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบและประชาชน

นายชัยชาญ กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้นยังคงผันผวนสูง จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตามควรใช้โอกาสที่เงินบาทอ่อนค่าเร่งส่งออกให้ได้มากที่สุด และเร่งดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น

"ค่าเงินบาทอ่อน" ทำให้การส่งออกดีแต่เงินเฟ้อรุนแรง แบงก์ชาติต้องดูแล

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนผ่านรายการ "คิดเคลื่อนไทย" ว่า ตอนนี้ไทยขาดดุลบัญชีสะพัดต่อเนื่อง 6 ไตรมาส เวลาขาดมากๆต้องยอมให้ค่าเงินบาทอ่อนเพื่อแก้ไข แต่มีปัญหาว่าถ้าปล่อยให้อ่อนมากๆจะทำให้เงินเฟ้อขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม 

"สินค้าที่ส่งออกขึ้นราคา รวมถึงสินค้าที่เรากินด้วย เวลาค่าเงินบาทอ่อน ภายในประเทศเงินเฟ้อก็ต้องขึ้น ดูเลยอีก 2-3 เดือนเงินเฟ้อไม่ลง เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่ต้องดูแล ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้จะมีแบงก์ชาติไม่ทำไม เพราะรัฐบาลปรับเองไม่ได้"

ดร.ศุภวุฒิ มองว่า ระยะยาว ค่าเงินบาทกับเงินเฟ้อจะต้องไปด้วยกัน เงินบาทจะอ่อนปีละ 2-3% เพื่อให้กำลังซื้อเท่าเทียม ถ้าแบงก์ชาติตั้งเป้า 2% ค่าเงินบาทกับดอลล์ต้องมีเสถียรภาพเท่ากัน แต่สถานการณ์ซับซ้อนมาก หลักๆเวลาเราบอกมีเงินเฟ้อแล้วขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาจะหนักมากขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนไป เงินเฟ้อขึ้น ถ้าดีต่อผู้ส่งออก แต่ไม่มีสินค้าบริโภคในประเทศ แต่เวลามีเงินเฟ้อ สินค้าน้อยจนขาดแคลน มาบอกวันนี้บาทอ่อนไม่เป็นไร อยากบอกว่าเงินเฟ้อจะรุนแรงขึ้น

ติดต่อโฆษณา!