ผลงาน 2 ปี "นโยบายกัญชา" ปลอดภัย มั่นใจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ผลงาน 2 ปี "นโยบายกัญชา" ปลอดภัย มั่นใจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
Highlight
สธ. สุดปลื้ม ผลงาน 2 ปี "นโยบายกัญชา" ผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยปลอดภัย มั่นใจต่อยอดกัญชาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การจะทำให้กัญชา-กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับคนไทยได้อย่างแท้จริงนั้น
จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ
โดยมีสถาบันกัญชาทางการแพทย์เป็น focal point ในการประสานงานร่วมกันในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้


ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 ของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีวาระติดตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) การขับเคลื่อนกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษาสถาบันกัญชาทางการแพทย์ และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้กล่าวถึงผลสรุปการประชุมว่า “การจะทำให้กัญชา-กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับคนไทยได้อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ซึ่งแต่ละส่วนจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงที่รับผิดชอบแผนงาน และมีสถาบันกัญชาทางการแพทย์เป็น focal point ในการประสานงานเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้ โดยเริ่มตั้งแต่การมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นต้นทางสำคัญของธุรกิจกัญชา การลดขั้นตอนการขออนุญาต การยกระดับคุณภาพห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์พืชและผลิตภัณฑ์กัญชา รวมไปถึงการพัฒนาแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กัญชา นอกจากนี้ การพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้ยากัญชา ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยจะมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนไทย อีกทั้ง ยังได้เพิ่มการอำนวยความสะดวกของคลินิกเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบบริการได้มากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงประเด็นการขับเคลื่อนเหล่านี้เป็นระยะ”

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ยังได้ชี้แจงถึงข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกจากการใช้กัญชา ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสาธารณชนและบุคลากรทางการแพทย์ “จากผลการติดตามรายงานอาการไม่พึงประสงค์ของการใช้กัญชา ตั้งแต่มีการดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์มาเป็นเวลา 2 ปี พบว่า อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชามีจำนวนลดลงอย่างมาก กล่าวคือ ในปี 2562 พบอาการไม่พึงประสงค์ 641 ครั้ง ในขณะที่ 2563 ลดลงเหลือเพียง 269 ครั้ง และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ผลข้างเคียงเฉียบพลันจากการใช้กัญชามีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ใช้ทั้งหมด โดยผลข้างเคียงของยากัญชาที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการเวียนศีรษะ มึนงง ซึ่งเมื่อผู้ป่วยใช้ยาไปสักระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ หรือในบางรายอาจแก้ไขด้วยการปรับขนาดยา และอาการปากแห้ง คอแห้ง ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจิบน้ำบ่อย ๆ สำหรับอาการทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล ประสาทหลอน กระวนกระวาย พบจำนวนน้อยมาก และไม่พบผู้ป่วยที่เกิดโรคทางจิตจากการใช้ยากัญชาเลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการที่ดี และทำให้ผู้ป่วยได้รับยากัญชาที่มีคุณภาพภายใต้การดูแลของแพทย์ จะทำให้ผู้ป่วยจะมีความปลอดภัยจากการใช้ยากัญชา ส่วนผู้ที่นำยากัญชาไปใช้ไม่ถูกต้องก็จะมีการวางมาตรการจัดการต่อไป”

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลกัญชาทางการแพทย์เพิ่มเติม สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์กัญชาทางการแพทย์ หรือ https://www.medcannabis.go.th

ติดต่อโฆษณา!